ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Weekly Highlight 24 July 2023

25/07/2023

บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 24-28 กรกฎาคม 2566 จีนแย้มเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อัปเดทผลประกอบการไตรมาส 2/66 บริษัทจดทะเบียนสหรัฐ อัปเดทผลประกอบการไตรมาส 2/66 ธนาคารพาณิชย์ไทย

Executive Summary

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวผสมผสาน นำโดยหุ้นกลุ่ม value และ defensive ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่ม Growth อย่าง หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและสื่อสารปรับตัวลดลง หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงในช่วงครึ่งปีแรก บ่งชี้ถึงการปรับกลยุทธ์การลงทุนของนักลงทุนในครึ่งปีหลัง ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียถูกกดดันจากการคาดว่ามาตรการของรัฐบาลจีนอาจช่วยหนุนให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวไม่ได้อย่างที่ตลาดคาดหวัง
  • Special Headlines:
    จีนแย้มเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
    อัปเดทผลประกอบการไตรมาส 2/66 บริษัทจดทะเบียนสหรัฐ
    อัปเดทผลประกอบการไตรมาส 2/66 ธนาคารพาณิชย์ไทย
  • มุมมอง: เรามีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม Defensive สหรัฐในระยะกลางซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากช่วงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังจากนี้และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan อย่าง ตลาดหุ้นจีนและเวียดนามมี  Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับอดีตและเทียบกับตลาดหุ้นฝั่ง DM โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่ราคาสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว และคาดว่าทางการจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรฐกิจในประเทศเร่งด่วนในครึ่งปีหลังนี้

Weekly Total Asset Return

ที่มา: Koyfin.com data as of 23 July 2023, *Annualized returns

Special Headline: จีนแย้มเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

  • รัฐบาลจีนได้ระบุว่า จะเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจคร่าวๆ 31 มาตรการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนในประเทศ ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ โดยจะขอหารือกับบรรดาผู้ประกอบการก่อนที่จะร่างกฏหมายของนโยบายต่างๆ ขณะที่นักลงทุนยังคงตั้งข้อกังขาต่อมาตรการของทางการว่าจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างรวดเร็วเหมือนในอดีตหรือไม่ รวมถึงยังมองว่าเป็นแค่การส่งสัญญาณที่ไม่เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ หลังจากที่ตลาดผิดหวังต่อตัวเลขเศรษฐกิจจีนหลังจากยกเลิกการควบคุมโควิด-19
  • ทั้งนี้มูลค่าเศรษฐกิจภาคเอกชนจีนคิดเป็นสัดส่วน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมีการจ้างงานเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของงานในเขตเมือง ด้านตัวเลขการลงทุนของเอกชนในครึ่งปีแรกหดตัวลง 0.2% ขณะที่การลงทุนทางฝั่งรัฐวิสาหกิจขยายตัว 8.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียกันปีก่อน ด้านนายสี จิ้นผิง ผู้นำจีนยังคงยืนกรานว่าการสนับสนุนให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันก็ยังให้สำคัญต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะทางไซเบอร์

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-07-20/xi-s-private-sector-propaganda-push-runs-into-wall-of-skepticism

