ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Weekly Highlight 19 June 2023

20/06/2023

WCIA Weekly บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19- 23 มิถุนายน 2566 เฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.0-5.25% ดัชนี CPI สหรัฐเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 4.0%YoY และ PBOC ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะ 1 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

EXECUTIVE SUMMARY

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัวตามที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.0-5.25% รวมถึงตลาดหุ้นได้ปัจจัยหนุนจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า
  • SpecialHeadlines: เฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.0-5.25% ดัชนี CPI สหรัฐเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 4.0%YoY
    PBOC ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะ 1 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • มุมมอง: เรามีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม Defensive สหรัฐในระยะกลาง ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากช่วงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังจากนี้ และเรามองว่าหุ้น Asia ex. Japan อย่าง ตลาดหุ้นจีน ไต้หวัน อาเซียน
    รวมถึงเวียดนามมี Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับ DM โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่ราคาสะท้อนปัจจัยลบไป
    มากแล้ว และคาดว่าทางการจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรฐกิจในประเทศเร่งด่วนในครึ่งปีหลังนี้

WEEKLY TOTAL ASSET CLASS RETURN

ที่มา: Koyfin.com data as of 18 June 2023, *Annualized returns

SPECIAL HEADLINE: เฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.0-5.25%
และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง

  • ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินเดือน มิ.ย. ที่ระดับ 5.0-5.25% นับเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 15 เดือนตั้งแต่เฟดเริ่มใช้นโยบายการเงินเข้มงวด อย่างไรก็ดีเฟดได้ส่งสัญญาณว่ามีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในอนาคต เนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ในจุดที่ยังไม่น่าไว้ใจ
  • ขณะที่การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เผยว่า อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 5.6% จากการคาดการณ์ในเดือน มี.ค. ที่ระดับ 5.1% บ่งชี้ว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% รวมถึงเฟดลดคาดการณ์อัตราการว่างงานสหรัฐ ณ สิ้นปีจะอยู่ที่ระดับ 4.1% จาก 4.5% และเพิ่มการคาดการณ์ GDP สหรัฐปีนี้จะขยายที่ 1% จากที่คาดการณ์ก่อนหน้าที่ระดับ 0.4%

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-06-14/fed-pauses-rate-hikes-but-signals-more-tightening-to-come?srnd=economics-v2

ดัชนี CPI สหรัฐเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 4.0%YoY

  • โดยดัชนี CPI ทั่วไปเมื่อเทียบรายปีทำระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่ core CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4%MoM สอดคล้องกับที่คาดการณ์ ด้าน CPI ภาพรวมปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.1%MoM สาเหตุจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลง หากดูรายละเอียดการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ยังคงได้แรงหนุนจากค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% ราคารถยนต์มือสองและค่าประกันรถยนต์ ขณะที่ค่าตั๋วเครื่องบินและราคาเฟอร์นิเจอร์ปรับตัวลดลง
  • ทั้งนี้ราคาสินค้าและบริการปัจจุบันยังคงอยู่ระดับสูงจากปีที่ผ่านมา ขณะที่เงินในกระเป๋าของครัวเรือนลดลงต่อเนื่องและถูกบั่นทอนจากเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดีอัตราค่าจ้างแรงงานรายชั่วโมงที่แท้จริงเดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3%MoM
    เป็นอัตราสูงสุดในปีนี้และเพิ่มขึ้น 0.2%YoY ซึ่งอาจหนุนให้เงินเฟ้อสหรัฐยังคงตึงตัว

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-06-13/us-inflation-slows-giving-room-for-fed-to-pause-rate-hikes?srnd=economics-inflation-and-prices

PBOC ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะ 1 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะ 1 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะกลางลง 0.1% สู่ระดับ 2.65% หลังจากที่ PBOC ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงเมื่ออาทิตย์ก่อนหน้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มสภาพคล่องต่อตลาดสินเชื่อ รวมถึงหนุนการบริโภคผ่านการสนับสนุนธุรกิจยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและธุรกิจด้านอาหาร
  • ในช่วงที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจจีนประกาศออกมาน่าผิดหวังจากที่ตลาดคาดการณ์ ไม่ว่าจะเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซา การลงทุนของธุรกิจที่ชะลอตัวและอัตราการว่างงานในวัยหนุ่มสาวที่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 20.8% ซึ่งทำระดับสูงสุดตั้งแต่เก็บข้อมูลในปี 2561 อย่างไรก็ดีทางการจีนยังคงตั้งเป้าการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ที่ระดับ 5% ถึงแม้ตลาดมองว่าการใช้ยากระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้อาจจะไม่ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวเร็วและแรง เหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-06-15/china-central-bank-ramps-up-policy-action-with-1-year-rate-cut?srnd=economics-v2

