WCIA Weekly Highlight บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 – 21 ตุลาคม 2565
WCIA Weekly Highlight: Key Takeaways
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถูกกดดันจากตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ก.ย. ที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเพิ่มขึ้น 8.2% สูงกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงตลาดหุ้นเอเซียบางส่วนปรับตัวลดลง จากปัจจัยมาตรการจำกัดการส่งออกชิปไปจีนของสหรัฐฯ
- Special Headlines: มุมมอง IMF ล่าสุดต่อเศรษฐกิจโลก
- Technical: ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ มีการ rebound ในท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่าสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ ดัชนี CSI300 คาดว่าเคลื่อนไหว sideway up เวียดนามมีโอกาส rebound ต่อในสัปดาห์นี้ หุ้นไทยมี downside จำกัด ตลาดอินโดนีเซียร่วงแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาส rebound สูง ทองคำยังเป็นขาลง น้ำมันวิ่งในกรอบ
- Update สถานการณ์การลงทุนในช่วงที่ผ่านมาในกองทุน และปัจจัยที่ต้องติดตามและความเคลื่อนไหวของหุ้นที่กองทุนถืออยู่
- กลยุทธ์การลงทุนสัปดาห์นี้ : ลงทุนด้วยความระมัดระวัง แนะนำให้ทะยอยสะสมในกองทุนหุ้นโดยไม่เกินสัดส่วนที่กำหนด และถือเงินสดบางส่วนเพื่อโอกาสในการลงทุนเพิ่ม ในกรณีที่ดัชนีปรับตัวลงต่อหรือเกิดสัญญาณซื้อทางเทคนิค สำหรับนักลงทุนที่ Fully Invested แล้วแนะนำถือต่อ
World Economic Outlook: Countering The Cost-of -living Crisis
IMF ได้ออกรายงานเศรษฐกิจรายไตรมาส (เดือน ต.ค.) โดยระบุว่า เศรษฐกิจโลกปัจจุบันอยู่ในภาวะผันผวน จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เงินเฟ้อสูง การใช้นโยบายการเงินเข้มงวดของธนาคารทั่วโลก และการบริโภคของภาคครัวเรือนที่หดตัว จากผลกระทบของเงินเฟ้อและแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันได้คงการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ที่ 3.2% และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้าขยายตัว 2.7% จาก 2.9% ทั้งนี้ไตรมาส 2/65 เศรษฐกิจโลกหดตัว 0.1% จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รัสเซีย และสหรัฐฯ รวมถึงประเทศแถบยุโรปตะวันออก จากผลกระทบของสงครามยูเครน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยุโรปยังไม่ชะลอตัวในไตรมาส 2/65 เนื่องจากได้ปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยว ทั้งนี้ IMF เห็นสัญญาณของข้อมูลต่างๆ อย่าง ตัวเลขคำสั่งซื้อภาคการผลิตและดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ ที่บ่งชี้ว่าประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกจะเผชิญภาวะชะลอตัวในไม่กี่เดือนข้างหน้า ด้าน ASEAN ถูกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.8% ในปีนี้ และปรับลดการคาดการณ์ปีหน้าขยายตัวที่ 6% จากผลกระทบของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก อย่างจีน สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ชะลอตัวลง รวมถึงปัจจัยเงินเฟ้อสูงทำให้ครัวเรือนลดการอุปโภคบริโภคลง
สืบเนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้หน่วยงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ปรับลดการขยายตัวของการใช้น้ำมันในปี 65 ลง 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ระดับที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่บริษัทในยุโรปและสหรัฐฯ ลดการซื้อน้ำมันของรัสเซีย และทำให้รัสเซียต้องหันมาขายให้กับจีนและอินเดียในราคาที่มีส่วนลด ด้านตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 41.4% ในปีนี้จากปีก่อนหน้า อยู่ในราคาเฉลี่ยที่ 98.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และคาดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลง 76.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2568 ด้านปัจจัยบวกและลบในระยะสั้นและระยะกลางต่อแนวโน้มราคาน้ำมันมีความสมดุลกัน โดยมีความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของอุปทานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการคว่ำบาตรและสงคราม ตลอดจนความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากการเปลี่ยนการใช้ก๊าซมาเป็นใช้น้ำมันแทน ทำให้ช่วยชดเชยปัจจัยด้านลบของราคาน้ำมันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันลดลงและอุปทานน้ำมันเพิ่มเติมจากอิหร่านเข้าสู่ตลาดโลก
