บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 ส.ค. – 1 ก.ย. 2566 อัปเดทการประชุมเฟดที่เมืองแจ็คสัน โฮล
งบ Nvidia ไตรมาส 2/2023 จีนประกาศลดภาษีซื้อขายหุ้นเพื่อดึงนักลงทุน
Executive Summary
- ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ฟื้นตัวจากที่ปรับตัวลดลงและจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ชะลอตัวลง หลังปรับตัวเพิ่มขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี ซึ่งกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก อย่างไรก็ดีเฟดยังคงมีมุมมองโทน Hawkish ต่อนโยบายการเงิน รวมถึงนักลงทุนยังกังวลต่อภาคอสังหาฯ จีนที่อาจลุกลามเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังคงกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก
- Special Headlines:
อัปเดทการประชุมเฟดที่เมืองแจ็คสัน โฮล
งบ Nvidia ไตรมาส 2/2023
จีนประกาศลดภาษีซื้อขายหุ้นเพื่อดึงนักลงทุน - มุมมอง:เรามีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม Defensive สหรัฐในระยะกลาง ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากช่วงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังจากนี้ และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia incl. Japan ที่กระจายการลงทุนทั้งใน EM เอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ไทย และตลาดหุ้นเวียดนาม จาก Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับอดีตและเทียบกับตลาดหุ้นฝั่ง DM ขณะที่ตลาดหุ้นจีนทะยอยเข้าซื้อสะสมได้และติดตามสถานการณ์ของทางการจีนในการรับมือต่อภาคอสังหาฯ ที่เป็นประเด็นในขณะนี้ รวมถึงรอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทยอยออกมาหลังจากนี้ ขณะดียวกันตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับมามีความน่าสนใจจาก positive structural change และแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่ง
Weekly Total Asset Return
ที่มา: Koyfin.com data as of 27 Aug 2023, *Annualized returns
Special Headline: อัปเดทการประชุมเฟดที่เมืองแจ็คสัน โฮล
- นายเจอโรม พาวเวลประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวสุทรพจน์ในการประชุมประจำปีของเฟดเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยได้ส่งสัญญาณว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงไปอีกสักระยะและมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม เพื่อกดเงินเฟ้อลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมายท่ามกลางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ยังร้อนแรงจากตลาดจ้างงานที่ตึงตัว ทั้งนี้ตลาดมองว่า เฟดจะยังคงโทน Hawkish ต่อไป ตราบใดที่ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 2%
- นอกจากนี้ประธานเฟดได้เน้นย้ำถึง “ความระมัดระวัง” มากขึ้นในการประชุมครั้งนี้ โดยหัวใจสำคัญของการตัดสินใจใช้นโยบายการเงินหลังจากนี้จะคำนึงถึงการจัดการความเสี่ยงท่ามกลางความไม่แน่นอน สืบเนื่องจากผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่เร็วและแรงในช่วงที่ผ่านมา ด้านนักลงทุนคาดว่าการประชุมนโยบายการเงินในเดือน ก.ย. จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี อย่างไรก็ดีมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือน พ.ย.
ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-08-25/powell-signals-fed-will-raise-rates-if-needed-keep-them-high
https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-08-25/powell-targets-high-or-higher-rate-path-as-economy-picks-up
งบ Nvidia ไตรมาส 2/2023
•กำไรต่อหุ้น: 2.70 ดอลลาร์ต่อหุ้น ดีกว่าตลาดคาด 2.09 ดอลลาร์ตอหุ้น
•กำไร: 6.19 พันล้านดอลลาร์ จาก 656 ล้านดอลลาร์ ไตรมาสเดียวกันปีก่อน
•รายได้: 13.51 พันล้านดอลลาร์ ดีกว่าคาดที่ 11.22 พันล้านดอลลาร์ (โต 101%YoY)
•อัตรากำไรขั้นต้น: ไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเป็น 71.2% จาก 25.3% เนื่องจากการเติบโตของกำไรฝั่งธุรกิจ Data Center ช่วยหนุน Gross Profit โดยรวม
•บริษัทคาดการณ์ว่ายอดขายในไตรมาส 3/23 จะโต 171%YoY ซึ่ง demand สินค้าของ Nvidia มาจากทั่วโลก ทำให้บริษัทมีการกระจายแหล่งรายได้ในระดับดี
•รายได้บริษัทยังคงเติบโตล้อไปกับการเติบโตของ data center cloud และ network infrastructure ของธุรกิจ และการพัฒนา computing และ Generative AI ซึ่งจะยังเป็นเทรนด์ของโลกไปอีกสักพักใหญ่
•ปัจจัยที่กังวลหลังจากนี้ คือ ปัญหาขาดแคลนสินค้า ซึ่ง Nvidia ระบุว่า จะเร่งผลิตสินค้าเพื่อรองรับ demand ที่ขยายตัวอย่างมาก รวมถึงมาตรการกีดกัดสินค้าส่งออก เช่น ชิปขั้นสูงที่ sensitive ต่อความมั่นคงของสหรัฐไปยังจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบในการผลิต
ที่มา: https://www.cnbc.com/2023/08/23/nvidia-nvda-earnings-report-q2-2024.html
https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-08-23/nvidia-gives-rosy-outlook-in-sign-ai-spending-remains-insatiable
จีนประกาศลดภาษีซื้อขายหุ้นเพื่อดึงนักลงทุน
- มีรายงานว่า รัฐบาลจีนได้ประกาศลดภาษีอากรสแตมป์ (stamp duty) สำหรับการซื้อขายหุ้น โดยปรับลดค่าธรรมเนียมซื้อขายลงมาอยูที่ระดับ 0.05% จากเดิมที่ระดับ 0.1% รวมถึงมีการจำกัดการขายหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนที่ราคาหุ้นของบริษัทซื้อขายอยู่ระดับต่ำกว่าราคา IPO และการลดอัตรามาร์จิ้นสำหรับการซื้อขายแบบ leverage ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. เป็นต้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตลาดทุนและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน
- ทั้งนี้มาตรการแบบเดียวกันเคยใช้ในเดือน เม.ย. ปี 2008 ซึ่งลดค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นลงมาอยู่ที่ระดับ 0.1% ซึ่งหนุนให้ดัชนี Shanghai Composite ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.3% ในปีดังกล่าวและปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีถัดมา ด้านนักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์แห่งหนึ่งคาดว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้นจีนราว 250 พันล้านหยวนจากการขายหุ้นของบรรดากองทุน และช่วยคงสภาพคล่องในตลาดหุ้นจีน
Weekly Recap
US
- ประธานเฟด สาขาริชมอนด์หนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อ โดยให้ความเห็นว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และไม่มีสัญญาณว่าจะชะลอตัวลง สิ่งนี้จะหนุนการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป โดยยอดค้าปลีกสหรัฐยังคงแข็งแกร่งกว่าคาดในเดือน ก.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีดตัวขึ้น ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลเพื่อกดเงินเฟ้อสู่เป้าหมาย
- S&P Global ตามรอย Moody’s หั่นเครดิตแบงก์สหรัฐหลายแห่ง โดยได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของแบงก์ Keycorp, Comerica inc, Valley Bank, Umb Bank และ Associated Bank ลง 1 ขั้น จากผลกระทบอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น และความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันต่อแบงก์ขนาดเล็ก รวมถึงการย้ายเงินฝากของตนไปยังบัญชีธนาคารที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า
- สหรัฐเผยยอดขายบ้านใหม่ในเดือน ก.ค. ดีเกินคาด โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.4%MoM สู่ระดับ 714,000 ยูนิต และสูงกว่าตลาดคาดที่ระดับ 703,000 ยูนิต จากระดับ 684,000 ยูนิตในเดือน มิ.ย. และหากเทียบรายปียอดขายบ้านใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 31.5% ขณะที่จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองลดลง 4.2%WoW หลังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ 7.31% จาก 7.16%
- สหรัฐเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.ค. ลดลงมากกว่าคาด โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐปรับตัวลง 5.2%YoY หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.4%YoY ในเดือน มิ.ย. โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการปรับตัวลงแรงที่สุดในรอบกว่า 3 ปี ด้านยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานที่ใช้วัดกิจกรรมการใช้จ่ายของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.1%YoY หลังจากลดลง 0.4%YoY ในเดือนก่อนหน้า
Europe
- เยอรมนีเผยดัชนี PPI เดือน ก.ค. ปรับตัวลงกว่าคาด โดยปรับตัวลดลง 6.0%YoY ขณะที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 5.1%YoY โดยปัจจัยหลักๆ มาจากราคาพลังงานลดลง และเนื่องจากปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อเยอรมนีได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน และหากไม่นับรวมราคาพลังงาน ดัชนี PPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.0%YoY ในเดือน ก.ค.
