ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Weekly Highlight 27 November 2023

28/11/2023

บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2566
ทางการจีนเตรียมช่วยเหลือผู้พัฒนาอสังหาฯ 50 ราย นักลงทุนจับตาการประชุม OPEC+ ในสัปดาห์นี้ เงินเฟ้อที่ชะลอตัวต่อเนื่อง หนุนให้ FED และ ECB ยุติการขึ้นดอกเบี้ย และอัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ

Executive Summary

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยตลาดหุ้นสหรัฐได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และตลาดได้แรงหนุนจากที่นักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกว่า เฟดได้ยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว และเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ อีกทั้งนักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือน ธ.ค. และคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน พ.ค. 2567
  • Special Headlines:
    ทางการจีนเตรียมช่วยเหลือผู้พัฒนาอสังหาฯ 50 ราย
    นักลงทุนจับตาการประชุม OPEC+ ในสัปดาห์นี้
    เงินเฟ้อที่ชะลอตัวต่อเนื่อง หนุนให้ FED และ ECB ยุติการขึ้นดอกเบี้ย
  • มุมมอง:เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ย higher for longer โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม health care และ technology เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan อย่าง จีนและเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน ด้านตลาดหุ้นไทยมองว่ามี downside risk ที่ค่อนข้างจำกัด นักลงทุนสามารถทยอยสะสมลงทุนได้ เรามองว่าเศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตได้ในระดับดีหลังจากนี้ จากปัจจัยหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจะมีพัฒนาการเชิงบวก

Weekly total Asset Return

ที่มา: Koyfin.com data as of 26 Nov 2023, *Annualized returns

ทางการจีนเตรียมช่วยเหลือผู้พัฒนาอสังหาฯ 50 ราย

  • รัฐบาลจีนกำลังเร่งดำเนินการต่อมาตรการช่วยเหลือบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ เพื่อประคองสถานการณ์วิกฤตภาคอสังหาฯ ในขณะนี้ โดยให้ธนาคารจีนต่างๆ ปล่อยเงินกู้คิดเป็นวงเงินรวม 446 พันล้านดอลลาร์เพื่อพยุงบริษัทเหล่านี้ให้ไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งอาจลามไปจนถึงการล้มละลาย และช่วยให้โครงการอสังหาฯ ต่างๆ ที่หยุดชะงักให้สามารถก่อสร้างเสร็จสิ้น โดยบริษัทในรายชื่อดังกล่าว ได้แก่ Country Garden Holdings Co. Sino-Ocean Group และ CIFI Holdings Group
  • ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวยังเป็นที่กังขาของนักลงทุนว่าจะเพียงพอต่อการฟื้นความเชื่อมั่นหรือไม่ และเป็นการผลักความเสี่ยงให้บรรดาธนาคารจีนมากขึ้น ซึ่งธนาคารจีน โดยเฉพาะธนาคารรัฐวิสาหกิจกำลังเผชิญกับปัญหาอัตรากำไรของส่วนต่างดอกเบี้ย (Net interest margins) ที่ลดลง และปัญหาเรื่องคุณภาพของหนี้ ด้านดัชนี Bloomberg index of Hong Kong-listed Chinese banks ปรับตัวลดลงกว่า 18% จากระดับสูงสุดในเดือน พ.ค. ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการจีน

