ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Weekly Highlight 17 July 2023

18/07/2023

บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฎาคม 2566 ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือน มิ.ย. ต่ำกว่าคาด หนุนเฟดใกล้ยุติขึ้นดอกเบี้ย GDP จีนไตรมาส 2/66 ออกมาต่ำกว่าที่คาด และพิธา แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลไม่ผ่านโหวตนายกฯ ไทยรอบแรก

Executive Summary

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. ชะลอตัวลงกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งอาจหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ใกล้ที่จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และความหวังว่ารัฐบาลจีนจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • Special Headlines:
    ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือน มิ.ย. ต่ำกว่าคาด หนุนเฟดใกล้ยุติขึ้นดอกเบี้ย
    GDP จีนไตรมาส 2/66 ออกมาต่ำกว่าที่คาด
    พิธา แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลไม่ผ่านโหวตนายกฯ ไทยรอบแรก
  • มุมมอง: เรามีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม Defensive สหรัฐในระยะกลาง ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากช่วงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังจากนี้และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan อย่าง ตลาดหุ้นจีนและเวียดนามมี Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับอดีตและเทียบกับตลาดหุ้นฝั่ง DM โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่ราคาสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว และคาดว่าทางการจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรฐกิจในประเทศเร่งด่วนในครึ่งปีหลังนี้

Weekly Total Asset Class Return

ที่มา: Koyfin.com data as of 16 July 2023, *Annualized returns

Special Headline: ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือน มิ.ย. ต่ำกว่าคาด หนุนเฟดใกล้ยุติขึ้นดอกเบี้ย

  • สำนักงานสถิติแรงงานแห่งชาติสหรัฐ เผย ดัชนีการใช้จ่ายของผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) เดือน มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.0%YoY จากระดับ 4.0%YoY ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี และต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.1%YoY ด้านดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 4.8%YoY ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 5.0%YoY โดยตัวแปรหลักๆ ที่รายงานของเดือน มิ.ย. ได้แก่   
    – ราคาค่าตั๋วเครื่องบินที่ปรับตัวลดลง 8.1%YoY
    – ราคาค่าที่พักโรงแรมลดลง 2%YoY
    – ราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันหน้าร้านค้าปลีกและค่าไฟที่ปรับเพิ่มขึ้น
    – ราคารถมือ 2 ปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ขณะที่ค่าประกันภัยรถยนต์ยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
    – ค่าเช่าที่พักอาศัย ซึ่งมีสัดส่วน 70% ของดัชนีในการคำนวณเงินเฟ้อภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบรายเดือน
  • ทั้งนี้ตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวถือว่าออกมาเป็นที่น่าพอใจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และเป็นสิ่งยืนยันว่าเงินเฟ้อสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ดีตลาดยังคงคาดว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนนี้ สู่ระดับ 5.25%-5.50% เนื่องจากเงินเฟ้อปัจจุบันยังอยู่เหนือระดับกรอบเป้าหมายที่ 2%

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-07-12/us-inflation-cools-to-3-and-core-cpi-rises-less-than-forecast

GDP จีนไตรมาส 2/66 ออกมาต่ำกว่าที่คาด

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/66 ขยายตัว 6.3%YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 7.1%YoY อย่างไรก็ดี GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวดีกว่าไตรมาส 1/66 ที่ขยายตัว 4.5%YoY โดยรายงานตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือน มิ.ย. ออกมาผสมผสาน
    – การเติบโตของยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย. ชะลอตัวลง 3.1% จาก 12.7% ในเดือน พ.ค. ต่ำกว่าคาดที่ 3.3%
    – ผลผลิตโรงงานเดือน มิ.ย. ขยายตัวที่ 4.4% จาก 3.5% ในเดือน พ.ค. และดีกว่าคาดว่าจะขยายตัว 2.5%
    – ด้านการลงทุนสินทรัพย์ถาวร 6 เดือนแรกของปีปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.8%YoY ดีกว่าที่ตลาดคาด
    – อัตราการว่างงานในเมืองใหญ่ของจีนอยู่ที่ระดับ 5.2% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า
  • ด้านรัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายให้ GDP ปีนี้ขยายตัวที่ระดับ 5% อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจจีนยังคงมีความท้าทายหลายด้าน ได้แก่ แนวโน้มที่จะเผชิญภาวะเงินฟืด การส่งออกที่ชะลอตัวและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้านตลาดคาดหวังว่ารัฐบาลและธนาคารกลางจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ลดอัตราดอกเบี้นนโยบายและผ่อนปลนกฎเกณฑ์ในภาคอสังหาฯ มากขึ้น เป็นต้น

