ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

Cover

WCIA Weekly Highlight

22/11/2022

WCIA Weekly Highlight บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 – 25 พฤศจิกายน 2565

WCIA Weekly Key Takeaways

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง หลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สนับสนุนเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันตลาดกังวลต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสหน้า หลังจากที่หลายบริษัทลดการคาดการณ์กำไรลงจากก่อนหน้านี้ รวมถึงแผนการปรับลดการจ้างงาน
  • Special Headlines : อัพเดทตลาดหุ้นเวียดนาม
  • Technical : ตลาดหุ้นส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในกรอบ รอปัจจัยใหม่มาหนุน ขณะที่ดัชนี CSI300 ยังมี upside กว้างให้เข้าลงทุน ตลาดเวียดนามทะยอยสะสมได้ หุ้นไทยมีแนวต้านที่ 1,650 จุด ตลาดอินโดนีเซียยังเป็นเทรนด์ขาขึ้น ทองคำรอรับแถว 1,700 น้ำมันมีแนวรับบริเวณ 76-78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
  • กลยุทธ์การลงทุนสัปดาห์นี้ : แนะนำการถือตามสัดส่วนพอร์ตการลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่แนะนำ
  • กลุ่มกองทุนที่มี Momentum ดีในการลงทุนสั้น: Europe EQ, Thai EQ, Japan EQ, India EQ,
  • กองทุนแนะนำให้ทยอยสะสมเพื่อการลงทุนยาว: Global EQ (tech), China EQ, Vietnam EQ (รอการฟื้นตัว)

Performance by Asset Classes

Source: Koyfin.com data as of 20 Nov 2022, *Annualized returns
Source: Koyfin.com data as of 20 Nov 2022, *Annualized returns

WCIA Weekly : Special Headlines

อัพเดทตลาดหุ้นเวียดนาม

ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 65 โดยลดลงราว 37% ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยที่กดดันต่อตลาดหุ้นเวียดนาม โดยมีรายละเอียดดังนี้:

  1. ความกังวลด้านสภาพคล่องของระบบธนาคารและสภาพคล่องในตลาดหุ้น ที่มาจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น หลังธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1% จาก 5% มาอยู่ที่ระดับ 6% และการถูก Force Sell ของนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อหุ้นโดยใช้บัญชีกู้ยืม ซึ่งนักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นเวียดนามมีสัดส่วนที่สูงถึง 90% ของนักลงทุนทั้งหมด
  2. จากการควบรวมตลาดหุ้นโฮจิมินห์เข้ากับตลาดหุ้นฮานอย ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นโฮจิมินห์ อาจถูกถอดออกจากการเป็นสมาชิกสหพันธ์ตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (WFE) ส่งผลให้นักลงทุนสถาบันต่างชาติไม่สามารถเข้าลงทุนในตลาดหุ้นโฮจิมินห์ตามข้อระเบียบของกองทุนต่างชาติได้
  3. จากความกังวลในตลาดตราสารหนี้และตลาดสินเชื่อ จากการทุจริตของบริษัทอสังหาฯ แห่งหนึ่ง ที่นำเงินจากการระดมทุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจลามไปถึงธนาคารที่เกี่ยวข้องและเป็นสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักที่สูงในตลาดหุ้นเวียดนาม

โดยสถานการณ์ล่าสุด

> นายกเวียดนามเร่งให้ธนาคารพาณิชย์ เพิ่มวงเงินสินเชื่อ จัดการกับวิกฤตที่เพิ่มขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ เนื่องจากบริษัทอสังหาฯ ประสบปัญหาในการได้รับเงินทุนสำหรับโครงการต่างๆ

> ตลาดหลักทรัพย์เวียดนามยืนยันว่า ตลาดหุ้นโฮจิมินห์ ยังเป็นสมาชิก WFE ในระหว่างการควบรวมตลาด และได้จ่ายค่าสมาชิก WFE สำหรับปี 65 เป็นที่เรียบร้อย

Source: Bloomberg

อ่านรายละเเพิ่มเติมได้ที่

Vietnam PM Asks Banks to Weigh Increasing Loan Limits for Economic Growth – Bloomberg

Vietnam Stocks Tumble by Most Since April, Extending Rout – Bloomberg

WCIA Weekly Recap ข่าวสำคัญรอบโลกในช่วงที่ผ่านมา

สหรัฐอเมริกา

  • FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 19% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 15% อย่างไรก็ดี นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งนี้
  • นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ออกมาให้ความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังไม่ได้อยู่ในกรอบที่จะลดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ซึ่งกรอบอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับคุมเข้มอย่างมีประสิทธิภาพก็คือ 5% – 7%
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไป (PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 8.0%YoY และ 0.2%MoM ในเดือน ต.ค. ต่ำกว่าคาดที่ 8.3%YoY และ 0.2%MoM ด้านดัชนี PPI พื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.4%YoY ซึ่งชะลอตัวจาก 5.6% ในเดือน ก.ย.
  • นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดแอตแลนตาสนับสนุนให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่า 0.75% ในเดือน ต.ค. หากเป็นไปตามที่นาย บอสติกแนะนำ ดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะอยู่ที่กรอบ 4.75% – 5% ซึ่งต่ำกว่ากรอบที่ตลาดคาดไว้ที่ 5%-5.25% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่กรอบ 3.75% – 4%

