ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Weekly Highlight 20 February 23

20/02/2023

WCIA Weekly Highlight บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ 2566 ติดตามตัวเลขเงินเฟ้อและรายงานยอดค้าปลีกล่าสุดของสหรัฐ ในเดือนที่ผ่านมา

Executive Summary

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน ม.ค. ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแตะระดับ 3.82% และดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า ทำให้ sentiment การลงทุนในสินทรัพย์ เสี่ยงอึมครึมในสัปดาห์ที่ผ่านมา
  • Special Headlines: เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 66 และรายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ม.ค.
  • Technical: คาดว่าสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากที่ตลาดได้ price in การเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดค่อนข้างมากแล้ว ขณะที่ตลาดหุ้นจีนและเวียดนามเรายังมีมุมมองเชิงบวกในระยะกลางถึงยาวทยอยสะสมได้ หุ้นไทยปรับกรอบแนวต้านลงมาที่ 1,675 จุด และแนวรับที่ 1,620 จุด ทองคำและน้ำมันทยอยสะสมได้
  • กลยุทธ์การลงทุนสัปดาห์นี้: คงสัดส่วนการลงทุนหลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาเราแนะนำเราแนะนำการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุน Healthcare โดยลดสัดส่วนตราสารหนี้ระยะสั้นลง

Weekly Asset Total Return

Source: Koyfin.com data as of 19 Feb 2023, *Annualized returns

SPECIAL HEADLINE: เงินเฟ้อสหรัฐฯเดือน ม.ค. 66

  • ดัชนีการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐฯ (CPI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.4%YoY สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 6.2%YoY และปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5%MoM สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4%MoM โดยข้อมูลบ่งชี้ว่าราคาในบางสินค้า อาทิ พลังงานและเครื่องนุ่งห่มเริ่มตึงตัว จากที่ปรับตัวลดลงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผลมาจากต้นทุนที่ลดลง
  • ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 65 ทันที และดัชนี Down Jones และ S&P 500 ปรับตัวลดลงหลังจากรายงานตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าว โดยบรรดานักเก็งกำไรปรับมุมมองการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ว่าอาจจะปรับถึงเพิ่มขึ้น 3 ครั้ง ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. โดยให้น้ำหนัก 50% ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเดือน มิ.ย.
  • ทั้งนี้เรื่องที่เฟดให้ความสำคัญในการติตามเงินเฟ้อ คือ ต้นทุนในส่วนของภาคบริการ ที่ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัยและราคาพลังงาน ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตของประชาชน เช่น ค่าตัดผมไปจนถึงค่าสมาชิกฟิตเนต โดยปัจจัยหลักๆ ที่หนุนให้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้สูงขึ้น มาจากอัตราค่าจ้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการจ้างงานที่ตึงตัวในสหรัฐฯ

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-02-14/inflation-digs-in-at-start-of-2023-points-to-longer-fed-fight

รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ม.ค.

  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดค้าปลีกในเดือน ม.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3%YoY สูงสุดนับแต่แต่เดือน มี.ค. 2564 โดยยอดค้าปลีก 13 หมวดสินค้าทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยหมวดยานยนต์ ร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ และร้านอาหาร ซึ่งถูกนับเป็นหมวดฝั่งภาคบริภาคเพียงหมวดเดียวปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.2%YoY ในเดือน ม.ค.
  • โดยการใช้จ่ายของชาวอเมริกันที่แข็งแกร่งนี้ มาจากภาวะการจ้างงานในสหรัฐฯ ที่ยังคงตึงตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟดให้ความสำคัญในการประเมินเงินเฟ้อ ทั้งนี้เศรษฐกิจภาพรวมของสหรัฐฯ ในระยะสั้นยังคงดูสดใส เนื่องจากยังได้ปัจจัยหนุนจากตัวเลขการผลิตของโรงงานในเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 1.0% หลังจากที่ลดลง 1.8% ในเดือน ธ.ค. 65 และดัชนีความเชื่อมั่นของบรรดาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.พ. ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด
  • จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาแข็งแกร่งในเดือนแรกของปี ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถเลื่อนภาวะถดถอยได้ในครึ่งปีแรก แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดในครึ่งปีหลัง ทั้งนี้คำถามที่สำคัญคือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งนี้จะเป็นแค่ช่วงระยะสั้นๆ หรือไม่ เป็นสิ่งที่ตลาดต้องติดตามต่อไป