อัปเดทผลประกอบการไตรมาส 2/66 บริษัทจดทะเบียนสหรัฐ

  • Tesla  
    กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 20%YoY ด้านกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ระดับ 0.91 ดอลลาร์ ดีกว่าตลาดคาดที่ระดับ
    0.82 ดอลลาร์ กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 9.6% ต่ำสุดในรอบ 5 ไตรมาสย้อนหลัง จากการปรับลดราคา EV
    – รายได้จากธุรกิจจำหน่าย EV เพิ่มขึ้น 46%YoY และรายได้จากธุรกิจพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น 74%YoY
    – รายได้จากการบริการและอื่นๆ เพิ่มขึ้น 47%YoY
    ค่าใช้จ่ายด้าน R&D เพิ่มขึ้น 943 ล้านดอลลาร์ จาก 771 ล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1 เนื่องจากการลงทุนระบบ AI และซุปเปอร์คอมพิวเตอร์
    – ด้านซีอีโอเผยว่า Tesla ตั้งเป้าจะส่งมอบ EV ให้ได้ 1.8 ล้านคัน อย่างไรก็ดีคาดว่าไตรมาส 3 ยอด
    การส่งมอบจะปรับตัวลง จากการปิดปรับปรุงโรงงานการผลิต ขณะที่ยอดส่งมอบ EV ไตรมาส 2 อยู่ที่ 466,140 คัน มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์
  • ASML
    รายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 27%YoY กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 37.6%YoY
    บริษัทปรับเพิ่มคาดการณ์ยอดขายปีนี้ขึ้นที่ 30%YoY จาก 25%YoY
    บริษัทมีการผลิตเครื่องผลิตชิปตัวใหม่ที่ล้ำสมัยจาก demand ของลูกค้า ซึ่งหนุน profit margin เพิ่มขึ้น ท่ามกลางปัจจัยกดดันเรื่องความขัดแย้งสหรัฐ – จีน ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมภาพรวม
    – อย่างไรก็ดี ASML ระบุว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการที่สหรัฐควบคุมการส่งออกไปยังจีน และบริษัทอยู่ในช่วงขอใบอนุญาตจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เพื่อส่งออกไปยังจีน ขณะเดียวกันยังมีความไม่แน่นอนว่าสหรัฐและยุโรปจะออกมาตรการใหม่ในอนาคตหรือไม่
  • TSMC
    – รายได้ลดลง 10%YoY กำไรสุทธิลดลง 23.3%YoY แต่ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์
    – บริษัทได้รับผลกระทบจากเศรษกิจโลกที่ชะลอตัว ภาวะเงินเฟ้อและการชะลอสต็อกสินค้าของธุรกิจ
    – คาดว่าไตรมาส 3 จะดีขึ้นจากยอดจำหน่ายสินค้า 3-nanomenter technology ซึ่งจะเป็นตัว  processor ในไอโฟนรุ่นใหม่ที่จะออกในเดือน ก.ย. นี้
    – คาดว่าตลาดเซมิคอนดักเตอร์ภาพรวมจะฟื้นตัวได้ตามตลาด smartphone ที่กลับมาฟื้นตัวและการกลับมาสต็อกสินค้าของภาคธุรกิจ หลังจากตลาดหดตัวมา 6 ไตรมาสติดต่อกัน

ที่มา: CNBC

อัปเดทผลประกอบการไตรมาส 2/66 ธนาคารพาณิชย์ไทย

  • งวดไตรมาส 2/2566 ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 61,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.2% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนและเพิ่มขึ้น 2.2% จากไตรมาสก่อน มีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 60,281 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยจากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นสุทธิ รวมถึงธนาคารบางแห่งมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม
  • ด้านบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG รายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2566 มีกำไรเพิ่มขึ้น 128.12%YoY เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2566 มีกำไรลดลง 30.74%YoY สาเหตุมาจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อ เพื่อเป็นการรองรับคุณภาพของสินเชื่อภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวเฉพาะส่วนและการแข่งขันที่ปรับตัวรุนแรงมากขึ้น

รูปภาพจาก: Posttoday
ที่มา: Posttoday และ Kaohoon

Weekly Recap

US

  • Conference Board เผยดัชนี LEI ส่งสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย โดยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจปรับตัวลง 0.7% สู่ระดับ 106.1 ในเดือน มิ.ย. แย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 0.6% หลังจากลดลง 0.6% ในเดือน พ.ค. ทั้งนี้ดัชนี LEI ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 50-52 โดยได้รับผลกระทบจากการขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
  • เฟดนิวยอร์คเผยดัชนีภาคการผลิตในเดือน ก.ค. สูงกว่าคาด โดยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ +1.1 จากระดับ +6.6 ในเดือน มิ.ย. ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลงที่ -4.3 โดยได้แรงหนุนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ดัชนีดังกล่าวอยู่เหนือกว่าระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์ก
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยยอดค้าปลีกในเดือน มิ.ย. ต่ำกว่าคาด โดยยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.2%MoM ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5%MoM จากเพิ่มขึ้น 0.5%MoM ในเดือน พ.ค. โดยได้รับผลกระทบจากยอดขายของสถานีบริการน้ำมันที่ปรับตัวลง 1.4%MoM ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้างและอาหารเพิ่มขึ้น 0.2%MoM ต่ำกว่าตลาดคาดเล็กน้อย
  • สหรัฐเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 7 โดยสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) สหรัฐเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 65 ทั้งนี้ดัชนีดังกล่าวอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงมุมมองทั่วไปที่เป็นบวก

