บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 18 – 22 กันยายน 2566
อัปเดทเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน ส.ค. ECB ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด แบงก์ชาติจีนลด RRR กระตุ้นเศรษฐกิจและอื่นๆ
Executive Summary
- ตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวผสมผสาน ถึงแม้สหรัฐเผยข้อมูลค้าปลีกเดือน ส.ค. และตัวเลขการจ้างงานออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาด ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย และยังคงคาดการณ์ว่าเฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามหุ้นกลุ่มเทคฯ สหรัฐมีการพักตัวในสัปดาห์ที่ผ่านมา กดดันตลาดหุ้นโดยรวม
- Special Headlines:
อัปเดทเงินเฟ้อสหรัฐเดือน ส.ค.
อัปเดทยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน ส.ค.
ECB ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด
ผลสำรวจชี้นักลงทุนกังวลภาคอสังหาฯ จีนมากที่สุด
แบงก์ชาติจีนลด RRR กระตุ้นเศรษฐกิจ
ราคาน้ำมันตลาดโลกส่งสัญญาณ Bullish - มุมมอง: เรามีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้น Quality Growth และ Defensive สหรัฐในระยะกลาง ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับที่สูง และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia incl. Japan ที่กระจายการลงทุนทั้งใน EM เอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ไทย และตลาดหุ้นเวียดนาม จาก Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับอดีตและเทียบกับตลาดหุ้นฝั่ง DM ขณะที่ตลาดหุ้นจีนทะยอยเข้าซื้อสะสมได้และติดตามสถานการณ์ของทางการจีนในการรับมือต่อภาคอสังหาฯ ที่เป็นประเด็นในขณะนี้ รวมถึงรอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทยอยออกมาหลังจากนี้ ขณะเดียวกันตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับมามีความน่าสนใจจาก positive structural change และแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่ง
Weekly Total Asset Return
ที่มา: Koyfin.com data as of 17 Sep 2023, *Annualized returns
Special Headline: อัปเดทเงินเฟ้อสหรัฐเดือน ส.ค.
- ดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐเดือน ส.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงกว่าที่ตลาดคาดการณ์เล็กน้อย โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.3%YoY และ 0.3%MoM ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่นับรวมหมวดราคาอาหารและพลังงาน) มากกว่าเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งเป็นตัวชี้นำต่อภาพเงินเฟ้อได้ดีกว่า ด้านเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.7%YoY และ 0.3%MoM ตามลำดับ ปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาค่าตั๋วเครื่องบินปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านค่าเช่าที่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2022 ถูกกดดันจากราคาที่พักโรงแรมชะลอตัว ซึ่งยืนยันว่าแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานยังชะลอตัวอยู่ ขณะที่ราคารถยนต์มือสอง ค่าบัตรคอนเสิร์ตและตั๋วหนังปรับตัวลง
- ด้านเฟดมีมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจตอนนี้มากขึ้น โดยการใช้นโยบายเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ผ่านมาไม่ได้บั่นทอนการจ้างงานและกระทบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างที่ตลาดคาดการณ์ ด้านตลาดคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. นี้ อย่างไรก็ตามราคาพลังงานและค่าครองชีพที่กลับมาเพิ่มขึ้น ยังคงเปิดโอกาสให้เฟดคงนโยบายการเงินเข้มงวดต่อไปและอาจยาวนานขึ้น จนกว่าจะเห็นเงินเฟ้อปรับตัวลงสู่กรอบเป้าหมายบริเวณ 2%
อัปเดทยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน ส.ค.
- ยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.6%MoM มากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1%MoM ได้ปัจจัยหลักมาจากยอดขายน้ำมันค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้น และหากไม่นับรวมยอดการซื้อน้ำมัน ยอดค้าปลีกสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2%MoM ซึ่งเป็นภาพที่น่าพอใจของตลาด อย่างไรก็ดีผลที่ออกมาสะท้อนว่าการบริโภคของครัวเรือนสหรัฐยังแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ ถึงแม้ว่าราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา รวมถึงตลาดจ้างงานที่ผ่อนคลายลงและอัตราค่าจ้างงานแรงงานที่ชะลอตัวลง ซึ่งเปิดช่องให้เฟดยังคงใช้นโยบายเข้มงวดจนกว่าจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ
- นอกจากนี้ข้อมูลยังบ่งชี้ว่า ครัวเรือนสหรัฐมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น และตลาดยังจับตาดูปัจจัยเรื่องหนี้การศึกษาที่จะหมดเวลาผ่อนผันและกลับมาเป็นภาระของครัวเรือน ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคของสหรัฐในระยะถัดไป
ECB ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด
- ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 10 ในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ก.ย. ที่อัตรา 0.25% สู่ระดับ 4.0% พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยอาจถึงจุดสูงสุดของวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้ จากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงเป็นที่น่าพอใจของ ECB อย่างไรก็ตามนางคริสตีน ลาการ์ดไม่ได้กล่าวถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด โดยการตัดสินใจครั้งนี้ทาง ECB ยังคงให้ความสำคัญต่อการสร้างเสถียรภาพทางราคา (price stability) โดยควบคุมเงินเฟ้อให้ลงสู่กรอบเป้าหมาย ถึงแม้ว่าอาจซ้ำเติมเศรษฐกิจของยุโรโซนชะงักมากยิ่งขึ้น
- โดยหลังจากนี้ตลาดหันไปให้ความสนใจกับการที่ ECB จะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันไปอีกนานแค่ไหน ทั้งนี้ได้มีการเผยการคาดการณ์ล่าสุด โดยการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในปีนี้ที่ระดับ 0.7%YoY จากระดับ 0.9%YoY และขยายตัว 1.0% จากระดับ 1.5% ในปีหน้า ด้านเงินเฟ้อสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5.6% จาก 5.4% และ 3.2% จากระดับ 3.0% ในปีหน้า
ผลสำรวจชี้นักลงทุนกังวลภาคอสังหาฯ จีนมากที่สุด
- ผลสำรวจ BofA global survey of fund managers ในเดือน ก.ย. เผยว่า นักลงทุนกังวลต่อภาวะภาคอสังหาฯ จีนมากที่สุดในขณะนี้ ซึ่งคิดเป็น 33% จาก 15% ในเดือนที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมาทางรัฐบาลจีนจะออกมาตรการพยุงภาคอสังหาริมทรัพย์แล้วก็ตาม โดยนักลงทุนมองว่าบริษัทอสังหาฯ จีนเผชิญกับความยากลำบากในการเจรจาเพื่อยืดเวลาชำระหนี้ ขณะเดียวกันยอดขายบ้านในเมืองใหญ่ของจีนก็ชะลอตัวลดลง ทั้งนี้ 60% ของผลสำรวจ มองว่ามาตรการของจีนที่คาดว่าจะทยอยออกมาจะไม่มากและแรงพอที่จะฟื้นวิกฤตภาคอสังหาฯ ได้ ขณะที่ 16% คาดว่าจีนจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ออกมาใน 6 เดือนหลังจากนี้
- ทั้งนี้ผลสำรวจยังชี้ว่า นักลงทุนได้คลายความกังวลในภาคอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ของสหรัฐและยุโรปที่ซบเซา ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่น่ากังวลของตลาดมากที่สุดในช่วงเดือน ส.ค. ตามมาด้วยความกังวลจากปัจจัยต่างๆ เช่น นโยบายเข้มงวดของธนาคารกลางต่างๆ เพื่อกดเงินเฟ้อ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะสินเชื่อที่ตึงตัว เศรษฐกิจโลถดถอยและฟองสบู่ในอุตสาหกรรม AI เป็นต้น
แบงก์ชาติจีนลด RRR กระตุ้นเศรษฐกิจ
- ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดสัดส่วนกันเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ โดยปรับลด RRR ในอัตรา 0.25% สู่ระดับ 7.4% เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารมีความสามารถในการปล่อยเงินกู้มากขึ้น และเสริมสภาพคล่องให้กับระบบธนาคาร ซึ่งจะช่วยหนุนเศรษฐกิจจีนให้กลับมาฟื้นตัว รวมถึงช่วยส่งเสริมการใช้นโยบายการคลังผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อลงทุนในโครงการต่างๆ โดย Goldman Sachs ประเมินว่าการลด RRR ดังกล่าวจะเพิ่มสภาพคล่องในระบบได้มากกว่า 69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังคาดว่า PBOC จะลด RRR อีก 0.25% และลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ เพิ่มเติมในไตรมาส 4 นี้