- เยอรมนีเผย PMI รวมภาคการผลิต-บริการเดือน ส.ค. หดตัวสุดในรอบกว่า 3 ปี โดยปรับตัวลดลงสู่ 44.7 จาก 48.5 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 48.3 จากผลสำรวจของฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ทั้งนี้ดัชนีดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า กิจกรรมของธุรกิจในเยอรมนีหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แล้ว
- สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) รายงานว่า ยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. ลดลง 1.2%MoM แย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 0.5%MoM และลดลง 3.2%YoY เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนของอังกฤษและค่าครองชีพก็เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ยอดขายเสื้อผ้าและอาหารซบเซา นอกจากนี้ยอดขายของในห้างสรรพสินค้าและของใช้ในครัวเรือนปรับตัวลงเช่นกัน
Asia
- สภาพัฒน์เผย GDP ไทยไตรมาส 2/66 โต 1.8% ต่ำกว่าคาด ชะลอลงจาก 2.6% ในไตรมาส 1 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกขยายตัว 2.2% โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวสูงต่อเนื่อง การลงทุน ขยายตัวชะลอลง แต่การใช้จ่ายภาครัฐบาลลดลงต่อเนื่อง ด้านการส่งออกยังคงหดตัว 5.7% ขณะที่ภาคบริการยังขยายตัวสูง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ซึ่งเป็นการตรึงดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 และสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดย BOK พิจารณาถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อที่ขยายตัวในระดับปานกลาง รวมถึงจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ และการส่งออกที่ทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
- ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repurchase rate) ระยะเวลา 7 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.75% พร้อมระบุว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันถือเป็นระดับที่มีเพียงพอที่จะควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายในปีนี้และปีหน้า
- รัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสด แต่รวมเชื้อเพลิงในกรุงโตเกียวปรับตัวขึ้น 2.8%YoY ในเดือน ส.ค. ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.9%YoY และชะลอตัวลงจากเดือน ก.ค. ที่ปรับตัวขั้น 3%YoY แต่ตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 15 เดือน
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลงปิดที่ 80.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังมีรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่มากกว่าคาด สร้างความกังวลต่อความอ่อนแอของอุปสงค์พลังงานในสหรัฐ และการชะลอตัวของกิจกรรมในภาคการผลิตของหลายประเทศ ขณะเดียวกันอิหร่านวางแผนที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันสู่ระดับ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังความพยายามที่จะฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐ ซึ่งช่วยหักล้างกับการผลิตน้ำมันที่ลดลงของซาอุดิอาระเบีย รวมถึงถูกกดดันจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า
- ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ $1,917.41 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ฟื้นตัวหลังจากที่ราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีราคาทองคำถูกปัจจัยกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในช่วงนี้
- ค่าเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยปิดที่ 35.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยได้ผ่านการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย
ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มา: Tradingview.com as of 27 August 2023
จัดอันดับกองทุน
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา: AspenRTD, data as of 27 August 2023
โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล
โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th
Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน
อ่านบทความย้อนหลังได้ที่
https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-21-august-2023/
https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/
Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันของเอกสารฉบับนี้ รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการขาดทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น
เอกสารการลงทุนฉบับนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการแนะนำการลงทุน และอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในบริษัท (internal use only) เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ทั่วไป กรณีที่มีการนำเอกสารนี้ไปเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไป และไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้เอกสารฉบับนี้ บริษัทมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางด้านกฎหมายได้ทันที