ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Weekly Highlight 10 April 23

11/04/2023

WCIA Weekly Highlight บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 10 – 14 เมษายน 2566 อัปเดทตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือน มี.ค. ตัวเลขเปิดรับสมัครงานสหรัฐฯ เดือน ก.พ. และตัวเลข PMI จีนในเดือน มี.ค. 66

EXECUTIVE SUMMARY

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกปิดผสมผสาน จากความกังวลเศรษฐกิจมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบของภาวะสินเชื่อในสหรัฐฯ ที่ตึงตัวหลังจากนี้ ขณะเดียวกันตลาดก็มีความเชื่อมั่นใจเศรษฐกิจจีนและตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงมากขึ้น จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและมาตรการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ
  • Special Headlines: ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือน มี.ค. ตัวเลขเปิดรับสมัครงานสหรัฐฯ เดือน ก.พ. และตัวเลข PMI จีนในเดือน มี.ค. 66
  • Technical: คาดว่าสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังถูกปัจจัยกดดันเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากตัวเลขตลาดแรงงานยังส่งสัญญาณภาวะตึงตัว และยังไม่มีปัจจัยใหม่มาสนับสนุนตลาด แนะนำให้นักลงทุนรอดูจังหวะเข้าลงทุน โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ยุโรป ขณะที่ตลาดหุ้นจีนและเวียดนามเรายังมีมุมมองเชิงบวกในระยะกลางถึงยาวทยอยสะสมได้ หุ้นไทยมองว่ามี downside จำกัดทยอยสะสมได้
  • กลยุทธ์การลงทุนสัปดาห์นี้: ขายกองทุนทองคำสำหรับพอร์ต Conservative และลงทุนเพิ่มในกองทุนหุ้นทั่วโลก (Global Equity) สำหรับพอร์ตการลงทุน Moderate ขายกองทุนทองคำและเพิ่มสัดส่วนในกองทุนหุ้นทั่วโลกและตราสารหนี้ระยะสั้น

Weekly Total Asset Class Return

Source: Koyfin.com data as of 9 April 2023, *Annualized returns

SPECIAL HEADLINE: ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือน มี.ค.

  • การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้น 236,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ แม้จะชะลอตัวจากเดือน ก.พ. ที่เพิ่มขึ้น 326,00 ตำแหน่ง ส่งสัญญาณว่าทางฝั่งอุปสงค์แรงงานสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลง ขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานรายชั่วโมงปรับตัวขึ้นในอัตราที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปี 2564 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน มี.ค. ซึ่งเฟดใช้ตัวเลขดังกล่าวในการประเมินความสามารถในการอุปโภคบริโภคของชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
  • อย่างไรก็ตามอัตราการว่างงานปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 3.5% จากระดับ 3.6% ใน เดือน ก.พ. ซึ่งตลาดมองว่าภาวะตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ยังคงตึงตัว และเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงยากมากขึ้น ซึ่งหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 5.0-5.25% ในการประชุมนโยบายการเงินช่วงต้นเดือน พ.ค. นี้

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-04-07/us-payroll-growth-cools-wages-climb-in-mixed-signal-for-fed?srnd=economics-v2

ตัวเลขเปิดรับสมัครงานสหรัฐฯ เดือน ก.พ.

  • ตัวเลขเปิดรับสมัครงานสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 9.9 ล้านตำเหน่ง จากระดับ 10.6 ล้านตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะลดลงที่ระดับ 10.4 ล้านตำแหน่ง โดยข้อมูลดังกล่าวนับเป็นตัวเลขต่ำสุดตั้งแต่เดือน พ.ค. 2564 ซึ่งบ่งชี้ว่า อุปสงค์แรงงานในตลาดเริ่มชะลอตัวลง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจบริการ ธุรกิจเพื่อสุขภาพ โลจิสติกส์และธุรกิจสาธารณูปโภค ขณะเดียวกันตัวเลขการเปิดรับสมัครงานในภาคการก่อสร้าง สันทนาการและบันเทิงปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • ด้านอัตราส่วนการเปิดรับสมัครงานต่อคนว่างงานปรับตัวลงอยู่ที่ระดับ 1.67 เท่าในเดือน ก.พ. ทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 จากระดับ 1.9 เท่าในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ช่วงโควิด-19 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.2 เท่า ทั้งนี้ตลาดคาดว่าอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. จะอยู่ที่ระดับ 3.6% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำในรอบกว่า 40 ปี และยังมองว่า ตลาดการจ้างงานในสหรัฐโดยรวมยังอยู่ในภาวะตึงตัว จึงคาดว่าข้อมูลดังกล่าวยังไม่ช่วยหนุนให้เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับ 5% ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ระดับ 2%

