ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Weekly Highlight 29 May 23

31/05/2023

WCIA Weekly บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 พ.ค. – 2 มิ.ย. 2566
สหรัฐบรรลุข้อตกลงปรับเพิ่มเพดานหนี้ และอัปเดทตัวเลข PCE สหรัฐฯ เดือน เม.ย.

EXECUTIVE SUMMARY

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกปิดผสมผสาน โดยดัชนี Nasdaq ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางดัชนี Dow Jones ซึ่งได้ปัจจัยบวกจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Semiconductor และ AI ขณะเดียวกันตลาดหุ้นส่วนใหญ่ได้รับแรงกดดันจากบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า ขณะเดียวกันตลาดก็กังวลว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนหน้า จากตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่สูง
  • Special Headlines: สหรัฐบรรลุข้อตกลงปรับเพิ่มเพดานหนี้ และอัปเดทตัวเลข PCE สหรัฐฯ เดือน เม.ย.
  • มุมมอง: คาดว่าสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปอาจเคลื่อนไหวผันผวน เนื่องจากมี event สำคัญ เช่น การรายงานอัตราการว่างงาน รวมถึงหุ้นบางกลุ่มปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากแล้วและอาจมีปรับ position การลงทุนของนักลงทุนในช่วงกลางปี ขณะเดียวกันเรามองว่าตลาดหุ้นจีนมี downside จำกัดและมีปัจจัยบวกจากธนาคารกลางจีนสนับสนุน sentiment การลงทุนและความหวังที่ทางการจีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจ มองว่าจังหวะนี้เป็นโอกาสเก็บสะสมหุ้นจีน รวมถึงเวียดนามเราเริ่มเห็นโมเม็นตัมที่ดีในช่วงที่ผ่านมา มองว่าเข้าลงทุนได้ ด้านตลาดหุ้นไทยเรามองว่าเริ่มมี downside จำกัด ทะยอยสะสมได้ หากนักลงทุนที่ไม่ชอบความผันผวนมากนัก ให้รอดูความชัดเจนเรื่องการเมืองก่อน

WEEKLY TOTAL ASSET CLASS RETURN

ที่มา: Koyfin.com data as of 28 May 2023, *Annualized returns

SPECIAL HEADLINE: สหรัฐบรรลุข้อตกลงปรับเพิ่มเพดานหนี้

  • ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานสภาผู้แทนราษฎร เควิน แมคคาร์ธี ได้แสดงความมั่นใจว่าข้อตกลงเพดานหนี้ของสหรัฐจะผ่านสภาคองเกรส ซึ่งจะสามารถเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ หากไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้ก่อนวันที่ 5 มิ.ย. ขณะเดียวกันก็กำหนดทิศทางการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางไปจนถึงหลังการเลือกตั้งปี 2567
  • โดยการขยายเพดานหนี้ครั้งนี้จะยุติในวันที่ 1 ม.ค. 2568 ซึ่งหมายความว่า เหตุการณ์เดิมที่ทางรัฐบาลสหรัฐจะขอขยายเพดานหนี้จะกลับมาเกิดอีกครั้งในช่วงกลางปี 2568 ทั้งนี้สินทรัพย์เสี่ยงส่วนใหญ่ตอบรับข่าวดังหหล่าวในเชิงบวก โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 0.7% รวมถึงราคาน้ำมัน WTI และ Bitcoin อย่างไรก็ดีราคาทองคำปรับตัว เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-05-28/biden-mccarthy-signal-confidence-that-debt-limit-deal-will-pass

อัปเดทตัวเลข PCE สหรัฐฯ เดือน เม.ย.

  • สหรัฐเผยดัชนี PCE ในเดือน เม.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.4%YoY จากระดับ 4.2%YoY ในเดือน มี.ค. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟด ให้ความสำคัญปรับตัวขึ้น 4.7%YoY สูงกว่าตลาดคาดที่ระดับ 4.6%YoY และเพิ่มขึ้น 0.4%MoM สูงกว่าตลาดคาดที่ระดับ 0.3%MoM
  • โดยตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า การบริโภคและเศรษฐกิจภาพรวมของสหรัฐยังคงแกร่งแข็งในไตรมาส 2 นี้ สะท้อนจากอุปสงค์ของครัวเรือนและอัตราค่าจ้างแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าเพิ่มขึ้น 0.8%MoM สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. สะท้อนจากยอดขายรถยนต์และยาและเวชภัณฑ์ ขณะที่การใช้จ่ายในฝั่งบริการเพิ่มขึ้น 0.3%MoM เป็นอัตราสูงสุดในรอบ 3 เดือน นำโดยค่าบริการทางการเงิน ประกันและค่าบริการด้านสุขภาพ
  • ด้านบอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังการรายงาน PCE สะท้อนว่า นักลงทุนในตลาดเพิ่มการคาดการณ์ว่าการประชุมเฟดในเดือนหน้าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50%

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-05-26/us-inflation-spending-pick-up-in-sign-of-economic-resilience

WEEKLY RECAP

ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น หนุนโดยหุ้นกลุ่มเทคฯ จากแนวโน้มฟื้นตัว

