บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 10 – 14 กรกฎาคม 2566 ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐออกมาต่ำกว่าที่คาด ซาอุฯ ขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันและกระทรวงพาณิชย์ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อไทยปีนี้ลง
Executive Summary
- ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลง จากรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด ซึ่งมองว่าตลาดกำลังปรับตัวกับข้อมูลเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณว่าจะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่นักลงทุนรอดูงบการเงินไตรมาส 2/66 ของบริษัทจดทะเบียนที่จะเริ่มรายงาน รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐในสัปดาห์นี้ ด้านตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลง โดยหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ปรับตัวลดลงนำตลาด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ
- Special Headlines: ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐออกมาต่ำกว่าที่คาด
ซาอุฯ ขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมัน
กระทรวงพาณิชย์ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อไทยปีนี้ลง - มุมมอง:เรามีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม Defensive สหรัฐในระยะกลาง ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากช่วงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังจากนี้ และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan อย่าง ตลาดหุ้นจีนและเวียดนามมี Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับอดีตและเทียบกับตลาดหุ้นฝั่ง DM โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่ราคาสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว และคาดว่าทางการจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรฐกิจในประเทศเร่งด่วนในครึ่งปีหลังนี้
Weekly Total Asset Class Return
ที่มา: Koyfin.com data as of 9 July 2023, *Annualized returns
Special Headline: ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐออกมาต่ำกว่าที่คาด
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเผยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 209,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 225,000 ตำแหน่ง และเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า ตลาดการจ้างงานสหรัฐค่อยๆ ผ่อนคลายลง จากผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยเฟดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการใช้จ่ายภาคเอกชนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว จากความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยใน 8-12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ตัวเลขการยื่นขอสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น 12,000 รายเป็น 248,000 ราย ถึงแม้จะแย่กว่าที่ตลาดคาด แต่ตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าตัวเลขการยื่นขอสวัสดิการการว่างงานในเดือน มิ.ย. ที่แตะระดับ 265,000 ราย
- ด้านอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% จาก 3.7% สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นทะลุ 4% และตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลง ขานรับรายงานดังกล่าว โดยตลาดยังมองว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ที่ระดับ 0.25% สู่ระดับ 5.25%-5.50%
ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-07-07/us-adds-below-forecast-209-000-jobs-as-labor-market-cools
ซาอุฯ ขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันไปอีก 1 เดือน
- ซาอุดิอาระเบียประกาศขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล/วันออกไปอีก 1 เดือนจนถึงสิ้นเดือน ส.ค. เพื่อรักษาระดับอุปทานน้ำมันให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงและเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาน้ำมัน ทั้งนี้ซาอุดิอาระเบียจะผลิตน้ำมันที่ระดับ 9 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบหลายปี โดยการตัดสินใจใช้มาตรการดังกล่าวก็เพื่อต้องการให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าซาอุฯ จะต้องสูญเสียวอลุ่มของยอดขายที่ลดลง
- นอกจากนี้รองนายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ โนวัคของรัสเซียได้ประกาศลดการส่งออกน้ำมันลง 500,000 บาร์เรล/วันในเดือน ส.ค. และทางรัสเซียมีแผนที่จะลดกำลังการผลิตในปริมาณดังกล่าวลงอีกด้วย ทั้งนี้ยอดรวมของการลดกำลังการผลิตน้ำมันของทั้ง 2 ประเทศ จะส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกลดลง 1.5%นอกจากนี้ประเทศแอลจีเรียมีแผนที่จะลดกำลังการผลิตลง 20,000 บาร์เรล/วันในเดือนหน้าเช่นกัน
ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-07-03/saudi-arabia-prolongs-unilateral-oil-output-cut-into-august
กระทรวงพาณิชย์ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อไทยปีนี้ลง
- กระทรวงพาณิชย์ของไทยปรับประมาณการเงินเฟ้อโดยรวมปีนี้ลง โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 1-2%YoY จากที่ประมาณการก่อนหน้านี้ที่ระดับ 1.7 – 2.7%YoY เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวลง เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและจากฐานตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงในปีที่ผานมา ด้านดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6%MoM สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4%MoM อย่างไรก็ดีดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.32%YoY ต่ำกวาที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4%YoY และเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี
- แม้ว่าเงินเฟ้อไทยจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ยังมีมุมมองที่จะคงนโยบายเข้มงวดไว้ก่อน เนื่องจากการท่องเที่ยวไทยที่ฟื้นตัวและการคาดการณ์ว่ารัฐบาลใหม่จะมีการใช้จ่ายตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดีตลาดคาดว่าข้อมูลเงินเฟ้อที่ชะลอตัวในเดือน มิ.ย. จะหนุนให้ BOT คงมติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยประการชุมในเดือน ส.ค. ณ ระดับ ปัจจุบันที่ 2%
ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-07-05/thailand-cuts-full-year-inflation-forecast-as-prices-trend-lower?srnd=economics-v2
Weekly Recap
US
- สหรัฐเผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานในเดือน พ.ค. ต่ำกว่าคาด โดยตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งใช้วัดอุปสงค์ในตลาดแรงงานลดลง 4.96 แสนตำแหน่ง สู่ระดับ 9.824 ล้านตำแหน่ง ต่ำกว่าคาดที่ระดับ 9.935 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 10.320 ล้านตำแหน่งในเดือน เม.ย. ขณะที่อัตราการลาออกเพิ่มขึ้น 0.2% สู่ระดับ 2.6%