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-04-04/us-job-openings-fall-below-10-million-for-first-time-since-2021?srnd=economics-v2

ตัวเลข PMI จีนในเดือน มี.ค. 66

  • ตัวเลขดัชนี PMI ภาพรวมทั้งภาคการผลิต บริการและภาคก่อสร้างในเดือน มี.ค. ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งช่วยหนุนมุมมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะขยายตัวในปีนี้ โดย PMI ภาคบริการในเดือน มี.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 58.2 เป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี ขณะที่ตัวเลข PMI ภาคการผลิตออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์อยู่ที่ 51.9 ถึงแม้จะต่ำกว่าเดือน ก.พ. ที่ระดับ 52.6 แต่ยังอยู่เหนือที่ระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตจีนยังคงขยายตัว
  • ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของการใช้จ่ายทั้งภาคครัวเรือนและภาครัฐจีน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากนโยบายต่างๆ ของทางการ จะเป็นปัจจัยหนุนที่จะช่วยให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ระดับ 5.3% ในปีนี้ จากที่ขยายตัวเพียง 3% ในปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ได้กล่าวในการประชุม Boao Forum ว่า การบริโภค การลงทุน ตลาดการจ้างงานและภาวะเงินเฟ้อในจีนยังคงมีเสถียรภาพ และตัวเลขดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆ ในเดือน มี.ค. ออกมาน่าพอใจกว่า 2 เดือนแรกของปี พร้อมระบุว่า ทางการจีนยินดีที่จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในจีน จากความกังวลในปัญหาภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐ ที่ตึงเครียดในช่วงเวลานี้

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-03-31/china-s-economy-keeps-up-momentum-as-services-activity-surges

WEEKLY RECAP

นักลงทุนยังคงกังวลจากแนวโน้มภาวะตลาดสินเชื่อที่ตึงตัวจะกระทบเศรษฐกิจโดยภาพรวม

  • สหรัฐเผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานต่ำสุดรอบเกือบ 2 ปี โดยตัวเลขการเปิดรับสมัครงานในเดือน ก.พ. ลดลง 632,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.9 ล้านตำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 10.4 ล้านตำแหน่ง ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัวของตลาดแรงงาน ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวใช้เป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงานสหรัฐ
  • ISM เผยดัชนีภาคการผลิตสหรัฐหดตัวเดือนที่ 5 ในเดือน มี.ค. โดยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 46.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค .63 และต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 47.5 จากระดับ 47.7 ในเดือน ก.พ. โดยได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานที่หดตัว
  • สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานปรับตัวลดลงน้อยกว่าคาด โดยลดลง 18,000 ราย สู่ระดับ 228,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ลดลงน้อยกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ราย ขณะเดียวกันจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานคงค้างเพิ่มขึ้น 6,000 ราย สู่ระดับ 1.8 ล้านราย ขณะที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 1.7 ล้านราย
  • ตลาดให้น้ำหนักเฟดขึ้นดอกเบี้ยในเดือน พ.ค. หลังเผยตัวเลขจ้างงาน โดย FedWatch บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 68% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน พ.ค. และให้น้ำหนัก 32% ที่จะคงดอกเบี้ย ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 3.366% สะท้อนถึงการคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ตลาดยุโรปกลับมากังวลเรื่องเงินเฟ้อ หลังราคาน้ำมันพุ่ง

  • สำนักงานสถิติเยอรมนีเปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.0%MoM และเพิ่มขึ้น 0.6%YoY มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยับขึ้น 0.1%YoY โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี
  • ยอดส่งออกของเยอรมนีในเดือน ก.พ. ขยายตัว 4%MoM สูงกว่าที่คาด ซึ่งตลาดคาดว่าจะขยายตัวเพียง 1.6% โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากสหรัฐและจีน อย่างไรก็ตามปัญหาห่วงโซ่อุปทาน วิกฤตพลังงานและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อบริษัทส่งออกของเยอรมนีในปีนี้
  • เอสแอนด์พี โกลบอล/ซีไอพีเอสเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของอังกฤษในเดือน มี.ค. อยู่ที่ 52.9 ลดลงมาจากระดับ 53.5 ในเดือน ก.พ. แต่ยังคงสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของอังกฤษมีการขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และกลับมาขยายตัวอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของยอดคำสั่งซื้อ เนื่องจากความเชื่อมั่นทางธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มดีขึ้น

ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากนักลงทุนเชื่อมั่นในตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง

  • ดัชนี PMI ภาคการผลิตจีนชะลอตัวในเดือน มี.ค. โดยผลสำรวจไฉซินบ่งชี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีนอยู่ที่ระดับ 50 ลดลงจากระดับ 51.6 ในเดือน ก.พ. ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแรงลง และตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ตามดัชนี PMI ยังอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงมีการขยายตัว
  • PMI ภาคบริการจีนขยายตัวแข็งแกร่งในเดือน มี.ค. โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 57.8 จากระดับ 55.0 ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 3 และเป็นอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 โดยได้แรงหนุนจากยอดสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานในภาคบริการที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งรายงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน
  • ญี่ปุ่นประกาศผ่อนคลายคุมเข้มพรมแดนให้กับนักท่องเที่ยวจากจีน 5 เม.ย. โดยจะได้รับอนุญาตให้เข้าญี่ปุ่น เมื่อแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 3 เข็ม จากกฎระเบียบเดิมที่ต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 ที่เป็นลบภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทาง
  • แบงก์ชาติอินเดียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 6.5% ซึ่งสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าแบงก์ชาติอินเดียจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ และส่งสัญญาณจะยุติการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และมีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของอินเดียจะปรับตัวลดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าและแนวโน้มอุปทานตึงตัว

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นตที่ 80.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 โดยได้แรงหนุนจากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่ลดลงมากกว่าคาด และตลาดยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มราคาน้ำมัน จากแนวโน้มอุปทานที่ตึงตัว หลังจาก OPEC+ จะลดกำลังการผลิตลงราว 1 ล้านบาร์เรลในเดือนหน้าจนไปถึงสิ้นปี 2566
  • ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดที่ $2,007.79 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยราคาปัจจุบันทำระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน ได้ปัจจัยหนุนจากการที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าและการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
  • ค่าเงินบาททรงตัวปิดตลาดที่ 34.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าทำระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview, data as of 9 April 2023

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

ที่มา: AspenRTD, data as of 9 April 2023

กลยุทธ์การลงทุนในช่วงเดือนเมษายน

สัปดาห์ที่ผ่านมามีการแนะนำ Take Profit กองทุน

ทองคำในพอร์ต Conservative และ Moderate

Conservative
Sell SCBGOLDH Return 6.84% (since June 22)

BUY SCBPGF (Global Equity 5%)

Moderate
Sell SCBGOLDH Return 15.95% (since July 22) BUY SCBPGF, ASP-DPLUS (กองละ 5%)

ตัวอย่าง Moderate Portfolio สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง-สูง

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับการจัดพอร์ตการลงทุนในแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://wealthcertified.co.th/wcia-monthly-insight-april-2023/

https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/

Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน ของเอกสารฉบับนี้รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการลงทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น

เอกสารฉบับนี้ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปและไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมดโดยปราศจากความเห็นชอบและอนุญาตจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด

You cannot copy content of this page