ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Weekly Highlight 15 May 23

15/05/2023

WCIA Weekly Highlight บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 15-19 พฤษภาคม 2566
อัปเดทเงินเฟ้อสหรัฐเดือน เม.ย. BoE ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน พ.ค. และอัปเดทการเลือกตั้งไทย ปี 2566

EXECUTIVE SUMMARY

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกปิดผสมผสาน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐ หลังจากการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐและผู้นำสภาคองเกรสยังไม่มีความคืบหน้า และถูกกดันจากหุ้นกลุ่มพลังงานหลังราคาน้ำมันร่วงลงแรง ขณะเดียวกันดัชนี Nasdaq ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังงบไตรมาส 1/66 ของบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ต่ำกว่าที่ตลาดคาด
  • Special Headlines: อัปเดทเงินเฟ้อสหรัฐเดือน เม.ย. BoE ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน พ.ค. และอัปเดทการเลือกตั้งไทย ปี 2566
  • มุมมอง: คาดว่าสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐและยุโรปยังคงได้รับปัจจัยกดดันในเรื่องการเจรจาการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ ขณะเดียวกันเรามองว่าตลาดหุ้นจีนมี downside จำกัดแล้วและมีปัจจัยบวกจากธนาคารกลางจีนสนับสนุน sentimentการลงทุนมองว่าจังหวะนี้เป็นโอกาสเก็บสะสมหุ้นจีน รวมถึงเวียดนามเริ่มเห็นโมเม็นตัมที่ดีในสัปดาห์ที่ผ่านมา แนะนำทะยอยสะสมได้ ด้านตลาดหุ้นไทยให้รอดูความชัดเจนเรื่องการเมืองและนโยบายของรัฐบาลใหม่ หากดัชนีปรับตัวลงที่ระดับ 1,520-1,530 จุด เป็นจุดน่าสนใจสะสม
  • กลยุทธ์การลงทุนสัปดาห์นี้: คงสัดส่วนตามพอร์ตการลงทุนตามที่แนะนำโดยสัปดาห์ โดยมีการโดยปรับ Fund Universe ล่าสุด มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้
    – กองทุนประเภทหุ้นไทย  จาก TSF-A เป็น ABSM
    – กองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ จาก B-ASIA เป็น K-ASIA
    – กองทุนทองคำ (Aggressive) จาก SCBGOLDH เป็น TMBGOLD

Weekly Total Asset Class Return

Source: Koyfin.com data as of 14 May 2023, *Annualized returns

SPECIAL HEADLINE: อัพเดทเงินเฟ้อสหรัฐเดือน เม.ย.

  • สหรัฐรายงานดัชนีราคผู้บริโภคทั่วไป (CPI ทั่วไป) เพิ่มขึ้น 4.9%YoY ซึ่งเป็นตัวชี้วัดภาวะเงินเฟ้อ และทำระดับต่ำกว่า 5% ครั้งแรกในรอบ 2 ปี และต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.0%YoY ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CPI พื้นฐาน) ด้านดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 5.5%YoY สอดคล้องกับที่ตลาดคาดและชะลอจากระดับ 5.6%YoY ในเดือน มี.ค.
  • ด้านค่าเช่าที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในฝั่งดัชนีราคาภาคบริการและคิดเป็น 1 ใน 3 ของดัชนีราคารวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4%MoM เป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่น้อยที่สุดในรอบปี ขณะที่ค่าตั๋วสายการบินและโรงแรม รวมถึงราคารถยนต์ปรับตัวลดลง
  • ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิ.ย. ซึ่งหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยของเฟดได้แตะระดับสูงสุดแล้ว ณ ขณะนี้ที่ระดับ 5.0-5.25% อีกทั้งตัวชี้วัดที่เรียกว่า Supercore CPI ซึ่งเป็นเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่นับรวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย และเป็นตัวสะท้อนถึงการจับจ่ายของประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะตลาดจ้างงานอย่างมีนัยสำคัญได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ซึ่งตลาดหุ้นตอบรับตัวเลขดังกล่าวในเชิงบวก

ที่มา: https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2023-05-12/bank-of-england-makes-progress-on-inflation-but-will-need-some-help

BoE ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน พ.ค.

  • ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 4.5% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ขณะที่ตลาดเฝ้าดูว่า BoE จะส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยตามเฟดหรือไม่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากเงินเฟ้อในอังกฤษยังคงอยู่ในระดับที่สูงและภาวะตลาดจ้างงานปัจจุบันยังคงเปิดช่องให้ BoE เดินหน้าใช้นโยบายเข้มงวดต่อไป ด้านตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของอังกฤษจะทำจุดสูงสุดที่ระดับ 5% ในการประชุมเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นทำนองเดียวกันกับทางฝั่ง ECB ที่ออกมาระบุว่าเดือน ก.ย. จะเป็นเดือนชี้วัดว่า ECB จะตัดสินใจยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นหรือไม่
  • ทั้งนี้ตัวเลขเงินเฟ้อของอังกฤษเดือน มี.ค. อยู่ที่ระดับ 10.1% ซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่สูงมากและคาดว่าจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 4% สิ้นปีนี้ จากแรงกดดันของราคาพลังงานที่ลดลง แม้ว่าราคาอาหารยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ BoE ได้ระบุว่า จากการประเมินภาพรวมของเศรษฐกิจอังกฤษยังคงแข็งแกร่งที่จะเลี่ยงภาวะถดถอยได้และมีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากนี้

ที่มา: https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2023-05-12/bank-of-england-makes-progress-on-inflation-but-will-need-some-help

https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-05-10/expected-boe-rate-hike-could-set-stage-for-pause-decision-guide

อัปเดทการเลือกตั้งไทย ปี 2566

  • ผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ที่นับคะแนนแล้วเกือบ 100% ชี้ว่า พรรคก้าวไกลชนะที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 151 ที่นั่ง โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุว่า จะมุ่งจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย ที่ได้ที่นั่งเป็นอันดับ 2 จำนวน 141 ที่นั่ง อย่างไรก็ตามยังมี ส.ว. 250 คนที่มาจากกระบวนการคัดสรรของ คสช. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการลงมติเลือกนายกฯ และภายใต้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดว่า การเลือกนายกฯ ต้องจบภายในเมื่อไร หากยังตกลง-ต่อรองกันไม่ลงตัว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการโหวตเลือกนายกฯ หลายรอบ และส่งผลให้ พล.อ. ประยุทธ์ ต้องนั่งรักษาการนายกฯ ไปเรื่อย ๆ

นโยบายเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล

• ปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า

• เพิ่มจำนวนใบอนุญาตธนาคารเสมือนจริงแห่งยุคดิจิทัล (Virtual Bank) อย่างน้อย 3 เท่า

• ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มต้นทันทีวันละ 450 บาท

• ลดค่าไฟให้ประชาชนอย่างน้อย 70 สตางค์ต่อหน่วย

• ผู้ประกอบการ SME ได้ทุนตั้งตัว 200,000 รายต่อปี “หวยใบเสร็จ” ซื้อสินค้าจาก SME ลุ้นได้เงินล้าน

• ส่งเสริมและยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-การท่องเที่ยวสีเขียว

• ปลดล็อกผู้ประกอบการรายย่อยด้านการท่องเที่ยว

• เปลี่ยนกระทรวงวัฒนธรรม เป็น กระทรวงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสร้างสรรค์

• คุ้มครองเสรีภาพทางศิลปะ ยกเลิกการเซ็นเซอร์/กองทุนภาพยนตร์ สนับสนุนผู้ผลิตหนังหน้าใหม่

• อาชีพให้บริการทางเพศถูกกฎหมาย ปลดล็อกเซ็กซ์ทอย และหนังผู้ใหญ่

• คาสิโนถูกกฎหมาย-คาสิโนออนไลน์ถูกกฎหมาย รัฐกำกับดูแล

ที่มา: https://www.bbc.com/thai/articles/c9rxwdwezz7o

https://www.bbc.com/thai/thailand-65307789

WEEKLY RECAP

ตลาดหุ้นสหรัฐทรงตัว ตลาดกังวลการเจรจาเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ

  • สหรัฐเผยดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 2.3%YoY เดือน เม.ย. ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.4%YoY ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 64 และปรับเพิ่มขึ้น 0.2%MoM โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 3.2%YoY ในเดือน เม.ย. ต่ำกว่าคาดที่ระดับ 3.3%YoY
  • IMF เตือนสหรัฐผิดนัดชำระหนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก และจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยดีดตัวสูงขึ้น ด้านโฆษกของ IMF กล่าวว่า ขณะนี้ IMF ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่ชัดเจนจากการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐและเรียกร้องให้สหรัฐจับตาความเปราะบางในภาคธนาคาร ขณะเดียวกันได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโต 2.8% ในปีนี้
  • ประธานเฟดนิวยอร์กกล่าว เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อไม่ปรับตัวลง พร้อมระบุว่า ยังมองไม่เห็นเหตุผลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในภาคธนาคาร และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ การจ้างงานและตัวเลขเงินเฟ้อ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ประกอบในการพิจารณาแนวโน้มนโยบายอัตราดอกเบี้ย
  • เฟดเผยแบบจำลองบ่งชี้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.7% ในไตรมาส 2/66 จากแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ของเฟด สาขาแอดแลนตา หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1/66 ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัวที่ 2% และเฟดจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 16 พ.ค.