- ISM เผยดัชนีภาคบริการสหรัฐสูงกว่าคาดในเดือน มิ.ย. โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.9 สูงกว่าตลาดคาดที่ระดับ 51.0 จากระดับ 50.3 ในเดือน พ.ค. บ่งชี้ว่า ภาคบริการของสหรัฐยังขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานเพิ่มขึ้น
- ISM เผยดัชนีภาคการผลิตสหรัฐในเดือน มิ.ย. หดตัวลงเป็นเดือนที่ 8 ซึ่งปรับตัวลดลงสู่ระดับ 46.0 ในเดือน มิ.ย. ทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 และต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 47.0 จากระดับ 46.9 ในเดือน พ.ค. เนื่องจากได้รับผลกระทบของการจ้างงานที่ปรับตัวลง แม้ว่าคำสั่งซื้อใหม่จะปรับตัวดีขึ้น
- ตลาดหุ้นสหรัฐสัปดาห์ที่ผ่านมา ถูกกดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีและ 10 ปีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทะลุ 5% และ 4% ตามลำดับ รวมถึงข้อมูลดังกล่าวยังหนุนให้เฟดเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% อย่างไรก็ดีบรรดาหุ้นธนาคารรายใหญ่สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากธนาคารบางแห่งประกาศเพิ่มการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ภายหลังจากที่ผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของเฟด
EUROPE
- PMI ภาคการผลิตอังกฤษในเดือน มิ.ย. ทำระดับต่ำสุดในปีนี้ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) หดตัวลงสู่ระดับ 46.5 จากระดับ 47.1 ในเดือน พ.ค. และเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 ทั้งนี้บรรดาบริษัทผู้ผลิตกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดในประเทศที่ซบเซาและการส่งออกที่อ่อนแอ ขณะที่ภาคครัวเรือนยังระมัดระวังในการใช้จ่าย เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงและภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
- ดัชนี PMI รวมภาคผลิต – บริการยูโรโซนเดือน มิ.ย. หดตัวลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นสุดท้าย ซึ่งใช้เป็นมาตรวัดภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลงสู่ 49.9 ในเดือน มิ.ย. จาก 52.8 ในเดือน พ.ค. โดยดัชนีดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของทั้งอุตสาหกรรมบริการและการผลิตของโรงงาน
- ยอดส่งออกเยอรมนีในเดือน พ.ค. ปรับตัวลงสวนทางกับที่คาดการณ์ โดยยอดการส่งออกของเยอรมนีลดลง 0.1%MoM ขณะที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3%MoM โดยถูกกดดันจากยอดส่งออกไปยังสหรัฐที่ลดลง 3.6%MoM และส่งออกไปยังรัสเซียลดลง 7.4%MoM อย่างไรก็ดียอดการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.7%MoM ในเดือน พ.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มว่าอุปสงค์ในประเทศอาจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า
ASIA
- ภาคบริการจีนชะลอตัวลงในเดือน มิ.ย. โดยผลสำรวจจากสถาบันไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอล รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนปรับตัวลงสู่ระดับ 53.9 จาก 57.1 ในเดือน พ.ค. อย่างไรก็ดีดัชนียังอยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคบริการจีนยังมีการขยายตัวและขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 แม้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากภาคการผลิตและอสังหาฯ ที่ซบเซา
- แบงก์ชาติชี้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเป็น NPL เพิ่ม เร่งออกทางแก้ที่ยั่งยืน โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ทั้งนี้ ธปท. กำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบตลอดวงจรหนี้ ส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลงและให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ไม่นำไปสู่การก่อหนี้สินเกินตัว
- ตลาดหุ้นเอเชียสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกกดดันจากความกังวลต่อสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐ หลังจากจีนออกมาตรการควบคุมการส่งออกโลหะที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงรายงานภาคบริการของจีนชะลอตัวลง ขณะที่ดัชนี Hang Seng Mainland Banks Index ปรับตัวลงกว่า 3 % หลัง Goldman Sachs ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทและธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งรวมถึงธนาคารการเกษตรแห่งประเทศจีน (AgBank) ที่เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคาร
COMMODITIES & FX
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดที่ 73.55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขานรับข่าวซาอุดิอาระเบียขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันถึงเดือน ส.ค. และรัสเซียประกาศลดการส่งออกน้ำมัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกลดลง 1.5% รวมถึงตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับการคุมเข้มนโยบายการเงิน หลังข้อมูลการจ้างงานสหรัฐออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
- ราคาทองคำทรงตัวที่ $1,925.39 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดและส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีราคาทองคำได้ถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
- ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 35.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงอ่อนค่าตามสกุลเงินอื่นในภูมิภาคที่ยังไม่มีปัจจัยใหม่มาหนุน ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าจากตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐยังมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ทั้งนี้ปัจจัยในประเทศที่ยังต้องติดตามคือ ประเด็นการเมือง หลังพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลมั่นใจ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล จะได้เสียงสนับสนุนจากรัฐสภา
ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มา: Tradingview.com as of 9 July 2023
จัดอันดับกองทุนพักเงิน
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา: AspenRTD, data as of 9 July 2023
โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล
โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th
Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน
อ่านบทความย้อนหลังได้ที่
https://wealthcertified.co.th/wcia-monthly-insight-july-2023/
https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/
Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันของเอกสารฉบับนี้ รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการขาดทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น
เอกสารการลงทุนฉบับนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการแนะนำการลงทุน และอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในบริษัท (internal use only) เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ทั่วไป กรณีที่มีการนำเอกสารนี้ไปเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไป และไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้เอกสารฉบับนี้ บริษัทมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางด้านกฎหมายได้ทันที