ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Weekly Highlight 22 May 23

22/05/2023

WCIA Weekly Highlight บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 22-26 พฤษภาคม 2566
อัปเดทการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ ยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน เม.ย. และอัปเดทตัวเลขเศรษฐกิจจีน

EXECUTIVE SUMMARY

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกปิดในแดนบวก โดยนักลงทุนมองว่าอัตราดอกเบี้ยเฟดอาจถึงจุดสูงสุดแล้ว และมีความหวังว่าเฟดจะมีการกลับลำนโยบายผ่อนคลายในช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ดีตลาดยังคงจับตาดูการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ และยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนหลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาผิดหวัง ซึ่งยังคงเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นขณะนี้
  • Special Headlines: อัปเดทการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ ยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน เม.ย. และอัปเดทตัวเลขเศรษฐกิจจีน
  • มุมมอง: คาดว่าสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐและยุโรปยังคงได้รับปัจจัยกดดันในเรื่องการเจรจาการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐและการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ขณะเดียวกันเรามองว่าตลาดหุ้นจีนมี downside จำกัดแล้วและมีปัจจัยบวกจากธนาคารกลางจีนสนับสนุน sentiment การลงทุนและความหวังที่ทางการจีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจ มองว่าจังหวะนี้เป็นโอกาสเก็บสะสมหุ้นจีน รวมถึงเวียดนามเราเริ่มเห็นโมเม็นตัมที่ดีในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มองว่าเข้าลงทุนได้ ด้านตลาดหุ้นไทยเรามองว่าเริ่มมี downside จำกัด ทะยอยสะสมได้ หากนักลงทุนที่ไม่ชอบความผันผวนมากนัก ให้รอดูความชัดเจนเรื่องการเมืองก่อน
  • กลยุทธ์การลงทุนสัปดาห์นี้:คงสัดส่วนตามพอร์ตการลงทุนตามที่แนะนำประจำเดือนพฤษภาคม

Weekly Total Asset Class Return

ที่มา: Koyfin.com data as of 21 May 2023, *Annualized returns

SPECIAL HEADLINE: อัปเดทการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ

  • สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดการเงินให้ความสนใจกับการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดนกับประธานสภาเควิน แมคคาร์ธี ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมายังไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาทั้ง 2 รอบ หากทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ปัจจัยดังกล่าวจะกดดันต่อตลาดการเงินทั่วโลกในช่วงนี้ และหากเกิดการผิดนัดหรือเลื่อนการชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเงินทั่วโลกสูงขึ้นและจะซ้ำเติมที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น อย่างไรก็ดีมีกำหนดการการเจรจาเรื่องดังกล่าวรอบใหม่ในวันจันทร์ที่ 22 พ.ค. นี้
  • โดยข้อตกลงครั้งนี้ ทางรัฐบาลสหรัฐต้องการขยายเพดานหนี้ในวงเงิน 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และทางสภาคองเกรสต้องการให้รัฐบาลสหรัฐตัดงบประมาณการใช้จ่ายลง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีทีท่าของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะยอมรับในเงื่อนไขดังกล่าว ด้านนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐออกมาระบุว่า สหรัฐยังมีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ไปจนถึงช่วงกลางเดือน มิ.ย. นี้ จากที่ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. และหากมองย้อนไปในอดีตช่วงที่มีการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ ตลาดหุ้นจะผันผวน เงินดอลลาร์จะแข็งค่าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-05-21/yellen-says-odds-us-can-pay-all-its-bills-by-june-15-quite-low

https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-05-21/us-debt-deal-is-still-elusive-with-traders-bracing-for-volatility

ยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน เม.ย.

  • ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4%MoM ในเดือน เม.ย. แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ หลังจากหดตัว 0.7%MoM ในเดือน มี.ค. ท่ามกลางเศรษฐกิจภาพรวมที่อึมครึม จากเงินเฟ้อและต้นทุนทางการเงินทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจที่สูง อย่างไรก็ดีภาวะการจ้างงานที่ยังคงสูงและการเติบโตของรายได้ครัวเรือนที่ต่อเนื่อง ยังคงหนุนให้คนสามารถจับจ่ายใช้สอยได้อย่างไม่สะดุด
  • ด้านยอดค้าปลีกที่ไม่รวมยอดขายรถยนต์และพลังงานจากหน้าร้านค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6%MoM โดยตัวเลขที่รายงานออกมา บ่งชี้ว่าการใช้จ่ายครัวเรือนย้ายจากการซื้อสินค้าไปสู่ภาคบริการอย่างเห็นได้ชัด จากยอดการใช้บริการในร้านอาหารและบาร์ อีกทั้งบ่งชี้ว่ายอดการใช้บัตรเครดิตมีการเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการบริโภคในอนาคตที่ตึงตัว กอปรกับงบไตรมาส 1 ของ Home Depot บริษัทขายของตกแต่งบ้านรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐออกมาน่าผิดหวังและบริษัทลดการคาดการณ์รายได้ปีนี้ลง ซึ่งอาจส่งสัญญาณว่าการบริโภคในสหรัฐมีโอกาสจะดุดในไม่กี่เดือนข้างหน้า

