ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Monthly Insight June 2024

05/06/2024

บทความการลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2567
เงินเฟ้อสหรัฐเดือนเม.ย. ชะลอตัวตามคาด ตลาดหุ้นส่งสัญญาณผิดหวังเลือกตั้งอินเดีย OPEC+ เริ่มยุติการลดกำลังผลิตเดือนต.ค. และอัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ   

Executive Summary

  • เราคาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกในเดือนมิ.ย. ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางบวก ท่ามกลางความผันผวนและมีปัจจัยระยะสั้นรบกวนตลาดมากขึ้น (low visibility and uncertainty) อย่างไรก็ดีเรามองว่ามาตรการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนและมาตรการ shareholder-friendly program ในบางประเทศจะหนุน sentimentการลงทุนและช่วยพยุงตลาดหุ้น และเรายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นทั้งปีแนะน าเข้าลงทุนและสะสมเพิ่มได้ในช่วงที่ตลาดหุ้นย่อตัว จากก าไรบริษัทจดทะเบียนที่ฟื้นตัวและแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกในปีนี้
  • Special Headlines:
    เงินเฟ้อสหรัฐเดือนเม.ย. ชะลอตัวตามคาด
    ตลาดหุ้นส่งสัญญาณผิดหวังเลือกตั้งอินเดีย     
    OPEC+ เริ่มยุติการลดกำลังการผลิตเดือนต.ค.
  • มุมมอง: เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางตลาดที่ยังคงผันผวน จากปัจจัยกดดันหลายส่วน โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม health care technology และ Industrial เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan และเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน

Monthly Asset Total Return

ที่มา: Koyfin.com data as of 01 June 2024, *Annualized returns

เงินเฟ้อสหรัฐเดือนเม.ย. ชะลอตัวตามคาด

  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงาน ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ในเดือนเม.ย. ปรับตัวขึ้น 2.7%YoY และ 0.3%MoM สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ และเป็นตัวเลขเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า ด้านดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 2.8%YoY สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์เช่นกัน ขณะที่หากเทียบรายเดือนจะเพิ่มขึ้น 0.2%MoM ต่ำกว่าตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3%MoM ด้านค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพยังคงปรับตัวขึ้น แต่ราคาอาหารในร้านค้า กิจกรรมสันทนาการและค่าขนส่งปรับตัวลงในเดือนเม.ย.
  • โดยภาพรวมตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวชะลอตัวลงตามที่เฟดและตลาดประเมินไว้ หลังจากที่กังวลต่อเงินเฟ้อของไตรมาส 1 ที่กลับมาเร่งตัวเล็กน้อย ด้านการใช้จ่ายในสินค้าและบริการชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นผลจากการจ้างงานและการเติบโตของค่าจ้างที่ผ่อนคลายลง ขณะเดียวกันเฟดยังคงจับตาดูเงินเฟ้อในฝั่งภาคบริการที่ไม่นับรวมค่าเช่าที่อยู่อาศัยและราคาพลังงาน ซึ่งยังคงชะลอตัวยากกว่าหมวดอื่นๆ อย่างไรก็ดีการบริโภคในสหรัฐในขณะนี้มีทั้งปัจจัยกดดันและปัจจัยหนุน เช่น ระดับหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเงินเฟ้อในวันข้างหน้ามีมุมมองที่ดีขึ้น อาจช่วยหนุนการบริโภคในประเทศต่อไป

