บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16 – 20 ตุลาคม 2566
อัปเดทเงินเฟ้อสหรัฐเดือน ก.ย. กองทุนจีนเข้าซื้อแบงก์รัฐวิสาหกิจจีนเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุน
อัปเดทการวิเคราะห์ผลกระทบของสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสและอื่นๆ
Executive Summary
- ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ชะลอตัวลง หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดและธนาคารกลางยุโรปออกมาสนับสนุนการยุติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางความกังวลว่าสถานการณ์ในตะวันออกกลางจะบานปลาย โดยกลยุทธ์การลงทุนเรายังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงนี้ เนื่องจากประเมินว่าจะได้รับผลกระทบน้อยจากภัยสงครามและมีปัจจัยหลักที่กำหนดทิศทางตลาดหุ้นคือ กำไรไตรมาส 3 ของบริษัทต่างๆ และข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ขณะเดียวกันตลาดหุ้นจีน เวียดนาม และไทยสามารถทยอยเข้าสะสมได้ในช่วงที่ตลาดย่อตัว จาก Valuation ที่ค่อนข้างถูก
- Special Headlines:
อัปเดทเงินเฟ้อสหรัฐเดือน ก.ย.
กองทุนจีนเข้าซื้อแบงก์รัฐวิสาหกิจจีน ฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุน
อัปเดทการวิเคราะห์ผลกระทบของสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส - มุมมอง: เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ย higher for longer โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม health care และ technology เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan อย่าง จีน อินเดีย และเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดหุ้นจีนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนอินเดียและเวียดนามมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน ด้านตลาดหุ้นไทยมองว่ามี downside risk ที่ค่อนข้างจำกัด นักลงทุนสามารถทยอยสะสมลงทุนได้ เรามองว่าเศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตได้ในระดับดีหลังจากนี้ จากปัจจัยหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจะมีพัฒนาการเชิงบวก
Weekly Total Asset Return
ที่มา: Koyfin.com data as of 15 Oct 2023, *Annualized returns
Special Headline: อัปเดทเงินเฟ้อสหรัฐเดือน ก.ย.
- ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ หรือ CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในเดือน ก.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.7%YoY และ 0.4%MoM ด้านดัชนี Core CPI ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินปรับตัวขึ้น 4.1%YoY และ 0.3%MoM สอดคล้องกับที่ตลาดคาด แต่ทำระดับมากสุดในรอบ 2 เดือน จากราคาค่าที่พักอาศัยซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักเป็น 1/3 ของเงินเฟ้อโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ย. โดยได้แรงหนุนจากราคาที่พักโรงแรมเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 2 ปี ขณะที่ราคาของกินของใช้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และราคาเครื่องนุ่งห่มปรับตัวลงมากที่สุดในรอบกว่า 3 ปี
- อย่างไรก็ตามตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวสะท้อนถึงตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง และยังไม่ช่วยหนุนให้เฟดยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ขณะที่ตลาดยังคง 50/50 ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือน พ.ย. หรือเดือน ธ.ค. ทั้งนี้เงินเฟ้อสหรัฐที่อยู่ในระดับสูงยังไม่ได้บั่นทอนคะแนนความนิยมของ
ปธน. โจ ไบแดนที่อยู่ที่ระดับ 40% ซึ่งสูงสุดในรอบปี
กองทุนจีนเข้าซื้อแบงก์รัฐวิสาหกิจจีน ฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุน
- กองทุน Central Huijin Investment ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติของจีนเข้าซื้อหุ้นเพิ่มในแบงก์รัฐวิสาหกิจจีน 4 แห่ง ได้แก่ Industrial & Commercial Bank Agricultural Bank of China และ China Construction Bank คิดเป็นมูลค่า 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเข้าลงทุนเพิ่มในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยในอดีตกองทุนดังกล่าวเคยเข้าซื้อหุ้นเพิ่มในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 และ 2015 เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดทุน อย่างไรก็ตามปี 2015 ดัชนี CSI 300 ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะสั้นเท่านั้นหลังมีรายงานดังกล่าว ก่อนที่ดัชนีจะปรับตัวลงกว่า 20% ในช่วงหลายเดือนต่อมา
- ด้านนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีน bottom out อย่างยั่งยืน คือ ตัวเลขเศรษฐกิจพื้นฐานของจีนและการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงการคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เพราะที่ผ่านมามีแต่ข่าวการเข้าซื้อหุ้นขององค์กรรัฐวิสาหกิจจีนเพื่อฟื้นตลาดทุนเท่านั้น ไม่ได้มาจากผู้เล่นทั้งตลาด เรามองว่านักลงทุนยังคงต้องจับตาดูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่จะส่งผล
กระทบในวงกว้างและยั่งยืนมากกว่านี้
อัปเดทการวิเคราะห์ผลกระทบของสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส
- สำนักข่าว Bloomberg ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์สงครามตะวันออกกลางในระยะข้างหน้าและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและราคาน้ำมันในแต่ละสถานการณ์ โดยแบ่งเป็น 3 สถานการณ์ คือ
สงครามที่อยู่ในวงจำกัด: ภายในฉนวนกาซ่าและพรหมแดนรอบๆ ระหว่างคู่ขัดแย้งอิสราเอล-กลุ่มฮามาสและปาเลสไตน์ ซึ่งส่งผลกระทบให้ GDP โลกลดลง -0.1% เงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น 0.1% และราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สงครามตัวแทน: การปะทะขยายไป West Bank เลบานอนและซีเรีย รวมถึงสร้างความโกลาหลในตะวันออกกลาง ซึ่งส่งผลกระทบให้ GDP โลกลดลง -0.3% เงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น 0.2% และราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
และสงครามโดยตรง ที่นำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล – อิหร่าน และลามไปทั่วทั้งตะวันออกกลาง
จะส่งผลกระทบให้ GDP โลกลดลง -1% เงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น 1.2% และราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
WEEKLY RECAP
US
- ประธานเฟดดัลลัสหนุนให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ย โดยนางลอรี โลแกน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในการประชุม National Association for Business Economics การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐ และภาวะการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นในขณะนี้ ทำให้เฟดมีความจำเป็นน้อยลงในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง
- สหรัฐเผยดัชนี PPI ปรับตัวขึ้น 2.2%YoY ในเดือน ก.ย. สูงกว่าที่คาด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิตและเฟดใช้ข้อมูลดังกล่าวในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าดัชนี PPI จะปรับตัวขึ้น 2.2%YoY ด้าน PPI พื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7%YoY จากระดับ 2.5%YoY ในเดือน ส.ค.
- สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกต่ำกว่าคาด ที่ระดับ 209,000 ราย จากการรายงานในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 210,000 ราย และต่ำกว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน ด้านจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานคงค้างเพิ่มขึ้น 30,000 ราย สู่ระดับ 1.7 ล้านราย
- ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 63 ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. แย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลที่ระดับ 67.4 และลดลงจากระดับ 68.1 ในเดือน ก.ย. นอกจากนี้ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.8% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า จากระดับ 3.2% ในการสำรวจเดือนที่แล้ว
Europe
- ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นภายในวันที่มากที่สุดในรอบ 1 ปี โดยได้แรงหนุนจากการที่ผู้กำหนดนโยบายของเฟด และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้ความเห็นสนับสนุนการยุติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนจะปรับตัวลงที่ระดับเป้าหมายของ ECB ที่ 2% ภายในสิ้นปี 2568 ด้านหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว เหมืองแร่และเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้นนำตลาด
- เยอรมนีเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยสำนักงานสถิติเยอรมนีเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลงมากกว่าที่คาดเล็กน้อยที่ 0.2%MoM ในเดือน ส.ค. บ่งชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมเยอรมนียังคงซบเซาอย่างหนัก จากผลกระทบของเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงอุปสงค์โลกที่อ่อนแอ
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวขึ้น 4.5%YoY ในเดือน ก.ย. สอดคล้องกับที่ตลาดคาด และลดลงจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.1%YoY ในเดือน ส.ค. ทั้งนี้ราคาอาหารเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่สุดสำหรับตัวเลข CPI เดือน ก.ย.
- เศรษฐกิจอังกฤษพลิกมาขยายตัวในเดือน ส.ค. หลังปัญหาการประท้วงของแรงงานผ่อนคลาย โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอังกฤษขยายตัว 0.2%MoM สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ หลังจากที่หดตัว 0.6%MoM ในเดือน ก.ค. และแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจอังกฤษแข็งแกร่งกว่าฝรั่งเศสและเยอรมนีนับตั้งแต่เกิดโรคโควิด-19 ระบาด
Asia
- ต่างชาติขายหุ้นเอเชียในเดือน ก.ย. เหตุดอกเบี้ยในสหรัฐสูง มีรายงานจากรอยเตอร์ว่า หุ้นเอเชียในตลาดหุ้นไต้หวัน อินเดีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนามได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติเป็นเงินสุทธิ 1.126 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 65 จากภาวะอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่ระดับสูงเป็นเวลานานและบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
- แบงก์ชาติจีนคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% โดยมีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี สอดคล้องกับที่ตลาดคาด และธนาคารกลางจีนได้เพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบจำนวน 2.89 แสนล้านหยวน (3.96 หมื่นล้านดอลลาร์) ถือเป็นจำนวนเงินมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 63 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและสนับสนุนการขายตราสารหนี้
- แบงก์ชาติมั่นใจ GDP ปี 67 โตมากกว่า 4% โดย ธปท. ได้รวมปัจจัยจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ สำหรับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ธปท. ได้คำนึงถึงความไม่แน่นอนของมาตรการและเป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงมากขึ้น แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพิจารณาของ กนง. ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบที่ผ่านมา
- ดัชนีค้าปลีกไทยไตรมาส 3 ยังซบเซา โดยสมาคมค้าปลีกและ ธปท. เผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 46.4 จุด ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 50 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงการท่องเที่ยวที่เป็นช่วงโลว์ซีซั่น ทั้งนี้ทางสมาคมฯ เห็นด้วยกับภาครัฐต่อนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน
Commodities
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดที่ 87.78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดมองว่าสถานการณ์ในตะวันออกกลางอาจจะขยายวงกว้าง หลังอิสราเอลเตรียมการโจมตีภาคพื้นดินเพื่อตอบโต้กลุ่ม
ฮามาส ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลกลดลงในระยะสั้น - ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ $1,929.71 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง รวมทั้งได้ปัจจัยหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวลดลง
- ค่าเงินบาทแข็งค่าปิดที่ 36.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากเม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรไทยและหุ้นไทย ประกอบกับข่าวที่ประเทศจีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินบาทและสกุลเงินในภูมิภาคแข็งค่า ขณะเดียวกันนักลงทุนคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเฟดใกล้แตะระดับสูงสุดแล้ว ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างอ่อนๆ
ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มา: Tradingview.com as of 15 October 2023
จัดอันดับกองทุนพักเงิน
ที่มา: AspenRTD, data as of 15 October 2023
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล
โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th
Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน
อ่านบทความย้อนหลังได้ที่
https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-9-october-2023/
https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/