- นอกจากนี้นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่ารัฐบาลจีนจะใช้ยาแรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า ขณะที่ยังคงตั้งเป้าการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้ที่ระดับ 5% ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน อย่าง วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างประชากร และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น
ราคาน้ำมันตลาดโลกส่งสัญญาณ Bullish
- ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาและได้ส่งสัญญาณ Bullish ทางเทคนิคหลังจากที่เส้นค่าเฉลี่ยราคา 50 วัน ได้ตัดกับเส้นค่าเฉลี่ยราคา 200 วันขึ้น ด้านปัจจัยพื้นฐานยังหนุนราคาน้ำมันเป็นขาขึ้นในระยะสั้นถึงกลาง โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่าแนวโน้มอุปทานน้ำมันจะตึงตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากที่กลุ่ม OPEC ขยายการลดกำลังการผลิตน้ำมันไปจนถึงสิ้นปี โดยเฉพาะในไตรมาส 4 นี้ที่ประเมินไว้ว่า supply น้ำมันของกลุ่ม OPEC จะปรับตัวลงมากที่สุดในรอบทศวรรษ นอกจากนี้ยังได้ปัจจัยหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบในคลังสำรองของสหรัฐลดลงทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปีนี้ รวมถึงอุปสงค์น้ำมันในจีนที่ยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเผชิญกับภาวะซบเซาในขณะนี้
ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-09-12/latest-oil-market-news-and-analysis-for-september-13
https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-09-12/stock-market-today-dow-s-p-live-updates?srnd=markets-vp
Weekly Recap
US
- ม.มิชิแกนเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐต่ำกว่าคาดในเดือน ก.ย. โดยดัชนีปรับตัวลงสู่ระดับ 67.7 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ระดับ 69.1 จากระดับ 69.5 ในเดือน ส.ค. นอกจากนี้ผู้บริโภคลดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่เพิ่มความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคต
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 3,000 ราย สู่ระดับ 220,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ระดับ 225,000 ราย ขณะเดียวกันจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานคงค้างเพิ่มขึ้น 4,000 ราย สู่ระดับ 1.69 ล้านราย
- บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวขึ้นทะลุ 5% คาดเฟดยังไม่ปิดฉากการขึ้นดอกเบี้ย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งเป็นตัวสะท้อนต่อนโยบายการเงินของเฟดปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 5% จากความกังวลว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเฟดคาดการณ์ว่า GDP สหรัฐจะขยายตัว 5.6% ในไตรมาส 3 ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังแข็งแกร่งพอที่เฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยอีกได้
- JP Morgan ชี้เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถูกกระทบจากสงคราม-นโยบายธนาคารกลาง แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐตอนนี้อยู่ในภาวะที่ดีและมีการบริโภคที่แข็งแกร่ง แต่เชื่อว่าภาวะเช่นนี้จะอยู่ต่อไปได้แค่สักพัก ซึ่งปัจจัยที่น่ากังวลคือ ธนาคารกลางต่างๆ พยายามควบคุมสภาพคล่องผ่านนโยบายการเงินเชิงปริมาณ สงครามในยูเครนและการที่รัฐบาลทั่วโลกใช้จ่ายเงินจำนวนมาก
Europe
- EC หั่นคาดการณ์การขยายตัวของยูโรโซน โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ประกาศปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ระดับ 0.8% ในปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 1.1% และขยายตัว 1.3% ในปีหน้า จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 1.6% รวมถึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (EU) จะขยายตัว 0.8% ในปีนี้
- สำนักงานสถิติสหภาพยุโรป (Eurostat) เผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนเดือน ก.ค. ลดลง 1.1%MoM และลดลง 2.2%YoY แย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 0.7%MoM และลดลง 0.3%YoY เป็นผลมาจากการผลิตสินค้าประเภททุนและสินค้าอุปโภคบริโภคคงทนที่ลดลง รวมถึงการลดลงของสินค้าพลังงานและสินค้าขั้นกลางเมื่อเทียบรายปี