Europe

  • สำนักงานสถิติเยอรมนีรายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของเยอรมนีปรับตัวขึ้น 0.1% YoY ในเดือน มิ.ย. ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะทรงตัว ขณะที่ดัชนี PPI ในเดือนพ.ค.ปรับตัวขึ้น 1.0%YoY โดยตัวเลข PPI ในเดือน มิ.ย. เป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเงินฝืดในเดือน พ.ย. 2563
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวลงสู่ระดับ 7.9%YoY ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 8.2%YoY หลังจากที่เพิ่มขึ้น 8.7%YoY ในเดือน พ.ค. อย่างไรก็ดี ตัวเลข CPI เดือนมิ.ย.ยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE)
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษรายงานว่า ยอดค้าปลีกอังกฤษเดือน มิ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7%MoM มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2%MoM และลดลง 1.0%YoY จากที่คาดว่าจะลดลง 1.5%YoY โดยได้แรงหนุนจากปัจจัยสภาพอากาศและยอดขายอาหารที่ฟื้นตัว หลังจากที่ยอดค้าปลีกปรับตัวลดลงในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีวันหยุดราชการหลายวันและทำให้การใช้จ่ายตามปกติหยุดชะงักลง

Asia

  • จีนเรียกร้องให้สหรัฐยกเลิกคว่ำบาตรบริษัทจีน หลังเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีนกับนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเสร็จสิ้นการประชุม ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐได้คว่ำบาตรบริษัทบางแห่ง จากกรณีการบังคับใช้แรงงานในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ อย่างไรก็ดีจีนได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานและการกดขี่คุกคามทุกกรณี
  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี ซึ่งเป็นดัชนีวัดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคเอกชนที่ระดับ 3.55% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปี ซึ่งเป็นดัชนีวัดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของภาคครัวเรือน ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเพื่อการกู้จำนองที่ระดับ 4.20% สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยก่อนหน้านี้ PBOC ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนที่ระดับ 2.65%
  • รัฐบาลญี่ปุ่นรายงานอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 3.3%YoY ในเดือน มิ.ย. ซึ่งยังคงสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ของ BOJ เป็นเดือนที่ 15 โดยอัตราการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเร่งตัวขึ้นจาก 3.2% ในเดือน พ.ค. เนื่องจากราคาอาหารและสินค้าคงทนปรับตัวขึ้น และบริษัทสาธารณูปโภคได้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้า
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเผยว่า การส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.5%YoY เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น 49.7%YoY อย่างไรก็ดีตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2%YoY ทั้งนี้ยอดส่งออกของญี่ปุ่นไปยังสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐมีการขยายตัวมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 15% และ 11.7% ตามลำดับ

Commodities

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดที่ 76.75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน จากคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกจะตึงตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ รวมถึงความหวังว่าอุปสงค์น้ำมันจากจีนจะเพิ่มขึ้น จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน
  • ราคาทองคำทรงตัวขึ้นที่ $1,961.93 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และนักลงทุนมีการขายทำกำไรตลอดทั้งสัปดาห์และชะลอการลงทุนเพื่อรอดูการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าปิดตลาดที่ 34.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน หลังตลาดคาดทิศทางการเมืองจะมีความชัดเจนมากขึ้น ช่วยหนุนเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาซื้อในตลาดพันธบัตรไทย อย่างไรก็ดีช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามทิศทางค่าเงินเยนจากคาดการณ์ว่าการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ในสัปดาห์หน้าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน ส่งผลดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเนื่องจากมีแรงเทขายเงินเยนออกมา

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview.com as of 24 July 2023

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา: AspenRTD, data as of 23 July 2023

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่
https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-17-july-2023/
https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/

Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันของเอกสารฉบับนี้ รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

     ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการขาดทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น

      เอกสารการลงทุนฉบับนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการแนะนำการลงทุน และอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในบริษัท (internal use only) เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ทั่วไป กรณีที่มีการนำเอกสารนี้ไปเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไป และไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้เอกสารฉบับนี้ บริษัทมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางด้านกฎหมายได้ทันที

You cannot copy content of this page