ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Weekly Highlight 20 November 2023

21/11/2023

บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 20 – 24 พฤศจิกายน 2566
อัปเดทเงินเฟ้อสหรัฐในเดือน ต.ค. PBOC คงดอกเบี้ยตามตลาดคาด อัปเดทตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือน ต.ค. และอัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ

Executive Summary

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยตลาดหุ้น Nasdaq ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3% ทำสถิติปรับตัวขึ้นในวันเดียวที่มากที่สุดในรอบ 6 เดือน หลังสหรัฐเผยข้อมูลเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งทำให้นักลงทุนเชื่อว่าเฟดจะยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงหุ้นบริษัทเทคโนโลยีในกลุ่ม Magnificent 7 ที่ปรับตัวขึ้นหนุนตลาดหุ้นภาพรวม ขานรับการคาดการณ์เรื่องดอกเบี้ยเฟด ด้านกลยุทธ์การลงทุนของเรายังคงแนะนำให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยง โดยการลงทุนทั้งในหุ้น ตราสารหนี้ รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ ท่ามกลางความผันผวนที่ยังมีอยู่ไปจนถึงสิ้นปี จากปัจจัยกดดันต่างๆ อย่างไรก็ตามเรามองว่าเป็นโอกาสเข้าสะสมหุ้นสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาวในช่วงที่ตลาดย่อตัวลง
  • Special Headlines:
    อัปเดทเงินเฟ้อสหรัฐในเดือน ต.ค.
    PBOC คงดอกเบี้ยตามตลาดคาด
    อัปเดทตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือน ต.ค.
  • มุมมอง:เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ย higher for longer โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม health care และ technology เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan อย่าง จีนและเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน ด้านตลาดหุ้นไทยมองว่ามี downside risk ที่ค่อนข้างจำกัด นักลงทุนสามารถทยอยสะสมลงทุนได้ เรามองว่าเศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตได้ในระดับดีหลังจากนี้ จากปัจจัยหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจะมีพัฒนาการเชิงบวก

Weekly Total Asset Return

ที่มา: Koyfin.com data as of 19 Nov 2023, *Annualized returns

อัปเดทเงินเฟ้อสหรัฐในเดือน ต.ค.

  • สหรัฐรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2%YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาด 3.3%YoY และหากเทียบเป็นรายเดือนตัวเลขดังกล่าวไม่มีการเปลี่ยนแปลง ด้านดัชนี Core CPI ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 4.0%YoY จากที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.1%YoY
  • หากดูรายละเอียดเงินเฟ้อสหรัฐในเดือน ต.ค. พบว่า ราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วน 30% ของดัชนี CPI โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3%MoM ชะลอตัวลงจากเดือน ก.ย. และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ส่งผลต่อทิศทางเงินเฟ้อพื้นฐานให้ลงมาอยู่ในระดับเป้าหมายของเฟด ด้านราคาฝั่งภาคบริการปรับตัวขึ้น 0.2%MoM และ 3.7%YoY เป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี นอกจากนี้อัตราการเติบโตของค่าจ้างแรงงานเมื่อหักกับเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สร้างควมพอใจให้กับปธน. โจ ไบแดน ซึ่งที่ผ่านมาถูกกดดันประเด็นเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้เสียคะแนนสนับสนุนในการเลือกตั้งปีหน้า
  • ทั้งนี้หลังจากที่มีการเผยดัชนีดังกล่าว ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าเฟดจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลง และคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน พ.ค. 2024

ที่มา: Bloomberg

PBOC คงดอกเบี้ยตามตลาดคาด

  • ธนาคารกลางจีนประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อายุ 5 ปี ซึ่งเป็นดอกเบี้ยอ้างอิงในการปล่อยกู้สินเชื่อจำนองที่ระดับ 4.2% และเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อายุ 1 ปีอยู่ที่ระดับ 3.45% ขณะเดียวกันตลาดมองว่า ขณะนี้ธนาคารกลางจีนมีข้อจำกัดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากความกังวลว่าอาจทำให้เงินทุนไหลออก และส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าไปกว่าเดิม รวมถึงอัตรากำไรจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่แคบในปัจจุบัน ซึ่งกระทบต่อรายได้ของธนาคารพาณิชย์
  • อย่างไรก็ดีธนาคารกลางจีนหันไปใช้มาตรการสนับสนุนและขยายการปล่อยสินเชื่อ ในอุตสาหกรรมที่เฉพาะเจาะจง รัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวิกฤตในขณะนี้ รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงินและการปรับลดอัตราเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ เพื่อหนุนอุปสงค์ในประเทศและฟื้นความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ  ทั้งนี้อัตราการเติบโตสินเชื่อในจีนเร่งตัวในช่วงไตรมาส 1 หลังยกเลิกมาตรการคุมเข้มโควิด-19 และเปิดประเทศ แต่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 2 จนถึงปัจจุบัน

ที่มา: Bloomberg

อัปเดทตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือน ต.ค.