ที่มา: Bloomberg

ตลาดหุ้นส่งสัญญาณผิดหวังเลือกตั้งอินเดีย

  • ต้นเดือนมิ.ย. นี้นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตาดูผลการเลือกตั้งอินเดีย ซึ่งจะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 มิ.ย. โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่านายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี จะได้รับชัยชนะและดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นสมัยที่ 3 แต่สิ่งที่ตลาดจับตาดูและนักลงทุนให้ความสำคัญคือ จำนวนเก้าอี้ ส.ส. ของพรรคนายโมดีและพรรคร่วมรัฐบาลที่ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งตัวเลขแห่งความคาดหวังของตลาดอยู่ที่ 303 ที่นั่งจากทั้งหมด 543 ที่นั่ง และเป็นจำนวนที่นายโมดีชนะเมื่อปี 2019 โดยผลสำรวจได้แยกตามกรณีต่างๆ ที่คาดว่าดัชนี Nifty 50 จะตอบรับต่อการผลเลือกตั้ง โดยดัชนีจะปรับตัวลงราว 10% หากพรรคนายโมดีได้จำนวนเก้าอี้น้อยกว่า 272 ที่นั่ง ขณะที่หากได้เก้าอี้มากกว่า 400 ที่นั่ง ดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 8%
  • ด้านดัชนี Nifty 50 ปรับตัวลงเกือบ 5% ในวันที่ 4 มิ.ย. ระหว่างการนับคะแนนผลเลือกตั้ง บ่งชี้ว่าตลาดค่อนข้างผิดหวังจากการคาดว่านายโมดีจะชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย (landslide victory)

ที่มา: Bloomberg

OPEC+ เริ่มยุติการลดกำลังการผลิตเดือนต.ค.

  • ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทั้งในและนอกกลุ่ม OPEC เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. เผยว่า ที่ประชุมจะขยายการลดกำลังผลิตน้ำมัน 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ปีนี้ และจะเริ่มเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่เดือนต.ค. เป็นต้นไป ซึ่งแผนการดังกล่าวจะทำให้ปริมาณน้ำมันราว 5 แสนบาร์ต่อวันกลับเข้าสู่ตลาดโลกในเดือน ธ.ค. และจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.8 ล้านบาร์ต่อวันภายในเดือนมิ.ย. 2025
  • อย่างไรก็ดีตลาดยังคงมีมุมมองอย่างระมัดระวัง เพราะมีโอกาสที่ทางกลุ่ม OPEC+ อาจเปลี่ยนแผนการดังกล่าวในอนาคต เนื่องจากยังคงมีปัจจัยอย่างหลายที่จูงใจต่อบรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะซาอุฯ ซึ่งยังคงต้องการพยุงราคาน้ำมัน เพื่อนำรายได้ไปชดเชยกับการใช้จ่ายในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ขณะที่ฝั่งรัสเซียและอิหร่านต้องการเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อนำเงินไปใช้ในการสงครามและฟื้นฟูประเทศ ทั้งนี้การประชุมระดับรัฐมนตรีของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทั้งในและนอกกลุ่ม OPEC ครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในวันที่ 1 ธ.ค. 67

ที่มา: Bloomberg

Monthly Recap

US

  • ดัชนี Nasdaq ปิดเหนือระดับ 17,000 จุดเป็นครั้งแรก โดยได้ปัจจัยหนุนจากราคาหุ้น Nvidia ที่บวกเกือบ 7% ขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดใหญ่เป็นอันดับ 2 แซง Apple ด้านบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นที่แตะระดับ 4.6%
  • รายงานการประชุมเฟดล่าสุดระบุว่า กรรมการเฟดได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงยาก ทำให้นักลงทุนกังวลว่าเฟดอาจจะตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงนานออกไป และสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานตัวเลขกิจกรรมภาคการผลิตและภาคบริการสหรัฐเดือน พ.ค. ออกมาแข็งแกร่ง รวมถึงตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่าตลาดคาด หนุนมุมมองการตรึงดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงาน ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 4.7%MoM และลดลง 7.7%YoY สู่ระดับ 634,000 ยูนิตในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ระดับ 679,000 ยูนิต ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และราคาบ้านในระดับสูง
  • ม.มิชิแกนเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำกว่าคาดในเดือนพ.ค. โดยดัชนีปรับตัวลงสู่ระดับ 69.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ด้านตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 76 แต่ผู้บริโภคคาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ในผลสำรวจเดือนก่อน
  • Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวลง 0.6% ในเดือนเม.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 0.3% ได้รับผลกระทบจากการลดลงของคำสั่งซื้อใหม่ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและตัวเลขการจ้างงานที่ชะลอตัวลง