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-05-16/us-retail-sales-increase-in-sign-of-steady-consumer-spending

อัปเดทตัวเลขเศรษฐกิจจีน

  • เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณฟื้นตัวอ่อนแอและขยายตัวไม่ทั่วถึง หลังทางการจีนเผยตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีกและยอดการลงทุนสินค้าคงทนขยายตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ มีรายละเอียดดังนี้:
    – ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.6%YoY ต่ำกว่าตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10.9%YoY
    – ยอดค้าปลีกขยายตัวเดือน เม.ย. 18.4%YoY ต่ำกว่าคาดว่าขยายตัว 21.9%YoY
    – อัตราการขยายตัวของการลงทุนในสินค้าคงทนในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ระดับ 4.7% ต่ำกว่าคาดที่ระดับ 5.7%
    – อัตราการว่างงานในเมืองใหญ่ลดลง 5.2% ในเดือน เม.ย. จากระดับ 5.3% ในเดือน มี.ค.
  • ด้านภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนยังคงซบเซาและเปราะบาง ถึงแม้ว่าจะเห็นการฟื้นตัวจากยอดขายบ้านทิ่มขึ้น ท่ามกลางเงินเฟ้อในประเทศที่ต่ำ แต่ภาคครัวเรือนยังคงลังเลที่จะกู้ซื้อบ้าน ขณะเดียวกันตลาดคาดหวังว่า ทางการจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทั้งนี้ตลาดหุ้นจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับปัจจัยกดดันจากการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมาทรงตัว และอ่อนแอเชิงเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-05-16/china-s-economic-data-misses-forecasts-as-recovery-worries-mount

WEEKLY RECAP

ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดดอกเบี้ยเฟดถึงจุดสูงสุดแล้ว

  • นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้กล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า เข้าใจถึงผลกระทบจากเงินเฟ้อในระดับสูง ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนทางสังคมและขอให้คำมั่นว่าเฟดจะไม่ลดละในการทำให้เงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุม ด้านนางลอรี โลแกน ประธานเฟดดัลลัสหนุนขึ้นดอกเบี้ยเดือน มิ.ย. โดยระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่ได้บ่งชี้ว่า เฟดสามารถชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างยั่งยืนและยังคงต้องใช้เวลาอีกนานที่เงินเฟ้อจะแตะเป้าหมายที่ 2% ด้านนักลงทุนให้น้ำหนัก 36.7% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% จากให้น้ำหนัก 10.7% ก่อนหน้านี้
  • Conference Board เผยดัชนี LEI ส่งสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย โดยดัชนีดังกล่าวลดลง 0.6% ในเดือน เม.ย. บ่งชี้แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ขณะที่ดัชนีต่างๆ ปรับตัวอย่างอ่อนแอ และส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเริ่มตั้งแต่กลางปี 2566 เช่น คำสั่งซื้อใหม่ของภาคการผลิต ความเชื่อมั่นผู้บริโภค เป็นต้น
  • สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่าคาด โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 22,000 ราย สู่ระดับ 242,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 254,000 ราย ขณะเดียวกันจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานคงค้างลดลง 8,000 ราย สู่ระดับ 1.8 ล้านราย