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-02-15/us-economy-keeps-charging-ahead-adding-pressure-on-fed-to-hike?srnd=markets-vp

WCIA Weekly Recap

ตลาดสหรัฐฯ กังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุก หลังเงินเฟ้อยังสูงกว่าที่คาด

  • สหรัฐฯ เผยดัชนี PPI ในเดือน ม.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาด โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิตในเดือน ม.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.0%YoY สูงกว่าตลาดคาดว่าจะเพิ่ม 5.4%YoY และปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7%MoM สูงกว่าคาดว่าจะเพิ่ม 0.4%MoM ด้าน PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 4.5%YoY
  • สหรัฐฯ เผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่าคาด โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 194,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ราย ขณะเดียวกันจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานคงค้างเพิ่มขึ้น 16,000 ราย สู่ระดับ 1.696 ล้านราย
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาแอตแลนตาเปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว 2.5% ในไตรมาส 1/66 ขณะที่ทั้งปี 2565 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวที่ 2.1% โดยเฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 24 ก.พ.
  • ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกปรับตัวลดลงสู่ระดับ -24.3 ในเดือน ก.พ. ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ -7.4 จากระดับ -8.9 ในเดือน ม.ค. โดยดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตในภูมิภาคยังอยู่ในภาวะหดตัว จากกิจกรรมทางการผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลง

ตลาดยุโรปยังสดใส จากงบบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาดและอนิสงค์จีนเปิดประเทศ

  • EU คุมเข้มกฎระเบียบคอนเทนต์ออนไลน์ กระทบบริษัทแพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่ โดยกำหนดให้บริษัทที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 45 ล้านราย ซึ่งนับเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่ ต้องปฏิบัติตามข้อผูกมัดต่างๆ เช่น บริหารความเสี่ยงและการตรวจสอบบัญชีแบบภายนอกและอิสระ รวมถึงต้องแบ่งปันข้อมูลกับทางการและนักวิจัย เป็นต้น
  • เงินเฟ้ออังกฤษเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวติดต่อกันเดือนที่ 3 โดยเพิ่มขึ้น 10.1%YoY ในเดือน ม.ค. ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 10.5%YoY ซึ่งเป็นการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่แตะระดับสูงสุดในรอบ 41 ปีที่ 11.1% ในเดือน ต.ค. 65 อย่างไรก็ตามราคาอาหารและพลังงานที่อยู่ในระดับสูงยังคงสร้างแรงกดดันต่อภาคครัวเรือนอังกฤษอย่างต่อเนื่อง
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษรายงานว่า ยอดค้าปลีกของอังกฤษเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 0.5%MoM สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 0.3%MoM จากยอดขายเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงการปรับตัวลงของราคาพลังงานและการลดราคาช่วยกระตุ้นยอดขายสำหรับผู้ค้าปลีกออนไลน์