ที่มา: Bloomberg

นักลงทุนจับตาการประชุม OPEC+ ในสัปดาห์นี้

  • นักลงทุนคาดการณ์ว่า การประชุม OPEC+ ในวันที่ 30 พ.ย. นี้ ทางซาอุดิอาระเบียและรัสเซียจะขยายการลดกำลังการผลิตรวมกันอย่างน้อย 1 ล้าน บาร์เรล/ต่อวันไปจนถึงไตรมาส 1 ของปีหน้า เพื่อพยุงราคาน้ำมันในตลาดโลก หลังจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงราว 15% จากระดับสูงสุดในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา สาเหตุมาจากอุปทานน้ำมันที่มีมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและอ่อนแอ ขณะเดียวกันผลสำรวจเผยว่า มีโอกาสที่ประเทศอื่นๆ ในกลุ่มจะลดกำลังการผลิตน้ำมันเช่นกัน ขณะที่แองโกล่าและไนจีเรียปฏิเสธที่จะลดกำลังการผลิตตามโควต้าของกลุ่ม
  • ทั้งนี้บรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันในแอฟริกาประสบปัญหาด้านการลงทุนทในระดับที่ต่ำ ปัญหาด้านการดำเนินธุรกิจและปัญหาของแหล่งผลิตน้ำมันที่ถูกใช้ไปมากแล้ว ด้านนักวิเคราะห์เชื่อว่าทางกลุ่ม OPEC+ จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหนุนราคาน้ำมันในตลาดโลกจนกว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมันโลก

ที่มา: Bloomberg

เงินเฟ้อที่ชะลอตัวต่อเนื่อง หนุนให้ FED และ ECB ยุติการขึ้นดอกเบี้ย

  • จากการเผยตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐและยูโรโซนล่าสุดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 เป็นปัจจัยส่งผลให้ธนาคารกลางหลักของโลก อย่าง ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่ง Fed ดูพึงพอใจต่อดัชนี PCE ในเดือน ต.ค. ที่ประกาศออกมาเพิ่มขึ้น 3.1%YoY และดัชนี Core PCE เพิ่มขึ้น 3.5%YoY อีกทั้งในรายงานการประชุมนโยบายการเงินของ Fed ล่าสุดเผยว่า ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นที่กดดันต่อการบริโภคของครัวเรือนและเพิ่มภาระทางการเงินของภาคธุรกิจเริ่มมีสัญญาณชัดเจนมากขึ้น ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ตลาดคาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค. ที่ระดับ 5.25-5.50%
  • ด้านเงินเฟ้อฝั่งยูโรโซนทั่วไปล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9%YoY เป็นอัตราที่ระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 64 และดัชนี Core PCE ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.2%YoY อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางทั้ง 2 แห่งยังไม่นิ่งนอนใจและต้องการรอดูข้อมูลเงินเฟ้อในอนาคตเพื่อให้มั่นใจว่า จะสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 2% ได้สำเร็จ 

ที่มา: Bloomberg

Weekly Recap

US

  • Conference Board เผยดัชนี LEI ของสหรัฐลดลง 0.8% ในเดือน ต.ค. แย่กว่าตลาดคาดว่าจะลด 0.8% หลังจากลดลง 0.7% ในเดือน ก.ย. ซึ่งดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ถือเป็นตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคำนวณจากตัวเลขเศรษฐกิจ 10 รายการ นับรวมราคาหุ้น คำสั่งซื้อใหม่ของภาคการผลิต การอนุญาตสร้างบ้าน ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค
  • สหรัฐเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนปรับตัวลง 5.4%YoY ในเดือน ต.ค. แย่กว่าที่คาดว่าจะลดลง 3%YoY หลังเพิ่มขึ้น 4%YoY ในเดือน ก.ย. สาเหตุจากยอดสั่งซื้อเครื่องบินที่ลดลง ทั้งนี้ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ คือยอดคำสั่งซื้อเครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีการใช้งาน 3 ปีขึ้นไป ด้านยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งบ่งชี้ถึงแผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจทรงตัวในเดือน ต.ค.
  • ม.มิชิแกนเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐต่ำกว่าคาดในเดือน พ.ย. โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวลงสู่ระดับ 61.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน และต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 63.7 ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่สูง และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์-สงครามที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง 24,000 ราย สู่ระดับ 209,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ และต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ราย ด้านจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานคงค้างลดลง 22,000 ราย สู่ระดับ 1.84 ล้านราย

Europe

  • เยอรมนีเผย GDP ไตรมาส 3/66 หดตัว 0.1%QoQ ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการครั้งแรก ด้านการใช้จ่ายของภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของ GDP ลดลง 0.3QoQ ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งปี โดยเพิ่มขึ้น 0.2%QoQ ด้านดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีในเดือน พ.ย. ปรับตัวดีขึ้น แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาด
  • สำนักงานสถิติของเยอรมนีเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ต.ค. ลดลง 11%YoY สอดคล้องกับที่ตลาดคาด สาเหตุมาจากราคาพลังงานที่ลดลง 27.9%YoY หากไม่นับรวมราคาพลังงาน ดัชนี PPI ของเยอรมนีในเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 0.2%YoY
  • PMIรวมภาคการผลิต-บริการขั้นต้นของเยอรมนีปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ย. โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนที่ 47.1 ในเดือน พ.ย. จาก 45.9 ในเดือน ต.ค. และสูงกว่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ตามดัชนียังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า กิจกรรมธุรกิจอยู่ในภาวะหดตัว ด้านดัชนี PMI ทั้งภาคการผลิตและบริการของฝรั่งเศสหดตัวต่อเนื่องในเดือน พ.ย. เนื่องจากอุปสงค์สินค้าและบริการที่ลดลง
  • สถาบันวิจัยตลาด GfK เผยว่า ผู้บริโภคชาวอังกฤษมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินส่วนบุคคลในเดือน พ.ย. โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นอยู่ที่ -24 จากระดับต่ำสุดในรอบสามเดือนของเดือน ต.ค. ที่ -30 เนื่องจากเงินเฟ้อที่ลดลงและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นยังห่างไกลจากระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19

Asia

  • สภาพัฒน์เผย GDP ไทยในไตรมาส 3/66 ขยายตัว 1.5% ต่ำกว่าคาดว่าจะขยายตัว 2.2% โดยฝั่งการผลิต ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม (เป็น sector ที่ใหญ่ที่สุด) หดตัวลง -4% โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ติดลบหนักที่สุด ส่วนภาคบริการขยายตัวได้ดี ด้านที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร โตขึ้นถึง 14.9% การค้าปลีกและค้าส่งขยายตัว 3.3% ขนส่งโต 6.8%
  • บจ. ไทยรายงานผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปีนี้ ลดลงจากปีก่อน โดยรายได้ของบริษัทจดทะเบียนไทยลดลง 3.4%YoY ด้านต้นทุนการผลิตปรับลดลง 2.9%YoY ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มสูงขึ้น 5.8%YoY ส่งผลให้มีกำไรสุทธิโดยรวมที่ 740,814 ล้านบาท ลดลง 10.6%YoY
  • ญี่ปุ่นปรับลดมุมมองเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นประเมินเศรษฐกิจญี่ปุ่นล่าสุดจะหดตัวในไตรมาส 3/66 เป็นครั้งแรกในรอบสามไตรมาส เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายด้านทุนและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ถึงแม้ธุรกิจและรายได้ของบริษัทต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ช่วยหนุนการเพิ่มค่าจ้างแรงงานและการลงทุนที่มากพอ
  • รัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9%YoY ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 และเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

Commodities

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ของนักลงทุนว่า OPEC+ จะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมในการประชุมสัปดาห์นี้ ซึ่งปรับลดกำลังการผลิตรวม 3.66 ล้านบาร์เรล/วันไปจนถึงสิ้นปี 2567
  • ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นยืนเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์และการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐทำระดับต่ำกว่า 4.5% รวมทั้งการคาดการณ์ว่า เฟดจะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าปิดบริเวณ 35.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และทำระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน เนื่องจากดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากปัจจัยเงินเฟ้อสหรัฐเดือน ต.ค. ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งตลาดคาดว่าเฟดยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถึงแม้ตัวเลข GDP ไทยในไตรมาส 3/66 ประกาศออกมาน่าผิดหวัง แต่มีผลในวงจำกัด ด้านสภาผู้ส่งออกชี้ภาวะการส่งออกของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยคาดว่าปีหน้าจะเห็นการส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ราว 1-2%

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview.com as of 27 November 2023

อัปเดทกองทุนพักเงิน

ที่มา: AspenRTD, data as of 26 November 2023
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

โดยรายละเอียดกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-20-november-2023/
https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/

You cannot copy content of this page