ทั้งนี้คาดว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูงจนถึงสิ้นปี 2566 ขณะที่เงินเฟ้อในปีหน้ายังอยู่ในระดับที่สูง จากความเสี่ยงหลายด้าน อาทิ ภัยแล้งในบางส่วนของจีนและสหรัฐฯ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผ่านมายังต้นทุนของราคาปุ๋ย ทำให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรยังอยู่ในระดับสูง การจำกัดการส่งออก เช่น การห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มในเดือนของอินโดนีเซีย เป็นต้น
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ ที่ World Economic Outlook, October 2022: Countering the Cost-of-Living Crisis (imf.org)
หลังจากตัวเลขประมาณการจาก IMF ล่าสุดออกมา เราปรับข้อมูล consensus ในฐานข้อมูลซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ต่างจากตัวเลขสิ้นเดือนสิงหาคม กล่าวคือตัวเลขส่วนใหญ่จะถูกปรับในเชิงลบ เช่นตัวเลข GDP ปรับลดลง ตัวเลขดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นประเทศรัสเซียที่ประมาณการดีขึ้น ทั้ง GDP และเงินเฟ้อ ส่วนประเทศที่ถูกปรับลดลงส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแถบยุโรปมากที่สุด รองลงมาคือสหรัฐ และ จีน ที่ถูกปรับการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง
อัพเดทเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย
ดัชนีราคาผู้บริโภคในสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และทำระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยปรับตัวขึ้น 8.2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูง มาจากปัจจัยค่าเช่าที่อยู่อาศัยปรับตัวขึ้น 0.8% จากเดือนก่อนหน้า และทำระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ค่าอาหารเพิ่มขึ้น 0.8% จากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 11.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ราคาอาหารในศูนย์อาหารออฟฟิศและโรงเรียนปรับเพิ่มขึ้น 44.9% จากเดือนก่อน เนื่องจากมีการยุติโครงการอาหารฟรีบางส่วนในโรงเรียนลง และค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น หนุนเงินเฟ้อในสหรัฐฯ แม้ว่าราคาพลังงานและราคารถมือสองปรับตัวลดลง ด้านค่าจ้างรายชั่วโมงที่แท้จริงของคนอเมริกันในเดือน ก.ย. ปรับตัวลดลง 3% จากปีก่อน ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าว กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกมากขึ้นเพื่อขจัดเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
WCIA Weekly Highlight : Recap
สรุปข่าวประจำสัปดาห์
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ สั่งคุมเข้มส่งออกชิปคอมพิวเตอร์ขั้นสูงให้จีน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติและผลประโยชน์ด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งจีนอาจใช้ในการผลิตระบบทหารที่ก้าวล้ำ เป็นได้ตอกย้ำให้เห็นถึงการแข่งขันที่รุนแรงในด้านเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า ยอดค้าปลีกทรงตัวในเดือน ก.ย. หรือเพิ่มขึ้น 0.0% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ส.ค. และยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค.
- BoE ประกาศเพิ่มปริมาณซื้อพันธบัตรรัฐบาลอีก 2 เท่า โดยแบงก์ชาติอังกฤษเพิ่มปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษต่อวันขึ้นจากเดิม 5 พันล้านปอนด์เป็น 1 หมื่นล้านปอนด์ ไปจนถึงวันที่ 14 ต.ค. นี้ หลังจากที่ BoE ซื้อพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษได้ต่ำกว่าจำนวนขั้นต่ำต่อวันของมาตรการ เพื่อที่จะควบคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ
- นาโตประณามรัสเซีย หลังถล่มเป้าหมายพลเรือนในยูเครน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ด้านโฆษกของนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN กล่าวว่า ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียดังกล่าวนับเป็นการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดต่อยูเครน นับตั้งแต่ที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนในเดือน ก.พ.
- นายควาซี กวาร์เต็ง รัฐมนตรีคลังอังกฤษ ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 14 ต.ค. หลังจากที่เขาประกาศมาตรการปรับลดภาษีครั้งใหญ่เมื่อเดือน ก.ย. จนสร้างความปั่นป่วนในตลาดการเงิน ส่งผลให้เงินปอนด์ดิ่งลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เทียบดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนแห่เทขายพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการคลังของรัฐบาล
- จีนเพิ่มมาตรการสกัดโควิด-19 หลังพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการเดินทางในประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดยาว 1 สัปดาห์ ซึ่งทางการจีนได้เพิ่มการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในเซี่ยงไฮ้และเมืองใหญ่อื่น ๆ รวมทั้งขยายเวลาการกักตัว และปิดพื้นที่สาธารณะบางแห่งที่ไวรัสอาจแพร่ระบาดได้
- ตัวเลขภาคบริการจีนเดือน ก.ย. หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการจีนซึ่งจัดทำโดยสถาบันไฉซิน ลดลงสู่ระดับ 49.3 ในเดือน ก.ย. จาก 55.0 ในเดือน ส.ค. เนื่องจากบริษัทในภาคบริการกำลังเผชิญกับภาวะอุปสงค์ที่ซบเซา การผลิตที่หดตัวลง และต้นทุนที่สูงขึ้น แม้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศฟื้นตัวขึ้นก็ตาม
- ลูกค้า Saigon Commercial Bank ของเวียดนามแห่ถอนเงิน หลังมีข่าวว่าธนาคารอาจเกี่ยวข้องกรณีการออกหุ้นกู้โดยใช้ข้อมูลเท็จของผู้บริหารบริษัทอสังหาฯ แห่งหนึ่ง สร้างความกังวลต่อความมั่นคงด้านสภาพคล่องของแบงก์ จนเกิดการแห่ถอนเงิน ซึ่งข่าวดังกล่าวกดดันส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารเวียดนามปรับตัวลดลง และฉุดดัชนี VN30 ปรับตัวลดลง 3.59%
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลงปิดตลาดที่ 85.74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยตลาดถูกกดดันจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น และกลุ่ม OPEC ได้ปรับลดการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันลงอย่างมาก อันเนื่องมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น
- ราคาทองคำปรับตัวลดลงปิดที่ $1,643.83 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยถูกกดดันจากการที่ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้เฟดยังเดินหน้าใช้นโยบายการเงินเข้มงวดต่อไป และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ทำเพิ่มต้นทุนในการถือทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ให้ดอกเบี้ย
- ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 38.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง หนุนให้เฟดยังเดินหน้าใช้นโยบายการเงินเข้มงวดต่อไป
ความเคลื่อนไหวหุ้นสหรัฐสัปดาห์ที่ผ่านมา
กลยุทธ์การลงทุนสัปดาห์นี้
เรามองว่าตลาดยังคงถูกกดดันจากหลายปัจจัยโดยแนวโน้มตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงเป็นขาลงจึงแนะนำลงทุนด้วยความระมัดระวัง
เราแนะนำให้ทะยอยสะสมในกองทุนหุ้นโดยไม่เกินสัดส่วนที่แนะนำ และถือเงินสดบางส่วนเพื่อโอกาสในการลงทุนเพิ่ม ในกรณีที่ดัชนีปรับตัวลงต่อหรือเกิดสัญญาณซื้อทางเทคนิค สำหรับนักลงทุนที่ Fully Invested แล้วแนะนำถือต่อ
สัปดาห์ที่ผ่านมา
พักเงินในกองทุน Short-Term Fixed Income แทนกองทุน MMF และแนะนำลงทุนเพิ่มเพื่อให้สัดส่วนกองทุนอยู่ในระดับที่กำหนด
โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงุทนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับการจัดพอร์ตการลงทุนในแต่ละบุคคล
โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
โปรดติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th
Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน
อ่านบทความย้อนหลังได้ที่