บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 – 25 สิงหาคม 2566 อัปเดทรายงานประชุมเฟดเดือน ก.ค. อัปเดทยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน ก.ค. อัปเดทข่าวบริษัทอสังหาฯ จีนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
Executive Summary
- ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก สืบเนื่องจากการเผยรายงานเฟดเดือน ก.ค. ที่ยังอยู่ในโทน Hawkish อีกทั้งนักลงทุนกังวลต่อภาคอสังหาฯ จีนที่อาจลุกลามเศรษฐกิจในวงกว้าง
- Special Headlines:
อัปเดทรายงานประชุมเฟดเดือน ก.ค.
อัปเดทยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน ก.ค.
อัปเดทข่าวบริษัทอสังหาฯ จีนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา - มุมมอง:เรามีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม Defensive สหรัฐในระยะกลาง ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากช่วงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังจากนี้ และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia incl. Japan ที่กระจายการลงทุนทั้งใน EM เอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ไทย และตลาดหุ้นเวียดนาม จาก Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับอดีตและเทียบกับตลาดหุ้นฝั่ง DM ขณะที่ตลาดหุ้นจีนรอดูสถานการณ์ของทางการจีนในการรับมือต่อภาคอสังหาฯ ที่เป็นประเด็นในขณะนี้ รวมถึงรอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทยอยออกมาหลังจากนี้ ขณะดียวกันตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับมามีความน่าสนใจจาก positive structural change และแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่
แข็งแกร่ง
Weekly Total Asset Return
ที่มา: Koyfin.com data as of 20 Aug 2023, *Annualized returns
อัปเดทรายงานประชุมเฟดเดือน ก.ค.
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เฟดยังคงโฟกัสกับเงินเฟ้อที่ยังไม่มั่นใจว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่องในอีกหลายเดือนข้างหน้าหรือไม่ และมีโอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อหากจำเป็น เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้ยังคงแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าเฟดบางส่วนแสดงความเห็นว่าเฟดไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม เนื่องจากจะเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวมากขึ้น ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5.25%-5.50%
- ด้านนักลงทุนยังคงให้น้ำหนักว่าเฟดจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะเดียวกันก็มีความหวังว่าเฟดจะส่งสัญญาณที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2024 จะอยู่ที่ระดับ 4.25% อย่างไรก็ดีการตัดสินใจของเฟดจำเป็นต้องดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐช่วงใกล้การประชุมในเดือน ก.ย. นี้
อัปเดทยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน ก.ค.
- สหรัฐเผยยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7%MoM ดีกว่าตลาดคาดที่ระดับ 0.4%MoM โดยได้แรงหนุนจากยอดขายบุหรี่ ร้านค้าอุปกรณ์และเสื้อผ้ากีฬา เครื่องแต่งกายและร้านอาหาร ด้านยอดค้าปลีกออนไลน์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9%YoY โดยได้แรงหนุนจาก Amazon Prime Day ทั้งนี้การใช้จ่ายของครัวเรือนที่ดีกว่าคาดสะท้อนถึงการจ้างงานสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่ง ท่ามกลางความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย จากผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่อยู่ในระดับสูงจากนโยบายการเงินเข้มงวดของเฟด อย่างไรก็ดีตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือน ก.ค. ได้สร้างความกังวลต่อนักลงทุนว่าอาจเปิดโอกาสให้เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้
- รวมทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา Walmart ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐได้เผยรายได้ 2/66 เพิ่มขึ้น 6.4%YoY ดีกว่าตลาดคาดที่ 4%YoY และมีการปรับเพิ่มประมาณการกำไรต่อหุ้นในปีนี้ที่ 6.46 ดอลลาร์ต่อหุ้น จากก่อนหน้านี้ที่ระดับ 6.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น จากปัจจัยการจ้างงานในสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่งและเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดีบริษัทมองว่า ยังมีหลายปัจจัยที่กดดันหลายปัจจัยต่อการบริโภคของครัวเรือน เช่น ราคาพลังงานที่กลับมาสูงขึ้น หนี้ภาคการศึกษา อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง การเข้มงวดในการปล่อนสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ และยอดเงินออมในช่วงโควิด-9 ของครัวเรือนที่ลดลง
อัปเดทข่าวบริษัทอสังหาฯ จีนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
- เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเรื่องการประท้วงหน้าบริษัท Zhongrong International TrustCo., ซึ่งเป็น shadowbanks รายใหญ่ของจีน เนื่องจากบริษัทได้เลื่อนการชำระหนี้ของตราสารหนี้ที่ครบกำหนดอายุต่อนักลงทุน ซึ่งสร้างความกังวลต่อตลาดว่า Zhongrong trust จะประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องและจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจจีน เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีมูลค่าถึง 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้ระดมทุนทั้งจากนักลงทุนรายย่อยและลูกค้าที่เป็นบริษัทไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีสัดส่วนราว 10% ของพอร์ตทั้งหมด (จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2022) หุ้นและตราสารหนี้ รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ และมีข้อมูลว่าตราสารทางการเงินที่บริษัทถือครองที่จะครบกำหนดอายุในปีนี้มีมูลค่าราว 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- รวมถึงข่าวของบริษัท China Evergrande Group ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีนที่ผิดนัดชำระหนี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้ยื่นล้มละลายในสหรัฐ โดยการยื่นคำร้องดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้ในสหรัฐยึดทรัพย์สินของ Evergrande ในช่วงที่บริษัทกำลังดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีบริษัทอสังหาฯ จีน อย่าง Modern Land China Co. ที่ผิดนัดชำระหนี้มูลค่า 250 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงความกังวลว่าบริษัท Country Garden Holdings Co. ผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่ใหญ่ที่สุดของจีนมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้แรก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากของบรรดาบริษัทอสังหาฯ จีน
Weekly Recap
US
- สหรัฐเผยตัวเลขการสร้างบ้านใหม่ในเดือน ก.ค. สูงกว่าคาด โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 3.9% สู่ระดับ 1.452 ล้านยูนิต สูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 1.448 ล้านยูนิต ส่วนยอดการอนุญาตก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 0.1% ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือน ก.ค. สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากลดลง 0.5% ในเดือน มิ.ย.
- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือน ก.ค. สูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากปรับตัวลง 0.5% ในเดือน มิ.ย. โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค และหากแยกตามรายอุตสาหกรรม ตัวเลขการผลิตของภาคโรงงานและภาคเหมืองแร่ในเดือน ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5% และภาคสาธารณูปโภคปรับตัวขึ้น 5.4%
- มีรายงานว่า Fitch Rating ได้ออกมาเตือนว่าอาจจะทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของจีนซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ A+ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของจีนลงสู่ระดับ A
นอกจากนี้ Fitch ได้ปรับลดแนวโน้มการเติบโตในอนาคตของ GDP สหรัฐลง 0.1% สู่ระดับ 1.7%
Europe
- ZEW เผยดัชนีความเชื่อมั่นเยอรมนีในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด แม้ว่าดัชนีดังกล่าวจะปรับตัวลดลงสู่ -12.3 แต่ฟื้นตัวจากระดับ -14.7 ในเดือน ก.ค. และดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ -14.7 ในเดือน ส.ค. ด้านประธาน ZEW กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวทำให้นักลงทุนมีความคาดหวังว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเยอรมนีจะดีขึ้นเล็กน้อยภายในสิ้นปีนี้
- อัตราเงินเฟ้ออังกฤษเดือน ก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับที่ตลาดคาด โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.8%YoY และเพิ่มขึ้น 0.4%MoM ชะลอตัวลงจากระดับ 7.9%YoY ในเดือน มิ.ย. ด้านดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาพลังงาน อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.9%YoY สูงกว่าคาดการณ์เล็กน้อยที่ 6.8%YoY
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งแรกเมื่อวันนี้ 16 ส.ค. ซึ่งระบุว่าเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์หดตัว 0.3%QoQ ในไตรมาส 2/66 หลังจากที่หดตัว 0.4%QoQ ในไตรมาสแรก ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์เข้าสู่ภาวะถดถอยเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยได้รับผลกระทบจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูง ส่งผลให้ราคาอาหารและพลังงานปรับตัวสูงขึ้น