ตลาดหุ้นยุโรปปิดในแดนบวก จากรายงานตัวเศรษฐกิจยูโรโซนหนุนตลาด

  • นายยานนิส สตูร์นาราส สมาชิกคณะมนตรีบริหารของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และผู้ว่าการธนาคารกลางกรีซเผยว่า ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่า ECB จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหรือสองครั้ง ซึ่งทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับการคาดการณ์เงินเฟ้อและการคาดการณ์สภาวะทางการเงินของยูโรโซน อย่างไรก็ดี ECB เริ่มเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำลังเร่งตรวจสอบสภาพคล่องสำรองของธนาคารต่างๆ และอาจเพิ่มข้อกำหนดที่เข้มงวดมากขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ยุโรป ซึ่งสร้างความกังวลต่อตลาดการเงิน
  • เศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาส 1/66 ขยายตัวเล็กน้อย สอดคล้องกับที่ตลาดคาด โดย GDP ขยายตัว 1.3%YoY และ 0.1%MoM หลังยูโรโซนรอดพ้นจากวิกฤตพลังงานมาได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เกิดความกังวลว่า วิกฤตพลังงานจะเป็นชนวนให้เศรษฐกิจยูโรโซนถดถอย อีกทั้งคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ระบุว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวลงสู่ระดับ -10.7 จุดในเดือน พ.ค. จากระดับ 4.1 จุดในเดือน เม.ย. แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ -5.3 จุด บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีกจะหดตัวลงกว่าปัจจุบันในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และการปรับลดลงคราวนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565 ที่ตัวเลขดัชนีติดลบ ส่งสัญญาณเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งปัจจัยบางส่วนที่ทำให้ดัชนีติดลบมาจากความคาดหวังว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก

ตลาดหุ้นเอเชียยังถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีน

  • ตลาดหุ้นเอเชียปิดผสมผสาน เนื่องจากตลาดกังวลการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐที่จะช่วยป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ได้ และกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงผิดหวังกับงบไตรมาส 1 ที่ต่ำกว่าคาดของ Alibaba ด้านดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 33 ปี โดยหุ้นกลุ่มส่งออกปรับตัวขึ้นจากการที่เงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์
  • ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงปิดสัปดาห์ที่ 1,514.89 จุด ได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การเมืองในประเทศเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ขณะเดียวกันเริ่มมีการออกมาปรับลดคาดการณ์ EPS ปีนี้ลงเหลือต่ำ 100 บาท จากเดิมราว 105-106 บาท ทำให้ Valuation ตลาดแพงขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมตลาดดูไม่สดใส สะท้อนภาพเงินทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง
  • ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของญี่ปุ่น (core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาในหมวดอาหารสด และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวขึ้นเป็นวงกว้าง ซึ่งทำให้ตลาดการเงินไม่มั่นใจในมุมมองของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ว่า เงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ของ BOJ ภายในปีนี้

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ฟื้นตัว จากแนวโน้มอุปทานตึงตัว

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ฟื้นตัวหลังจากราคาหลุด 70 ดอลลาร์มาปิดที่ 71.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยช่วงกลางสัปดาห์ตลาดคลายกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้และภาวะเศรษฐกิจถดถอย อีกทั้งได้แรงหนุนจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่า อปุสงค์น้ำมันจะสูงกว่าอุปทานราว 2 ล้านบาร์เรล/วันในครึ่งปีหลัง รวมถึงเหตุการณ์ไฟป่าที่ลุกลามเป็นวงกว้าง ส่งผลให้แคนนาดามีการระงับการผลิตน้ำมันไปแล้วอย่างน้อย 300,000 บาร์เรล/วัน
  • ราคาทองคำปรับตัวลงที่ $1,977.80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และความว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่งและมีเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนยังคงมีมุมมองหนุนเฟดใช้นโยบายเข้มงวดต่อไป
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าปิดตลาดที่ 34.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์และเคลื่อนไหวตามค่าเงินภูมิภาคที่ปรับตัวอ่อนค่าตามเงินหยวน เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของจีนจะชะลอตัว อีกทั้งดอลลาร์แข็งค่าจากตลาดเพิ่มน้ำหนักที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ ขณะเดียวตลาดการเงินรอดูปัจจัยในประเทศเรื่องความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview, data as of 21 May 2023

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

ที่มา : AspenRTD, data as of 21 May 2023

กลยุทธ์การลงทุนในสัปดาห์นี้

คงสัดส่วนการลงทุนตามคำแนะนำการลงทุนประจำเดือน (Monthly Insight May 2023)

ตัวอย่างพอร์ต Aggressive สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับการจัดพอร์ตการลงทุนในแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-15-may-23/

https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/

Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันของเอกสารฉบับนี้ รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

     ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการขาดทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น

      เอกสารการลงทุนฉบับนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการแนะนำการลงทุน และอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในบริษัท (internal use only) เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ทั่วไป กรณีที่มีการนำเอกสารนี้ไปเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไป และไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้เอกสารฉบับนี้ บริษัทมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางด้านกฎหมายได้ทันที

You cannot copy content of this page