ตลาดหุ้นยุโรปปิดในแดนลบ ขณะที่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นยังไม่มีสัญญาณยุติ

  • ECB ส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ รับมือเงินเฟ้อสูง โดยนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลว่า ขณะนี้ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้นได้ในอนาคต ซึ่ง ECB ต้องใส่ใจกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น และพร้อมกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นไม่ได้อยู่ในการคาดการณ์พื้นฐานสำหรับปี 2566 ของ ECB
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนีเปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 3.4%MoM ในเดือน มี.ค. ต่ำกว่าตลาดคาดว่าจะลดลง 1.3%MoM หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน ด้านการผลิตรถยนต์ของเยอรมนีปรับตัวลง 6.5%Mom ในเดือน มี.ค. ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อในเดือน มี.ค. ลดลง 10.7%MoM อย่างไรก็ดีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 1/66 เพิ่มขึ้น 2.5%QoQ ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะมีการขยายตัวเพียง 2.8% ในปีนี้ ลดลงจากที่เติบโตในระดับ 3.4% ในปีที่แล้ว

ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลง ถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีน

  • ส่งออกจีนเดือน เม.ย. สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 8.5%YoY มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 6.4%YoY แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอจากเดือน มี.ค. ที่โตถึง 14.8%YoY ขณะที่ยอดนำเข้าเดือน เม.ย. ปรับตัวลง 7.9%YoY ซึ่งปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจากที่ลดลง 1.4%YoY ในเดือน มี.ค. และแย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลงเพียง 0.1%YoY
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน เม.ย. ขยับขึ้นเพียง 0.1%YoY และต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4%YoY และเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 2 ปีหรือนับตั้งแต่ต้นปี 2564 ด้านดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน เดือน เม.ย. ปรับตัวลง 3.6%YoY แย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 3.2%YoY  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจในภาคโรงงานและหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจของจีนยังคงเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก แม้ว่ารัฐบาลจีนได้ยกเลิกนโยบาย Covid Zero ในเดือน ธ.ค. ปีที่ผ่านมาก็ตาม
  • ฮ่องกงเผยเศรษฐกิจขยายตัว 2.7%YoY ในไตรมาส 1/66 จากที่หดตัว 4.1%YoY ในไตรมาส 4/65 ถือเป็นการขยายตัวไตรมาสแรก หลังหดตัวติดต่อกัน 4 ไตรมาส โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในฮ่องกง และจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลง จากกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีน

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลงหลุด 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน โดยนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และข้อมูลเศรษฐกิจการค้าที่อ่อนแอของจีนและดัชนีความเชื่อของผู้บริโภคสหรัฐ รวมถึงสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันที่แนวโน้มชะลอตัว
  • ราคาทองคำปรับตัวลงเล็กน้อยที่ $2,017.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกกดดันจากดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่นักลงทุนจับตาความคืบหน้าการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ สร้างความกังวลต่อตลาดและช่วยหนุนราคาทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงยามเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าปิดตลาดที่ 33.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อในตลาดตราสารหนี้ไทย ขณะที่ตลาดการเงินเฝ้าจับตาการหารือเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องปรับลดงบประมาณรายจ่าย โดยข้อเสนอดังกล่าวปธน.ไบเดนยังไม่ยอมรับ โดยยืนยันว่าการเพิ่มเพดานหนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเจรจาต่อรองได้

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

Source: Tradingview, data as of 14 May 2023

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

ที่มา: AspenRTD, data as of 14 May 2023

กลยุทธ์การลงทุนในสัปดาห์นี้

คงสัดส่วนการลงทุนตามคำแนะนำการลงทุนประจำเดือน (Monthly Insight May 2023)

โดยปรับ Fund Universe ล่าสุด มีการเปลี่ยนแปลง

  • กองทุนประเภทหุ้นไทย  จาก TSF-A เป็น ABSM
  • กองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ จาก B-ASIA เป็น K-ASIA
  • กองทุนทองคำ (Aggressive) จาก SCBGOLDH เป็น TMBGOLD

ตัวอย่างพอร์ต Aggressive สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับการจัดพอร์ตการลงทุนในแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-24-april-23/
https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/

Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน ของเอกสารฉบับนี้รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการลงทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น

เอกสารฉบับนี้ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปและไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมดโดยปราศจากความเห็นชอบและอนุญาตจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด

You cannot copy content of this page