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-07-17/china-s-economic-recovery-loses-steam-as-gdp-disappoints

พิธา แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลไม่ผ่านโหวตนายกฯ ไทยรอบแรก

  • วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ในการประชุมได้มีการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อลงมติเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ทั้งนี้ มีการอภิปรายต่อเนื่องยาว 6 ชั่วโมง ซึ่งประเด็นหลักที่มีการอภิปรายคือ เรื่องการแก้ไข ม.112 ของทางพรรคก้าวไกลและคุณสมบัติของนายพิธา การลงมติครั้งนี้ต้องได้คะแนนเสียง 375 เสียงขึ้นไป นายพิธา จึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา 749 คน เนื่องจากมี ส.ว. 1 คนลาออก
  • ทั้งนี้ผลการลงมติปรากฏว่า นายพิธา ได้รับเสียงเห็นด้วยไม่ถึง 375 เสียง ทำให้ไม่ผ่านการโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งแรก โดยนายพิธา ได้เสียงเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และมีการงดออกเสียง 199 เสียง อย่างไรก็ดีจะมีการเสนอชื่อ นายพิธา อีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/politic/2709301

Weekly Recap

US

  • เฟดเผยแบบจำลอง GDPNow บ่งชี้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.3% ในไตรมาส 2/66 หลังจากที่เศรษฐิจสหรัฐขยายตัว 2.0% ในไตรมาส 1/66 ด้านเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างหนักในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มิ.ย. ออกมาต่ำกว่าคาด โดยดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลปรับตัวลงสู่ระดับ 99.85
  • นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า ยังไม่พร้อมที่จะสรุปว่าเงินเฟ้อของสหรัฐเป็นขาลงชัดเจนแล้ว และเขาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ โดยตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงแข็งแกร่งมาก โดยรวมแล้วเศรษฐกิจก็ยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งทำให้เฟดมีโอกาสที่จะดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไป
  • สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่าคาด โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 12,000 ราย สู่ระดับ 237,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 250,000 ราย ขณะที่จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานคงค้างลดลงสู่ระดับ 1.73 ล้านราย
  • สหประชาชาติ (UN) เปิดเผยรายงานระบุว่า หนี้สาธารณะทั่วโลกพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 92 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2565 เนื่องจากบรรดารัฐบาลได้ทำการกู้ยืมเงินเพื่อรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาต้องแบกรับภาระหนี้อย่างมาก ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา 59 ประเทศมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่า 60% ซึ่งบ่งชี้ถึงภาระหนี้ที่ระดับสูง เป็นผลจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำกัด ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น การลดค่าเงิน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