ตลาดหุ้นเอเชียถูกกดดันจากความกังวลความขัดแย้งจีน – สหรัฐฯ กลับมาปะทุ

  • ตลาดหุ้นเอเชียภาพรวมปรับตัวลดลงจากความกังวลที่ทางการจีนออกมาเตือนว่า จะตอบโต้สหรัฐฯ กรณีละเมิดอำนาจอธิปไตยจีน ซึ่งอาจทำให้ข้อพิพาทกรณีบอลลูนสอดแนมกลับมาเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นในระยะนี้
  • แบงก์ชาติในเอเชียแห่เพิ่มทุนสำรอง จากแนวโน้มดอลลาร์แข็งค่ารับเฟดขึ้นดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางอินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศอาเซียนได้เพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศตั้งแต่เดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งการเพิ่มทุนสำรองจะช่วยให้ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียสามารถรับมือกับเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่า หลังจากคาดว่าเฟดจะใช้นโยบายเชิงรุกต่อไป
  • GDP ไตรมาส 4/65 ญี่ปุ่นโตต่ำกว่าคาด โดย GDP ญี่ปุ่นในไตรมาส 4/65 ขยายตัว 0.6%YoY ต่ำกว่าคาดว่าจะขยายตัว 2.0%YoY แต่ดีกว่าในไตรมาส 3/65 ที่หดตัวลง 0.8%YoY โดยได้ปัจจัยหนุนส่วนหนึ่งจากการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนที่ฟื้นตัว รวมทั้งโครงการอุดหนุนด้านการเดินทางท่องเที่ยวที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคบริการ
  • GDP ไตรมาส 4/65 ไทยขยายตัว 1.4%YoY ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของสำนักวิจัยส่วนใหญ่ ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 4.6%YoY ในไตรมาส 3/65 เป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกไปประเทศจีนลดลง 6.9% และญี่ปุ่นลดลง 4.6% เกาหลีใต้หดตัว 10% ไต้หวันหดตัว 8.6% โดยประเทศเหล่านี้เป็นห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่เชื่อมโยงกับไทย ทำให้มูลค่าส่งออกของไทยโดยรวมลดลง 7.5% ในไตรมส 4/65 นอกจากนี้ความเสี่ยงสำคัญคือ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเทียบกับ GDP ที่ยังทรงตัวในระดับสูงกว่า 80% โดยเฉพาะในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ปัจจัยเสี่ยงนี้ยิ่งมีความอ่อนไหวสูงมาก

สินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลง จากความกังวลว่าเฟดเดินหน้านโยบายเชิงรุก

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลงปิดตลาดที่ 76.38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง เป็นผลมาจากธนาคารกลางทั่วโลกปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และจากตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบที่สูงเกินคาดของสหรัฐฯ รวมถึงการแข็งค่าของเงินดอลลาร์กดดันราคาทองคำ
  • ซาอุดิอาระเบียยืนยันการปรับลดกำลังการผลิตของ OPEC+ จะบังคับใช้ถึงสิ้นปี โดยก่อนหน้านี้ OPEC+ ได้บรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ต.ค. 65 พร้อมกล่าวว่าไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินธนาคารกลางทั่วโลก
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงปิดที่ $1,841.98 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง จากที่ตลาดคาดว่าเฟดจะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินเชิงรุกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและคงอัตราดอกเบี้ยระดังสูงยาวนานกว่าที่ตลาดคาดการณ์
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าปิดตลาดที่ 34.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่นักลงทุนคาดว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนออกมาน่าผิดหวัง อีกทั้งช่วงปลายสัปดาห์สภาพัฒน์ได้ประกาศตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 4/65 ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ เนื่องจากภาคการส่งออกที่หดตัว ทำให้มีแรงขายเงินบาทเพื่อกลับมาซื้อเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว

ความเคลื่อนไหวหุ้นสหรัฐในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

Source: TradingView 19 FEB 2023

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

Source : AspenRTD data as of 19 FEB 2023

กลยุทธ์การลงทุนสัปดาห์นี้

คงสัดส่วนการลงทุนหลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาเราแนะนำเราแนะนำการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุน Healthcare โดยลดสัดส่วนตราสารหนี้ระยะสั้นลง

ตัวอย่าง Aggressive Portfolio

สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับการจัดพอร์ตการลงทุนในแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

WCIA Monthly Insight February 2023 – Wealth Certified

2023 Investment Outlook – Wealth Certified

Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน ของเอกสารฉบับนี้รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการลงทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น

เอกสารฉบับนี้ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปและไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมดโดยปราศจากความเห็นชอบและอนุญาตจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด

You cannot copy content of this page