WCIA Monthly Insight บทความการลงทุนประจำเดือนเมษายน 2566 รายงานตัวเลข PCE สหรัฐฯ เดือน ก.พ. 66 กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.75% และราคาหุ้น Alibaba บวกแรงรับการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่
EXECUTIVE SUMMARY
- ตลาดหุ้นทั่วโลกเดือนที่ผ่านมาส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ถึงแม้มีความกังวลวิกฤตในภาคธนาคารสหรัฐและยุโรป แต่เฟดและกระทรวงการคลังสหรัฐได้มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทำให้ผลกระทบของเหตุการณ์ครั้งนี้อยู่ในวงจำกัด ขณะเดียวกันการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ช่วยหนุนให้หุ้นกลุ่ม Growth โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
- Special Headlines: PCE สหรัฐฯ เดือน ก.พ. 66 ออกมาต่ำกว่าที่คาด กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.75% และหุ้น Alibaba บวกแรงรับการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่
- Technical: คาดว่าเดือนนี้ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ จากที่ตลาดคลายความกังวลวิกฤตธนาคารในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาและเดือนนี้ไม่มีการประชุมของธนาคารกลางสำคัญ ด้านตลาดหุ้นจีนและเวียดนามยังมีมุมมองเชิงบวกในระยะสั้นถึงกลาง หุ้นไทยมองแนวต้านที่ 1,650 จุด และแนวรับที่ 1,600 จุด ทองคำยังไม่สามารถยืนเหนือ 2,000 แนะนำให้รอดูตลาด และน้ำมันมีแนวต้านใหญ่ที่ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล
- กลยุทธ์การลงทุนสัปดาห์นี้: ขายกองทุนทองคำสำหรับพอร์ตการลงทุน Conservative และ Moderate โดยถือเงินสดไว้เพื่อคงสัดส่วนการลงทุนไว้ในระดับที่แนะนำ โดยจะมีการปรับกองทุนใน Universe ในสัปดาห์หน้า ในรายงาน Weekly Highlight
Monthly Total Asset Class Return
Source: Koyfin.com data as of 2 April 2023, *Annualized returns
SPECIAL HEADLINE: PCE สหรัฐฯ เดือน ก.พ. 66 ออกมาต่ำกว่าที่คาด
- ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน หรือ PCE พื้นฐานของสหรัฐเดือน ก.พ. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.6%YoY ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 4.7%YoY และปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3%MoM ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 0.4%MoM โดยการชะลอตัวในเดือน ก.พ. ครั้งนี้สะท้อนทั้งจากราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวลดลง
- ซึ่งตัวเลขดังกล่าวทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ใกล้ที่จะยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นในไม่ช้านี้ อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อในปีนี้ยังอยู่ระดับ 5% ซึ่งยังห่างไกลกับกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของเฟดที่ 2% โดยก่อนหน้านี้ตลาดคาดว่าวิกฤตในภาคธนาคารสหรัฐ อาจทำให้เฟดต้องหันมาระมัดระวังในการขึ้นดอกเบี้ย แต่ปรากฏว่า เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนที่ผ่านมาอีก 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.0% ซึ่งหมายความว่าเฟดยังให้ความสำคัญในการที่จะกดเงินเฟ้อลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมายเป็นอันดับแรก ขณะที่ตลาดการจ้างงานที่ตึงตัวยังคงหนุนเงินเฟ้อสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่สูง
กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.75%
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.75% นับเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 5 พร้อมส่งสัญญาณยังคงใช้โยบายเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้ามหายที่ 2% เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวนและวิกฤติภาคธนาคารในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ยังสร้างแรงกดดันให้ BOT ยังไม่ยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- อีกทั้ง BOT ได้ปรับประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเล็กน้อยจาก 3.7% เป็น 3.6% และระดับ 3.8% ในปี 2567 โดยเศรษฐกิจในปีนี้ได้รับปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่กระตุ้นอุปสงค์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ภาคธุรกิจและครัวเรือนยังคงต้องรับมือกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย
- ทั้งนี้ธนาคารกลางของไทยและฟิลิปินส์ เป็น 2 แห่งที่ส่งสัญญาณจะยังคงใช้นโยบายเข้มงวด ด้านธนาคารกลางอินโดนีเซียและมาเลเซียได้ส่งสัญญาณยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ขณะที่ธนาคารกลางเวียดนามได้ปรับลดอัตราดอกบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินครั้งที่ผ่านมา
หุ้น Alibaba บวกแรงรับการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่
- บริษัท Alibaba Group ซึ่งมีมูลค่าตลาด 2.2 แสนล้านดอลลาร์ได้ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยแบ่งออกเป็น 6 หน่วยธุรกิจ เพื่อรองรับการจดทะเบียนเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งข่าวดังกล่าวช่วยหนุนให้หุ้น BABA ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง รวมถึงส่งผล sentiment เชิงบวกให้กับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจีนและตลาดหุ้นฮ่องกงปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา
- ด้านนักลงทุนคาดว่ารัฐบาลกลางของจีนอยากให้ธุรกิจในกลุ่มของ Alibaba เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง เพื่อที่จะระดมทุนจากต่างประเทศได้ง่ายกว่าในตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ และต้องการเรียกความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติกลับมาในฮ่องกง
- ทั้งนี้ตลาด IPO ของฮ่องกงหดตัวลงตั้งแต่กลางปี 2564 จากการที่รัฐบาลจีนเข้มงวดและพยายามที่จะลดอำนาจทางเศรษฐกิจกับบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของชาติ โดยมูลค่าดีลที่ IPO ในตลาดหุ้นฮ่องกงช่วงไตรมาส 1/65 ลดลง 48% เมื่อเทียบช่วงเดียวของปีก่อน
WEEKLY RECAP
เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมยังปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยหุ้นกลุ่ม Growth แม้กังวลวิกฤตในภาคธนาคาร
- สหรัฐเผย GDP ในไตรมาส 4/65 ขยายตัว 2.6% เป็นการรายงานตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ว่าจะขยายตัว 2.9% และ 2.7% ตามลำดับ สืบเนื่องจากเหตุการณ์วิกฤตในภาคธนาคารเมื่อต้นเดือน มี.ค. อาจส่งผลให้ตลาดสินเชื่อและการระดมทุนของธุรกิจเข้มงวดมากขึ้นและมีต้นทุนที่สูงขึ้น
- Conference Board เผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงกว่าคาดในเดือน มี.ค. ที่ระดับ 104.2 ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐจะลดลงสู่ระดับ 101.0 จากระดับ 103.4 ในเดือน ก.พ. ดัชนีดังกล่าวเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและในช่วง 6 เดือนข้างหน้า รวมถึงมุมมองเรื่องการจ้างงาน
- สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาด โดยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 7,000 ราย สู่ระดับ 198,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และสูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ราย ด้านจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานคงค้างเพิ่มขึ้น 4,000 ราย สู่ระดับ 1.689 ล้านราย
ตลาดยุโรปมีปรับตัวลดลง จากความกังวลวิกฤตสภาพคล่องในภาคธนาคารยุโรป
- สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจอังกฤษขยายตัวขึ้น 0.1%MoM ในไตรมาส 4/2565 ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ หลังจากที่หดตัวลง 0.1% ในไตรมาส 3/2565 โดยแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของธุรกิจตัวแทนการท่องเที่ยวและการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชนจากภาครัฐ ช่วยให้อังกฤษรอดพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาได้
- ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กล่าวว่า ระบบธนาคารของอังกฤษไม่ได้รับผลกระทบจากการปิดตัวของธนาคาร SVB และ Credit Suisse ที่จะเกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่องและภาวะสินเชื่อตึงตัวแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน BoE กำลังจับตาวิกฤตในระบบธนาคารทั่วโลกอย่างใกล้ชิดต่อ
- ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ระบุว่า การอนุมัติปล่อยสินเชื่อซื้อบ้านของอังกฤษปรับตัวขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ในเดือนก.พ. ซึ่งถือเป็นอีกสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในอังกฤษเริ่มมีเสถียรภาพ ทั้งนี้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้อนุมัติปล่อยสินเชื่อซื้อบ้านให้ลูกค้าจำนวน 43,500 รายในเดือน ก.พ. สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 41,300 ราย
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้น จากตัวเลขเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
- ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนขานรับการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตยังคงขยายตัวเกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ขณะเดียวกันนักลงทุนคาดว่าหุ้นกลุ่มชิปเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะฟื้นตัวและมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดใกล้จะยุติในเร็วๆ นี้ และได้รับปัจจัยบวกจากการที่บริษัท Alibaba ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ส่งผลต่อ sentiment เชิงบวกในหุ้นกลุ่มเทคฯ จีน อีกทั้งนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวในการประชุม Boao Forum for Asia ว่า เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในเดือน มี.ค. เมื่อเทียบกับช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้ พร้อมกับกล่าวว่าจีนจะกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เร่งการฟื้นตัว ขณะเดียวกันจีนออกมาเตือนถึงการนัดพบกันระหว่างผู้นำไตหวันและประธานสภาของสหรัฐฯ ว่า เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อสถานการณ์ตึงเครียดในปัจจุบัน
- GDP เวียดนามไตรมาส 1/66 ส่งสัญญาณชะลอตัว โดยขยายตัวเพียง 3.32%YoY ชะลอจากไตรมาส 1/65 ที่ขยายตัว 5.05%YoY เนื่องจากการส่งออกที่หดตัว สาเหตุมาจากอุปสงค์โลกที่อ่อนแอ ซึ่งตัวเลขการส่งออกไตรมาส 1 ลดลง 11.9%YoY อย่างไรก็ตามยอดค้าปลีกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 13.9%YoY
ราคาสินโภคภัณฑ์ผันผวน จากความกังวลปัญหาภาคธนาคารจะกระทบเศรษฐกิจโลก
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปิดตลาดที่ 75.52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากช่วงต้นเดือนตลาดกังวลวิกฤตในภาคธนาคารสหรัฐฯ และยุโรปจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันลดลง อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันได้ปัจจัยหนุนในช่วงปลายเดือนจากการที่อิรักระงับการส่งออกน้ำมันบางส่วนจากเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานสู่ตลาดโลก ซึ่งสร้างความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันในตลาดโลกตึงตัว
- ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นโดดเด่นปิดที่ $1,969.68 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจัยความกังวลวิกฤตในภาคธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งนักลงทุนมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าช่วยหนุนราคาทองคำ
- ค่าเงินบาทแข็งค่าจากเดือนก่อนปิดตลาดที่ 34.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวและช่วงการเลือกตั้งอาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกคัก รวมถึงการที่เงินดอลลาร์อ่อนค่า จากการที่นักลงทุนคาดคาดว่าเฟดใกล้จะยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่กี่เดือนข้างหน้า
ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
Source: Tradingview, data as of 2 Apr. 2023
จัดอันดับกองทุนพักเงิน
Source: AspenRTD, data as of 2 Apr. 2023
กลยุทธ์การลงทุนในช่วงเดือน เม.ย.
กลยุทธ์ Port การลงทุนในช่วงเดือนเม.ย.
เรามองว่าสถานการณ์การลงทุนยังคงผันผวน แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
พอร์ต Conservative + Moderate แนะนำขายกองทุนทองคำที่แนะนำและถือเงินสด
ยังคงแนะนำลงทุนในสัดส่วนของ Portfolio ที่แนะนำ
Aggressive : EQ 65% / Cash+FI 25%
Moderate : EQ 45% / Cash+FI 45%
Conservative : EQ 10% / Cash+FI 85%โดยรายงานฉบับหน้า Weekly Update จะเพิ่มเติมรายละเอียดการคัดเลือกกองทุนใน Fund Universe ประจำไตรมาส 2 ปี 2566 นี้
ตัวอย่างพอร์ต Aggressive สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง
โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับการจัดพอร์ตการลงทุนในแต่ละบุคคล
โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th
Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน
อ่านบทความย้อนหลังได้ที่
https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-20-mar-23/
https://wealthcertified.co.th/market-update/
Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน ของเอกสารฉบับนี้รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการลงทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น
เอกสารฉบับนี้ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปและไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมดโดยปราศจากความเห็นชอบและอนุญาตจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด