Weekly Highlight 19 SEP 2022 สรุปภาวะตลาดและกลยุทธ์การลงทุนประจำสัปดาห์โดยทีมงาน WCIA Investment Team
Key Takeaways
ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 8.3% เทียบรายปี สูงกว่าที่คาด ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 3.4%
Technical: ตลาดหุ้นสหรัฐฯ รอดูจังหวะ, ดัชนี CSI300 มี downside จำกัด ทะยอยสะสมได้, เวียดนามยังมองเชิงบวก สามารถถือต่อได้, หุ้นไทยพักย่อตัว แนวรับที่ 1,600 จุด, ตลาดอินโดนีเซียวิ่งในกรอบ รอจุดเข้าในจังหวะที่ตลาดย่อแรง, ทองคำยังเป็นขาลง Upside ไม่มาก น้ำมันกำลังทดสอบแนวรับสำคัญ
กลยุทธ์การลงทุนสัปดาห์นี้ : แนะนำการถือเงินสดส่วนหนึ่งไว้รอจังหวังสะสมเพิ่มเติมเมื่อตลาดหุ้นถึงแนวรับสำคัญ หรือมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐวันที่ 21 กันยายนนี้
ธนาคารโลกเตือนเศรษฐกิจโลกเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะถดถอย
ธนาคารโลกระบุในรายงานฉบับใหม่ว่า เศรษฐกิจโลกอาจเผชิญภาวะถดถอยในปีหน้า ซึ่งเกิดจากการใช้นโยบายที่เข้มงวดของธนาคารกลางทั่วโลกที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยเกือบ 4% ในปีหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยในปี 64 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไว้ที่ระดับ 5% – 6% การศึกษาของธนาคารโลกประมาณการว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลกในปี 66 จะชะลอตัวลงเหลือ 0.5% และให้ความเห็นว่านโยบายของรัฐบาลทั่วโลกควรพยายามสร้างการลงทุนเพิ่มเติม ปรับปรุงผลิตภาพและการจัดสรรทุน ซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตและการลดความยากจน
อีกทั้งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ควรใช้นโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ควรเพิ่มความแข็งแกร่งด้านทุนสำรองและดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างรอบคอบในการช่วยเหลือภาคครัวเรือนที่ประสบปัญหาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงในประเทศ
เฟดยังมุ่งมั่นใช้นโยบายการเงินเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 8.3% สูงกว่าคาด โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 8.3% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 8.1% ทั้งนี้ ราคาค่าเช่าบ้านเพิ่มขึ้น 0.7% ขณะที่ราคาอาหาร รถยนต์ใหม่ และค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวปีก่อน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยยอดค้าปลีกในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน จากที่ตลาดคาดว่าจะทรงตัว โดยได้แรงหนุนจากราคาพลังงานที่ลดลง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้น ด้านยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ทรงตัวในเดือน ส.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ค.
สหรัฐฯ มีแผนจะจำกัดส่งออกชิปและเครื่องมือผลิตชิปให้จีน โดยสั่งห้ามบริษัทส่งออกอุปกรณ์สำหรับการผลิตชิปให้กับโรงงานจีนที่ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ล้ำสมัยที่มีการประมวลผลต่ำกว่า 14 นาโนเมตร นอกจากผู้ขายจะได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รวมถึงบริษัท Nvidia และ AMD ด้วย
เศรษฐกิจจีนเริ่มเห็นสัญญาณฟื้น
- ธนาคารกลางจีนคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนที่ระดับ 2.75% เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ทรุดตัวลง
- ธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดเงินกว่า 2 แสนล้านหยวน เป็นระยะเวลา 1 ปี ผ่านโครงการปล่อยเงินกู้ใหม่ เพื่อกระตุ้นธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทต่างๆ ทั้งภาคการผลิตแลบริการ รวมทั้งบริษัทขนาดเล็ก โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.2% นับเป็นมาตรการล่าสุดที่ทางการจีนนำมาใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
- อัตราว่างงานในจีนลดลงสู่ระดับ 5.3% ในเดือน ส.ค. จากระดับ 5.4% ในเดือน ก.ค. ขณะที่ 8 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขการจ้างงานใหม่ในพื้นที่เขตเมืองของจีนอยู่ที่ 8.98 ล้านคน บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของจีนเริ่มฟื้นตัว และสอดคล้องกับข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น 4.2% ในเดือน ส.ค. ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.8%
- อินเดียรายงานเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 7% ในเดือน ส.ค. โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 7% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายปี และเพิ่มจากระดับ 6.71% ในเดือน ก.ค. จากปัจจัยราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ดัชนี CPI ปรับตัวสูงกว่าเป้าของธนาคารกลางอินเดียที่ 6% เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน
อัพเดทตลาดอสังหาฯ จีน
ดัชนีกลุ่มอสังหาฯ จีนใน CSI 300 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 20% จากระดับต่ำสุดในเดือน ส.ค ท่ามกลางรายงานว่าทางการจีนจะยกระดับมาตรการฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนคาดหวังว่าปัญหาดังกล่าวจะถูกหยิบมาพูดถึงในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนหน้า
ราคาบ้านของจีนลดลงอย่างรวดเร็วในเดือนสิงหาคม นับเป็นเดือนที่ 12 ของการลดลง ตอกย้ำว่าการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศอาจใช้เวลานานกว่านั้นมาก แม้จะมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล ตลาดบ้านใหม่มูลค่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ของจีนกำลังแสดงสัญญาณการฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย ยอดขายที่อยู่อาศัยร่วงลงประมาณ 30% ในช่วงแปดเดือนแรกของปี และการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์หดตัวมากกว่า 7%
การว่างงานที่เพิ่มขึ้นและการจำกัด Covid ที่เข้มงวดของจีนก็ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเช่นกัน China Evergrande Group ซึ่งเป็นหนึ่งในนักพัฒนาที่ประสบปัญหามากที่สุดของประเทศ ในสัปดาห์นี้ให้คำมั่นที่จะดำเนินการโครงการที่หยุดชะงักที่เหลืออยู่ภายในสิ้นเดือนนี้
อ่านต่อได้ที่
China Housing: Households Could Cut Property Assets in $18 Trillion Shift – Bloomberg
China Property Stocks Face Headwind Despite Rally, JPMorgan Says – Bloomberg
ตลาดยุโรปยังถูกกดดันจากวิกฤตพลังงาน
- EU เตรียมมาตรการคุมราคาพลังงาน เพื่อบรรเทาวิกฤตก่อนฤดูหนาว โดยจะหักรายได้ส่วนเกินจากบริษัทพลังงานที่ไม่ใช่บริษัทของยุโรป เพื่อระดมทุนให้รัฐบาลใช้ในการลดภาษี ช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือนด้านค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค รวมถึงมีแผนที่จะใช้มาตรการลดการใช้ไฟฟ้าทั่วยุโรป
- อัตราว่างงานอังกฤษเดือน พ.ค. – ก.ค. ต่ำสุดในรอบ 48 ปี อยู่ที่ระดับ 3.6% ลดลงจากระดับ 3.8% ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ตัวเลขการจ้างงานในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 71,000 ตำแหน่ง จากระดับ 77,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. ขณะที่อัตราค่าจ้างปรับตัวขึ้น 5.2% เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากบรรดานายจ้างปรับขึ้นค่าแรงเพื่อดึงดูดและรักษาแรงงาน
- อัตราเงินเฟ้ออังกฤษเดือน ส.ค. ชะลอลง 9.9% ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวลงสู่ระดับ 9.9% ในเดือน ส.ค. ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 10.2% หลังจากราคาเชื้อเพลิงลดลง แต่ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น
สินค้าโภคภัณฑ์ยังถูกกดดันจากการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) เคลื่อนไหวในกรอบและปิดตลาดที่ 85.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ท่ามกลางความกังวลว่าการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางทั่วโลกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันลดลง อย่างไรก็ตามความวิตกเกี่ยวกับอุปทานน้ำมัน หลังรัสเซียขู่ที่จะยกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับประเทศ G7 หากเดินหน้ากำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซียช่วยหนุนราคาน้ำมัน
ราคาทองคำปรับตัวลดลงปิดที่ $1,675.28 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนักลงทุนกังวลที่ว่าเฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. สูงกว่าที่ตลาดคาด และการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ต้นทุนการถือครองทองคำเพิ่มสูงขึ้น
ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 36.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น และธนาคารกลางสหรัฐฯ หนุนให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
Source: Bloomberg / Infoquest / Investing.com / CNBC
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
อ่านบทความก่อนหน้าได้ที่
Market Reaction 14 Sep 22 : มุมมองหลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ (CPI) สูงกว่าคาด – Wealth Certified