  • สหรัฐเผย GDP ไตรมาส 1 ขยายตัว 1.3%QoQ ซึ่งเป็นการเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.1%QoQ และสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 1.1% ซึ่งหากตัวเลขที่ประมาณการดังกล่าวเป็นจริง เศรษฐกิจสหรัฐในครึ่งปีแรกจะยังคงสามารถเลี่ยงภาวะถดถอยทางเทคนิคไปได้
  • สหรัฐเผยยอดขายบ้านใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือน เม.ย. โดยยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 4.1%MoM สู่ระดับ 683,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 และสูงที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 665,000 ยูนิต และหากเปรียบเทียบรายปีจะเพิ่มขึ้น 11.8% ด้านราคาเฉลี่ยของบ้านใหม่ในเดือน เม.ย. ลดลง 8.2%MoM
  • สหรัฐเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นยอดของคำสั่งซื้อเครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 1.1% ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 1% จากเพิ่มขึ้น 3.3% ในเดือน มี.ค. ด้านยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและสินค้าด้านอาวุธลดลง 0.6% ในเดือน เม.ย.

ตลาดหุ้นยุโรปปิดในแดนลบ จากเงินดอลลาร์แข็งค่าและเศรษฐกิจชะลอตัว

  • เยอรมนีเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลัง GDP ไตรมาส 1 หดตัว 0.3%QoQ หลังจากหดตัว 0.5% ในไตรมาส 4/2565 เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงเป็นภาระต่อเศรษฐกิจของเยอรมนีในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในการบริโภคของภาคครัวเรือน ทั้งนี้โดยปกติแล้วเศรษฐกิจถดถอยหมายถึง การที่ตัวเลขเศรษฐกิจหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส
  • Ifo เผยความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนีลดลงมากกว่าที่คาดในเดือน พ.ค. โดยปรับตัวลดลงที่ระดับ 91.7 ลดลงจากระดับ 93.4 ในเดือน เม.ย. โดยถือเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรก หลังจากเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะลดลงอย่างหนักในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกอังกฤษในเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 0.5% ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และสูงกว่าระดับของเดือน มี.ค. ที่ลดลง 1.2% ซึ่งได้รับกระทบจากสภาพอากาศฝนตกชุก ส่งผลให้ประชาชนไม่ออกจากบ้านมาซื้อของ อย่างไรก็ดีอังกฤษเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ระดับ 8.7% ในเดือน เม.ย. ซึ่งสูงกว่าระดับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางอังกฤษถึง 4 เท่า

ตลาดหุ้นเอเชียยังถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

  • ตลาดหุ้นเอเชียปิดผสมผสาน โดยตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐ หลังจากช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีข่าวว่าบริษัทชาติตะวันตกและประเทศพันธมิตรจำกัดการทำธุรกิจกับบริษัทเทคฯ ของจีน รวมทั้งในช่วงสัปดาห์ตลาดกังวลเกี่ยวกับการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐที่ยังไม่คืบหน้า
  • นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนจะปรับลด RRR สำหรับธนาคารรายใหญ่ลง 0.25% ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีการปรับลด RRR ในไตรมาส 4 ซึ่งจะส่งผลให้ RRR ถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 10.50% จากระดับ 10.75% สืบเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอ่อนแอลงอย่างมาก โดยยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ต่ำกว่ามราตลาดคาดในเดือน เม.ย. ขณะที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงใกล้ระดับ 0%
  • วิกฤตสภาพคล่องเวียดนามเริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีความเสี่ยงจากภาคอสังหาฯ โดยสถานการณ์ด้านเงินทุนภายในระบบธนาคารพาณิชย์เริ่มคลี่คลายลง หลังธนาคารกลางเวียดนามได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและสนับสนุนเศรษฐกิจเวียดนามที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออก และให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ฟื้นตัว จากแนวโน้มอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดที่ 72.61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยได้แรงหนุนจากความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันในช่วงวันหยุดยาวของสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา และสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่า อุปสงค์น้ำมันจะสูงกว่าอุปทานราว 2 ล้านบาร์เรล/วันในครึ่งปีหลัง รวมทั้งรายงานของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ว่า สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 6.398 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 บ่งชี้ถึงอุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มขึ้น
  • ราคาทองคำปรับตัวลงที่ $1,946.76 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาแข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำ
  • ค่าเงินบาทยังคงทยอยอ่อนค่าปิดตลาดที่ 34.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคและสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่ง

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview, data as of 28 May 2023

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

ที่มา: AspenRTD, data as of 28 May 2023

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับการจัดพอร์ตการลงทุนในแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-22-may-23/

https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/

Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันของเอกสารฉบับนี้ รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

     ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการขาดทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น

      เอกสารการลงทุนฉบับนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการแนะนำการลงทุน และอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในบริษัท (internal use only) เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ทั่วไป กรณีที่มีการนำเอกสารนี้ไปเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไป และไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้เอกสารฉบับนี้ บริษัทมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางด้านกฎหมายได้ทันที

You cannot copy content of this page