- อัตราว่างงานอังกฤษเดือน พ.ค. – ก.ค. สูงเกินคาด บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานอังกฤษชะลอตัวลงในช่วงเวลา 3 เดือนจนถึงเดือน ก.ค. โดยอัตราว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% จากระดับ 4.2% ในช่วงเดือน เม.ย. – มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี อย่างไรก็ดีอัตราค่าจ้างแรงงานยังคงขยายตัว ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า
- ปูตินเผยรัสเซียจะผลิตก๊าซ LNG เพิ่มสามเท่าภายในปี 2030 โดยผู้นำรัสเซียกล่าวในการประชุมเศรษฐกิจตะวันออก ณ เมืองวลาดิวอสต็อก ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาภูมิภาคทางตอนเหนือและอำนาจอธิปไตยทางยุทธศาสตร์ และรัสเซียจะหันไปส่งออกพลังงานกับพันธมิตรฝั่งตะวันออกมากขึ้น
Asia
- จีนเผยการผลิตอุตสาหกรรม-ยอดค้าปลีกเดือน ส.ค. โตเกินคาด โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 4.5%YoY ดีกว่าคาดที่ระดับ 3.9%YoY บ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนในช่วงที่ผ่านมา ช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ ด้านยอดค้าปลีกเดือน ส.ค. โต 4.6%YoY ดีกว่าที่คาดว่าจะโต 3%YoY
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานดัชนีราคาบ้านเดือน ส.ค. ของจีนลดลง 0.3%MoM หลังจากที่ลดลง 0.2%MoM ในเดือน ก.ค. ถือเป็นการร่วงลงแรงที่สุดในรอบ 10 เดือน ซึ่งตอกย้ำถึงความรุนแรงของวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ถึงแม้รัฐบาลจีนได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกู้ยืมบางข้อและผ่อนคลายมาตรการจำกัดการซื้อบ้านในบางเมืองเพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่น แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลแค่ในระยะสั้น
- ครม.ไฟเขียวขยายเวลาเก็บ VAT 7% ต่ออีก 1 ปี โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นควรขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% สำหรับการขายสินค้าและบริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 66 ถึงวันที่ 30 กันยายน 67 เพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ
- HSBC เตือนราคาข้าวเพิ่มขึ้นสูง อาจทำเอเชียเผชิญวิกฤตราคาอาหารเหมือนในปี 2551 ขณะนี้ราคาส่งออกข้าวจากประเทศไทย ซึ่งเป็นราคามาตรฐานโลกนั้น พุ่งขึ้นแตะระดับกว่า 600 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเกือบ 50%YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฝนที่ตกไม่ตรงตามฤดูกาลและภาวะแห้งแล้งในหลายพื้นที่ของโลกกำลังสร้างความเสียหายต่อพืชผล อีกทั้งทำให้อุปทานลดลงและส่งผลให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้น
Commodities
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดที่ 90.98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในปีนี้ ขานรับแนวโน้มอุปทานน้ำมันจะตึงตัวจากข่าวรัสเซียและซาอุดิอาระเบียประกาศขยายเวลาปรับลดอุปทานน้ำมัน 3 แสนและ 1 ล้านบาร์เรล/วัน ตามลำดับจนถึงสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกันอุปสงค์น้ำมันจากจีนไม่ได้ชะลอตัวลงแรงอย่างที่คาด แม้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจีนจะอ่อนแอ
- ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นที่ $1,923.71 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อสัญญาทองคำ รวมถึงตลาดคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือน ก.ย. นี้
- ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าปิดที่ 35.69 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยระหว่างสัปดาห์ได้ทำนิวไฮในรอบ 9 เดือน เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่มาหนุนและคาดว่าจะแบงก์ชาติมีโอกาสที่จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันที่ 2.25% ขณะที่เฟดยังมีโอกาสที่จะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ ด้านรัฐบาลไทยคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้โต 2.7-3.7% และเตรียมประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายให้กับประชาชน
ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มา: Tradingview.com as of 18 September 2023
จัดอันดับกองทุนพักเงิน
ที่มา: AspenRTD, data as of 17 September 2023
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล
โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th
Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน
อ่านบทความย้อนหลังได้ที่
https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-11-september-2023/
https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/