Europe

  • นางอิซาเบล ชนาเบล สมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ECB อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.นี้ หากตัวเลขค่าจ้างและเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ในปัจจุบัน พร้อมระบุว่า ให้ระมัดระวังเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคต
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Destatis) รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัว 0.2%QoQ ในไตรมาสที่ 1/67 ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการ หลังจาก GDP ลดลงในช่วงปลายปี 66 บ่งชี้เศรษฐกิจปี 67 เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการลงทุนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 2.7%QoQ และอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงต่อเนื่อง
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ปรับตัวลง 0.4%MoM ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลง 0.6%MoM หลังจากที่ขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน สะท้อนว่าเศรษฐกิจเยอรมนียังคงเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นตัว
  • ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติด้วยคะแนนเสียง 7-2 ในการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25% ในการประชุมนโยบายการเงินเดือนพ.ค. สอดคล้องกับที่ตลาดคาด และระบุว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเงินเฟ้อภาคบริการอยู่ที่ระดับ 6% ในเดือนมี.ค. และยังคงมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษรายงาน ยอดค้าปลีกในเดือน เม.ย. ลดลง 2.3%MoM หลังจากที่ลดลง 0.2% ในเดือน มี.ค. โดยยอดขายลดลงในสินค้าเกือบทุกภาคส่วน เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศและส่วนหนึ่งมาจากเทศกาลอีสเตอร์ปีนี้มาถึงเร็วกว่าปกติ ทำให้มียอดการใช้จ่ายสูงในเดือน มี.ค.

Asia

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงาน ราคาบ้านใหม่เดือนเม.ย. ลดลง 0.6%MoM จากที่ลดลง 0.3%MoM ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรวดเร็วที่สุดในรอบกว่า 9 ปี ซึ่งตลาดมองว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจกดดันรัฐบาลจีนให้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อพยุงและฟื้นภาคอสังริมทรัพย์ในประเทศ
  • ญี่ปุ่นรายงาน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core Inflation) ชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนเม.ย. โดยปรับตัวขึ้น 2.4%YoY จากที่เพิ่มขึ้น 2.9%YoY ในเดือน มี.ค. อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ระดับ 2%
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.50% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 11สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังไม่ส่งสัญญาณชะลอตัว ในขณะที่เงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงแบบค่อยเป็นคอยไป
  • ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 6.25% สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ หัลงจากที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในเดือน เม.ย. เพื่อพยุงค่าเงินรูเปียห์ และ BI คาดว่าค่าเงินจะแข็งแกร่งขึ้น โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่เติบโต
  • สภาพัฒนาเผย GDP ไตรมาส 1/67 ของไทยขยายตัว 1.5%YoY จากตลาดคาดว่าจะเติบโตราว 0.7-0.8%YoY และขยายตัว 1.1%%QoQ มาจากแรงส่งของภาคของการบริโภคและการบริการเป็นหลัก โดยเฉพาะการบริโภคเอกชนที่ขยายตัวได้ 6.9%YoY ด้านภาคการส่งออกขยายตัวได้ 2.5%YoY ขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง 27.7%YoY ซึ่งมาจากการล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ

Commodities

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลงปิดระดับ 74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จาก OPEC+ จะเริ่มยุติการลดกำลังการผลิต 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนต.ค. ซึ่งคาดว่าน้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น 5 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือน ธ.ค. และจากความกังวลว่าเฟดอาจจะตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานและส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน
  • ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดระดับ 2,350 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ได้แรงหนุนจากการบริโภคสหรัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงและดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐที่ออกมาอ่อนแอกว่าคาด อาจหนุนให้เฟดเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าปิดบริเวณ 36.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยทิศทางเงินบาทยังอ่อนค่า ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมที่ออกมาดี หนุนให้เฟดยืดเวลาลดดอกเบี้ย รวมถึงถูกปัจจัยการเมืองในประเทศกดดัน

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview.com as of 4 June 2024

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

ที่มา: AspenRTD, data as of 30 May 2024
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

โดยรายละเอียดกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://wealthcertified.co.th/wcia-monthly-insight-may-2024

https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-27-may-2024

You cannot copy content of this page