  • รัฐบาลจีนเผย ยอดค้าปลีกในเดือน ต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.6%YoY ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ สืบเนื่องมาจากในเดือน ต.ค. มีเทศกาลวันหยุดยาว (Golden Week) หนุนให้ประชาชนท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวออกมาค่อนข้างทำให้ตลาดผิดหวัง และการบริโภคของจีน ยังมีปัจจัยกดดันจากอัตราการว่างงานในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคของประชาชน ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.6% ตัวเลขแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมของจีนยังไม่ฟื้นตัว และยอดการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และยอดขายบ้านปรับตัวลดลงกว่าเดือนที่ผ่านมา
  • ทั้งนี้ตลาดมองว่าภาคอสังหาฯ จีนที่เป็นวิกฤตในปัจจุบัน ต้องใช้เวลานานในการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงในการฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ

ที่มา: Bloomberg

Weekly Recap

US

  • เฟดเผยแบบจำลองบ่งชี้ว่า จีดีพีสหรัฐจะขยายตัว 2.2%YoY ในไตรมาส 4/66 ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ได้ออกรายงานแบบจำลอง GDPNow ในวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 2.2% 2.1% และ 4.9% ในไตรมาส 1 2 และ 3 ของปี 2023 ตามลำดับ
  • สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาด โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 13,000 ราย สู่ระดับ 231,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน สูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 220,000 ราย ด้านจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานคงค้างเพิ่มขึ้น 32,000 ราย สู่ระดับ 1.87 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค.
  • บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 4.5% ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีอยู่ที่ระดับ 4.8% หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก
  • มูดี้ส์ปรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือสหรัฐ สู่ระดับเชิงลบ จากมีเสถียรภาพ โดยคาดว่า การขาดดุลการคลังของสหรัฐจะอยู่ในระดับสูง และทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงอย่างมาก รวมถึงเรื่องของธรรมาภิบาลของรัฐบาลสหรัฐ และวิธีที่สภาคองเกรสและสภานิติบัญญัติจะใช้ในการจัดการด้านการคลัง แต่ยังคงตรึงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐระยะยาวไว้ที่ระดับ Aaa

Europe

  • เยอรมนีเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย. แย่กว่าที่ตลาดคาด โดยยอดผลผลิตปรับตัวลดลง 1.4%MoM ขณะที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 0.1%MoM เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อยอดการผลิต ทั้งนี้สำนักงานสถิติเยอรมนี ระบุว่า หากเทียบรายไตรมาสแล้ว ตัวเลขผลการผลิตในไตรมาส 3/23 ต่ำกว่าไตรมาส 2/23 ที่ 2.1%
  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ +9.8 ในเดือน พ.ย. จากระดับ -1.1 ในเดือน ต.ค. สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ +5.0 โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวเป็นบวกครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน เม.ย. ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังจากที่ราคาพลังงานปรับตัวลดลง
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI)ของอังกฤษปรับลดลงอย่างมากในเดือน ต.ค. สู่ระดับ 4.6%YoYจากระดับ 6.7%YoY ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี และทรงตัวเมื่อเทียบรายเดือน จากปัจจัยค่าเช่าที่อยู่อาศัย อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวลดลง
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เผยว่า อัตราการว่างงานทั่วประเทศในไตรมาส 3/23 อยู่ที่ 4.2% ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงไตรมาส 2/23 ด้านค่าแรงขั้นพื้นฐานโดยเฉลี่ย ไม่รวมโบนัสของอังกฤษในไตรมาส 3/23 เพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ตามข้อมูลจาก FXStreet

Asia

  • จีนผ่อนปรนกฎลงทุนหุ้นและอนุพันธ์แก่ชาวต่างชาติ โดยทางการได้แก้ไขกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการกองทุนของนักลงทุนสถาบันต่างชาติที่ซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาฟิวเจอร์สในจีน มีการผ่อนปรนข้อกำหนดสำหรับการจดทะเบียนกองทุนและการแปลงสกุลเงินเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางการลงทุนของต่างชาติที่ลดลง จากความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจของจีน และหลายปัจจัยเสี่ยงในประเทศ
  • ญี่ปุ่นเผยรายงานยอดส่งออกเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 1.6%YoY ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.2%YoY และเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 2 ทั้งนี้ยอดส่งออกไปยังจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุดลดลง 4%YoY ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 11 ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐเพิ่มขึ้น 8.4%YoY และยอดส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 8.9%YoY ส่วนยอดนำเข้าเดือน ต.ค. ลดลง 12.5%YoY และมียอดขาดดุลการค้าที่ระดับ 6.625 แสนล้านเยน
  • กระทรวงสถิติของอินเดียเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อินเดียชะลอตัวลงสู่ระดับ 4.87%YoY ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 5.02%YoY ในเดือน ก.ย. สอดคล้องกับตลาดคาดที่ระดับ 4.80%YoY และเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางอินเดียที่ระดับ 4.0% สาเหตุที่เงินเฟ้อปรับตัวลงมาจากการชะลอตัวของราคาอาหาร

Commodities

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลงที่ระดับ 73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและทำระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลก หลังมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐและจีน ซึ่งกลบปัจจัยบวกที่กลุ่ม OPEC ปรับเพิ่มการคาดการณ์ของตัวเลขอุปสงค์น้ำมันในปีนี้เล็กน้อย
  • ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดที่ 1,937.85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์และการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐทำระดับต่ำกว่า 4.5% รวมทั้งการคาดการณ์ว่า เฟดจะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าปิดบริเวณ 35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนไหวตามทิศทางตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากปัจจัยเงินเฟ้อสหรัฐเดือน ต.ค. ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งตลาดคาดว่าเฟดยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะปรับลดอัราดอกเบี้ยเร็วขึ้นในปีหน้า

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview.com as of 20 November 2023

อัปเดทกองทุนพักเงิน

ที่มา: AspenRTD, data as of 19 November 2023

หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

โดยรายละเอียดกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-13-november-2023/
https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/

You cannot copy content of this page