Europe

  • ZEW เผยดัชนีความเชื่อมั่นเยอรมนีในเดือน ก.ค. ลดลงมากกว่าที่คาด โดยดัชนีปรับตัวลดลงสู่ -14.7 ในเดือน ก.ค. จาก -8.5 ในเดือน มิ.ย. ขณะที่ตลาดคาดว่าจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ -10.5 ด้านนายอาคิม วามบัก ประธานศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) คาดการณ์ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเยอรมนีจะทรุดตัวทำจุดต่ำสุดภายในสิ้นปีนี้
  • สำนักสถิติเยอรมนีเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีเพิ่มขึ้น 6.8%YoY ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงลดลงในปีที่แล้วและการลดค่าโดยสารรถไฟลงชั่วคราว ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเยอรมนี ซึ่งไม่รวมสินค้าที่มีความผันผวน เช่น อาหารและพลังงานเพิ่มขึ้นที่ระดับ 5.8%YoY จากระดับ 5.4%YoY ในเดือน พ.ค.
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) รายงานว่า เศรษฐกิจเดือน พ.ค. หดตัว 0.1%MoM จากที่ขยายตัว 0.2%MoM ในเดือน เม.ย. และต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 0.3% ในเดือน เม.ย.อย่างไรก็ดีแม้จะมีผลกระทบจากการประท้วงและวันหยุดพิเศษเนื่องในวันราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แต่อังกฤษมีแนวโน้มที่จะสามารถเลี่ยงการเกิดภาวะเศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ได้
  • สมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (BRC) เปิดเผยผลการสำรวจว่า ผู้บริโภคอังกฤษซื้อสินค้าร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้น 4.9%YoY ในเดือน มิ.ย. ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในปีนี้ และแข็งแกร่งกว่าเดือน พ.ค. ที่เพิ่มขึ้น 3.9%YoY ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติในเดือน มิ.ย. และการใช้จ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้น 9.8%YoY อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชาวอังกฤษลดการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่มีราคาแพง เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเงินเฟ้อและภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

Asia

  • จีนเรียกร้องให้สหรัฐยกเลิกคว่ำบาตรบริษัทจีน หลังเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีนกับนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเสร็จสิ้นการประชุม ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐได้คว่ำบาตรบริษัทบางแห่ง จากกรณีการบังคับใช้แรงงานในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ อย่างไรก็ดีจีนได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานและการกดขี่คุกคามทุกกรณี
  • สำนักงานศุลกากรจีน (GAC) เผยว่า ยอดส่งออกเดือน มิ.ย. ปรับตัวลง 12.4%YoY ซึ่งแย่กว่าในเดือน พ.ค. ที่ปรับตัวลง 7.5%YoY และแย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 9.5%YoY โดยการส่งออกของจีนได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของอุปสงค์ทั่วโลก ทำให้ตลาดยิ่งกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่มีแรงกดดันต่อการขยายตัว ด้านยอดนำเข้าเดือน มิ.ย. หดตัว 6.8%YoY แย่กว่าในเดือน พ.ค. ที่หดตัว 4.5%YoY และแย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 4%YoY
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ในการประชุมเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นการตรึงดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 และสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจเกาหลีใต้กำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัว ในขณะที่เงินเฟ้อมีการขยายตัวในระดับปานกลาง โดยดัชนี CPI อยู่ที่ระดับ 2.7% แม้ว่ายังสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อระยะกลางของ BOK ที่ระดับ 2%
  • กระทรวงสถิติของอินเดียเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.81%YoY ในเดือน มิ.ย. จากระดับ 4.25%YoY ในเดือน พ.ค. สูงกว่าตลาดคาดที่ระดับ 4.6%YoY แต่ยังคงอยู่ในกรอบ 2-6% ของธนาคารกลางอินเดีย

Commodities

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดที่ 75.19 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้ sentiment บวก หลังสหรัฐเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์และการอ่อนค่าของดอลลาร์ รวมถึงปริมาณน้ำมันในตลาดที่ตึงตัว หลังจากซาอุฯ และรัสเซียขยายเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมัน
  • ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ $1,955.35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แรงหนุนจากการที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อชะลอตัวลง รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวลดลง
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าปิดตลาดที่ 34.64 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่เงินดอลลาร์อ่อนค่ารับการคาดการณ์ว่าเฟดใกล้จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดีค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันจากปัจจัยทางการเมืองในประเทศที่ตลาดยังรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview.com as of 17 July 2023

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

ที่มา: AspenRTD, data as of 16 July 2023

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight/
https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/

Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันของเอกสารฉบับนี้ รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

     ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการขาดทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น

      เอกสารการลงทุนฉบับนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการแนะนำการลงทุน และอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในบริษัท (internal use only) เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ทั่วไป กรณีที่มีการนำเอกสารนี้ไปเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไป และไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้เอกสารฉบับนี้ บริษัทมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางด้านกฎหมายได้ทันที

You cannot copy content of this page