ยุโรป

  • นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เผยว่า ECB จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอาจถึงขั้นต้องบั่นทอนกิจกรรมเศรษฐกิจ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยชี้ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้นถือเป็นเครื่องมือสำคัญของ ECB เหนือการลดบัญชีงบดุลที่ปัจจุบันอยู่ที่ 5 ล้านล้านยูโร
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ของอังกฤษรายงานว่า อัตราว่างงานปรับตัวขึ้นแตะ 3.6% ในเดือน ก.ค.-ก.ย. ขณะที่ตำแหน่งเปิดรับสมัครงานลดลงในการรายงาน 5 ครั้งติดต่อกัน เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ วิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ
  • อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 41 ปี ที่ 11.1% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยสูงกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากราคาอาหาร การขนส่ง และพลังงาน ด้านธนาคารกลางอังกฤษ ระบุว่า อังกฤษกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ และกำลังพยายามคุมเข้มนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่ตัวเลข CPI ฝั่งยุโรปในเดือน ต.ค. ยังคงเพิ่มขึ้น 10.6% เทียบกับ 9.9% ในเดือนก่อน

เอเชีย

  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ย่ำแย่ลง ในเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ซึ่งรวมถึงเมืองกว่างโจว กรุงปักกิ่ง เมืองฉงชิ่ง และมณฑลซินเจียง ซึ่งนักลงทุนกังวลว่าทางการจีนจะใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวด ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
  • แบงก์ชาติจีนคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นดอกเบี้ยนโยบายของจีนที่ 2.75% และส่งสัญญาณว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี  (LPR) ประเภท 1 ปีที่ระดับ 3.65% ขณะเดียวกัน PBOC ได้อัดฉีดสภาพคล่องมูลค่า 8.50 แสนล้านหยวนเข้าสู่ระบบการเงิน
  • หุ้นอสังหาจีน ปรับตัวขึ้นแรง หลังรัฐบาลจีนประกาศแผนแก้ปัญหาวิกฤตตลาดอสังหาฯ โดยทางการเผยแผน 16 ประการในการฟื้นฟูภาคอสังหาฯ ซึ่งให้ผู้ปล่อยสินเชื่อสนับสนุนบริษัทอสังหาฯ ที่มุ่งความสนใจไปยังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่แท้จริงและมีการจัดการองค์กรที่ดี รวมถึงสินเชื่อพิเศษเพื่อโครงการที่หยุดชะงักให้ดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์
  • ฮ่องกงไฟเขียวนักท่องเที่ยวเข้าสถานที่ต่างๆ ได้แต่ต้องใส่แมสก์เริ่ม 17 พ.ย. โดยทางการฮ่องกงจะผ่อนคลายข้อจำกัดในการควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อให้ผู้ที่เดินทางมายังฮ่องกงสามารถเข้าเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ได้ เช่น สวนสนุก ศูนย์แสดงนิทรรศการ ทั้งนี้ผู้ที่เดินทางเข้าฮ่องกงจะต้องอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังทางการแพทย์เป็นเวลา 3 วัน

สินค้าโภคภัณฑ์

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลงกว่า 4% โดยราคาปิดสิ้นสัปดาห์อยู่ที่ 85.14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากที่ตลาดถูกกดดันจากความกังวลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันลดลง รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
  • รัสเซียเริ่มกลับมาลำเลียงน้ำมันผ่านทางท่อส่ง Druzhba ไปยังฮังการีแล้วหลังจากที่ถูกระงับก่อนหน้านี้เนื่องจากปัญหาทางเทคนิค
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงที่ $1,770.37 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีแรงขายทำกำไร หลังราคาทองคำปรับหลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 8% ตั้งแต่ต้นเดือนนี้ขณะเดียวกันตลาดทองคำได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการคาดการณ์ว่าเฟดยังเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  • ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 35.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยยังมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่องตามสกลุเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ค่าเงินสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากตัวเลขเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัวลงและจากมุมมองทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของประเทศที่น่าจะดึงดูด fundflow ให้เข้ามาได้มากขึ้น แม้ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรต่อเนื่อง และประเมินกรอบเงินบาทในต้นสัปดาห์ที่ 35.60 – 35.85 บาทต่อดอลลาร์

ความเคลื่อนไหวหุ้นสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา

Source : TradingView

จัดอันดับกองทุนพักเงิน Money Market Fund และ Short Term Fixed Income Fund

Source : AspenRTD data as of 20 Nov 2022

กลยุทธ์การลงทุนประจำสัปดาห์นี้

แนะนำถือตามสัดส่วนที่แนะนำตามพอร์ตแต่ละความเสี่ยง ในสัปดาห์นี้เรามองว่าดัชนีมีโอกาสปรับฐานหรืออยู่ในภาวะทรงตัว หลังจากปรับขึ้นมาในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อน

กองทุนแนะนำให้ทยอยสะสมเพื่อการลงทุนยาว
Global EQ (tech), China EQ, Vietnam EQ

กองทุนเฝ้าระวัง กองทุน non-hedged (USD อ่อนค่า), Vietnam EQ (รองบประกาศ)

Aggressive Portfolio

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงุทนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับการจัดพอร์ตการลงทุนในแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

WCIA Weekly Highlight – Wealth Certified

Monthly Insight NOV22 – Wealth Certified

Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน ของเอกสารฉบับนี้รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการลงทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น

เอกสารฉบับนี้ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปและไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมดโดยปราศจากความเห็นชอบและอนุญาตจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด

You cannot copy content of this page