WEEKLY RECAP

US

  • สหรัฐเผยดัชนี PPI ทั่วไปเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 1.1%YoY ต่ำกว่าคาดการณ์ และทำระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 63 โดยดัชนี PPI ทั่วไปซึ่งนับรวมราคาหมวดอาหารและพลังงานมาคำนวณและใช้เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ด้านดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานเดือน พ.ค. ปรับตัวขึ้น 2.8%YoY และต่ำกว่าตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.9%YoY
  • เฟดฟิลาเดลเฟียเผยดัชนีภาคการผลิตสูงกว่าคาดในเดือน มิ.ย. โดยปรับตัวลงสู่ระดับ -13.7 ในเดือน มิ.ย. แต่สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ -14.8 จากระดับ -10.4 ในเดือน พ.ค. โดยถูกกดดันจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลง ถึงแม้ว่าการจ้างงานปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 0 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว โดยหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10
  • สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาด โดยอยู่ที่ระดับ 262,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าและเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 64 ด้านตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 235,000 ราย ทั้งนี้นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในปีนี้ แม้ว่า Dot Plot เดือน มิ.ย. บ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง
  • ยอดค้าปลีกสหรัฐในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 0.3% สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าลดลง 0.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน เม.ย. โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น
    ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 0.2 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน เม.ย.

EUPORE

  • ECB ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 3.5% ตามคาด นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเป็นครั้งที่ 8 ติดต่อกันและทำระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับ 4.25% ส่วนอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อยู่ที่ระดับ 4.00% นอกจากนี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
  • เศรษฐกิจอังกฤษขยายตัว 0.2%MoM ในเดือน เม.ย. ตามคาด โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคบริการ ภาคการค้าปลีก และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ขณะที่ภาคการผลิตและการก่อสร้างหดตัวลง โดยภาคการผลิตหดตัวลง 0.3% และภาคการก่อสร้างหดตัวลง 0.6% ทั้งนี้ตลาดยัคงคาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีนี้
  • เยอรมนีเผยดัชนี CPI ในเดือน พ.ค. ชะลอตัวสู่ 6.1% ทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 จากระดับ 7.2% ในเดือน เม.ย. สาเหตุจากการปรับตัวลงของราคาพลังงานและอาหาร ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -8.5 ในเดือน มิ.ย. สูงกว่าตลาดคาดที่ระดับ -13.1 จากระดับ -10.7 ในเดือน พ.ค.

ASIA

  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุมวันนี้ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve control program) รวมทั้งคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ราวระดับ 0% พร้อมแสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อว่า “เราคาดว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้นและตลาดแรงงานอยู่ในภาวะตึงตัว แต่ก็มีความไม่แน่นอนมากขึ้นเกี่ยวกับการเจรจาค่าแรงในปีหน้า และมีความไม่แน่นอนว่าการขยายตัวของค่าแรงจะยั่งยืนหรือไม่
  • การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนลดลง 7.2%YoY ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. แย่กว่าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ที่ปรับตัวลง 6.2% ซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ขณะที่ยอดค้าปลีกซึ่งเป็นมาตรวัดการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 12.7%YoY ในเดือน พ.ค. ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือน เม.ย. ที่เพิ่มขึ้น 18.4% และต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 13.6%

COMMODITIES & FX

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดที่ 71.51 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหลังจากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกระบุว่า ปริมาณการกลั่นน้ำมันในจีนเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 15.4%YoY และคาดการณ์ว่าแนวโน้มอุปสงค์ในจีนจะเพิ่มขึ้น จากการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์
  • ราคาทองคำปรับตัวลงที่ $1,956.18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวลงในรอบสัปดาห์ หลังจากทำแตะระดับต่ำสุดของวันนับตั้งแต่เดือน พ.ค. ขณะที่ตลาดยังกังวลกับความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดที่บ่งชี้ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ อีกทั้งนักลงทุนลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินฟ้อ
  • ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าปิดตลาดที่ 34.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มีปัจจัยสำคัญมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ รวมถึงตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview, data as of 18 June 2023

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

ที่มา: AspenRTD, data as of 18 June 2023

หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับการจัดพอร์ตการลงทุนในแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-12-june-23/

https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/

Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันของเอกสารฉบับนี้ รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

     ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการขาดทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น

      เอกสารการลงทุนฉบับนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการแนะนำการลงทุน และอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในบริษัท (internal use only) เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ทั่วไป กรณีที่มีการนำเอกสารนี้ไปเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไป และไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้เอกสารฉบับนี้ บริษัทมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางด้านกฎหมายได้ทันที

You cannot copy content of this page