- สำนักงานสถิติสหภาพยุโรป (Eurostat) เผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป (EU) ในเดือน มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5%MoM ดีกว่าที่คาดการณ์ และตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ EU ไตรมาส 2/66 (ประมาณการครั้งที่ 2) เพิ่มขึ้นที่ 0.3%MoM ซึ่งเท่ากันกับไตรมาสที่ผ่านมา
Asia
- แบงก์จีนปล่อยกู้เดือน ก.ค. ต่ำสุดในรอบ 14 ปี บ่งชี้ความเสี่ยงเงินฝืด จากรายงานยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนของธนาคารจีนเดือน ก.ค. จากธนาคารกลางจีน สร้างความผิดหวังต่อตลาด ซึ่งบ่งชี้ว่าอุปสงค์ในจีนอ่อนแอลงมากและอาจเผชิญกับภาวะเงินฝืดนานกว่าที่คาด โดยก่อนหน้านี้จีนได้เผยยอดส่งออกและกิจกรรมด้านการผลิตทรุดตัวลง ข่าวดังกล่าวได้กดดัน sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นจีนอีกด้วย
- ยอดส่งออกของญี่ปุ่นลดลงเป็นครั้งแรกในเดือน ก.ค. ในรอบเกือบ 2 ปีครึ่ง โดยปรับตัวลง 0.3%YoY แต่ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 0.8%YoY เนื่องจากอุปสงค์สำหรับสินค้าบางประเภทลดลง เช่น น้ำมันดิบชนิดเบาและอุปกรณ์ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ เนื่องจากตลาดหลักๆ อย่างประเทศจีนอ่อนแอลง ทั้งนี้ยอดส่งออกไปยังสหรัฐเพิ่มขึ้น 13.5%YoY โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในหมวดยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์
- กระทรวงการค้าอุตสาหกรรมและพลังงานของเกาหลีใต้ รายงานยอดส่งออกรถยนต์ของเกาหลีใต้เดือน ก.ค. ขยายตัว 15%YoY และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 66 มูลค่าการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้น 41%YoY จากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งสำหรับ EV นอกจากนี้การผลิตในประเทศในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 8.8%YoY โดยได้แรงหนุนจากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ในภาคยานยนต์
- ตลาดหุ้นไทยถือว่าแข็งแกร่ง แม้ท่ามกลางแรงกดดันจาก sentiment ตลาดหุ้นทั่วโลก โดยได้ปัจจัยบวกจากการเมืองมีความคืบหน้ามากขึ้น จากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยปมเสนอชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีซ้ำอีกในสมัยประชุมเดียวกัน ทั้งนี้การโหวตนายกฯ รอบที่ 3 จะมีขึ้นในวันที่ 22 ส.ค. นี้ โดยพรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและจะส่งชื่อนายเศรษฐา ทวีสินเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
Commodities
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลงปิดที่ 81.39 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันในจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก หลังเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอเกินคาดและความกังวลเรื่องภาวะเงินฝืดในจีน
- ราคาทองคำปรับตัวลดลงที่ $1,889.88 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาทำสถิติปิดในแดนลบที่ยาวนานที่สุดในรอบกว่า 6 ปี ซึ่งปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 8 เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่ากดดันราคาทอง
- ค่าเงินบาทอ่อนค่าปิดที่ 35.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากดอลลาร์ที่แข็งค่าสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับเพิ่มขึ้นและนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดผันผวน รวมถึงการอ่อนค่าของเงินหยวนซึ่งถือเป็นสกุลเงินใหญ่ของกลุ่ม EM ฉุดให้เงินสกุลอื่นๆ ของ EM อ่อนค่าไปด้วย โดยเฉพาะเงินบาทที่มีความเกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างมาก
ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มา: Tradingview.com as of 20 August 2023
จัดอันดับกองทุน
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา: AspenRTD, data as of 20 August 2023
โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล
โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th
Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน
อ่านบทความย้อนหลังได้ที่
https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-15-august-2023/
https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/
Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันของเอกสารฉบับนี้ รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการขาดทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น
เอกสารการลงทุนฉบับนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการแนะนำการลงทุน และอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในบริษัท (internal use only) เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ทั่วไป กรณีที่มีการนำเอกสารนี้ไปเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไป และไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้เอกสารฉบับนี้ บริษัทมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางด้านกฎหมายได้ทันที