ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Monthly Insight October

03/10/2023

WCIA Monthly บทความการลงทุนประจำเดือนตุลาคม 2566 อัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐล่าสุด เศรษฐกิจจีนในเดือน ก.ย. ส่งสัญญาณฟื้นตัว BOT ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 2.5% และอื่นๆ

Executive Summary

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยภาพรวมในเดือน ก.ย. ถือว่าปรับตัวลดลงมากที่สุดในปีนี้จากความกังวลว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงไปอีกนาน (higher for longer) และเงินเฟ้อจะกลับมาปรับตัวสูงขึ้น หลังราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาและวิกฤตภาคอสังหาฯ ของจีน มุมมองในเดือน ต.ค. นี้ เรามองว่าเป็นโอกาสเข้าทยอยสะสมหุ้น จากสถิติย้อนหลังที่ตลาดหุ้นมีผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงไตรมาส 4 อย่างไรก็ดีแนะนำให้นักลงทุนติดตามงบกำไรบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 และเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะมีพัฒนาการเชิงบวกหลังจากนี้
  • Special Headlines:
    อัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐล่าสุด
    เศรษฐกิจจีนในเดือน ก.ย. ส่งสัญญาณฟื้นตัว
    BOT ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 2.5%
  • มุมมอง: เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ย higher for longer โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม health care และ technology เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan อย่าง จีน อินเดีย และเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดหุ้นจีนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนอินเดียและเวียดนามมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน
    ด้านตลาดหุ้นไทยมองว่ามี downside risk ที่ค่อนข้างจำกัด นักลงทุนสามารถทยอยสะสมลงทุนได้ เรามองว่าเศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตได้ในระดับดีหลังจากนี้ จากปัจจัยหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจะมีพัฒนาการเชิงบวก

Monthly Total Asset Return

ที่มา: Koyfin.com data as of 30 Sep 2023, *Annualized returns

SPECIAL HEADLINE: อัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐล่าสุด

  • ประมาณการยอดการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐในไตรมาส 2/66 ล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8%QoQ ลดจากประมาณการณ์ก่อนหน้าที่ 1.7%QoQ และเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในปีนี้ จากยอดการใช้จ่ายในภาคบริการที่อ่อนแอลง ขณะที่ประมาณการ GDP สหรัฐไตรมาส 2/66 คาดว่าขยายตัวที่ระดับ 2.1%QoQ เนื่องจากการลงทุนของธุรกิจเอกชนที่ขยายตัว ช่วยกลบปัจจัยการชะลอตัวของการบริโภคครัวเรือนในไตรมาสดังกล่าว อย่างไรก็ดีการบริโภคภาพรวมของสหรัฐยังถือว่าอยู่ในจุดที่แข็งแกร่งอยู่
  • ด้านดัชนี Core PCE ของสหรัฐในเดือน ส.ค. ที่เป็นวัดชี้วัดเงินเฟ้อในฝั่งต้นทุนภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1%MoM เป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งถือว่าการดำเนินการของเฟดเพื่อกดเงินเฟ้อประสบผลสำเร็จ และมีโอกาสว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในเดือนหน้าอาจจะไม่เกิดขึ้น และอาจมีการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-09-28/us-consumer-spending-rises-at-weakest-pace-in-over-a-year?srnd=null
https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-09-29/us-core-pce-prices-post-smallest-monthly-rise-since-late-2020

เศรษฐกิจจีนในเดือน ก.ย. ส่งสัญญาณฟื้นตัว

  • เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณฟื้นตัวในเดือน ก.ย. จากข้อมูลของ SpaceKnow ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและวิเคราะห์เศรษฐกิจสัญชาติสหรัฐเผยว่า
    – ตัวเลขกิจกรรมการช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้ายังคงอยู่ในระดับที่สูงของปีนี้ต่อเนื่องจากเดือน ส.ค.
    ดัชนีภาคการผลิตที่เริ่มฟื้นตัวในเดือน มิ.ย. ยังคงมีโมเม็นตัมที่ดีมาถึงเดือน ก.ย. ในระดับที่ 51 เพิ่มขึ้นจากระดับ 48 ในเดือน ส.ค. ซึ่งมองว่าเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดีในภาคการก่อสร้างของจีนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจจีนเริ่มกลับมา
    ดัชนียอดขายของธุรกิจจีนในทุกอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 53.1 ในเดือน ก.ย. ที่ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs คาดการณ์ว่า PMI ภาคการผลิตของจีนในเดือน ก.ย. จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 50.2 จาก 49.7 ในเดือน ส.ค. พร้อมทั้งมองว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวหลังจากนี้
    จากปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจที่เปลี่ยนจากนโยบายการเงินมาเป็นการคลัง ภาคการส่งออกเสถียรภาพมากขึ้นและมาตรการพิเศษเพื่อฟื้นภาคอสังหาริมทรัพย์

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-09-28/china-economy-improved-further-in-september-satellite-data-show?srnd=economics-v2

BOT ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 2.5%

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 2.5% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 8 นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2565 และส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับปัจจุบันเหมาะสมกับเงินเฟ้อและการเติบโตเศรษฐกิจไทยในระยะยาวและทำระดับจุดสูงสุดแล้ว โดยการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ได้คำนึงถึงความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่จะทยอยออกมาในระยะข้างหน้า
  • นอกจากนี้ BOT ได้ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้เหลือ 2.8% จากระดับ 3.6% และคาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 4.4% จาก 3.8% ในปีหน้า ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตเศรษฐกิจในปีหน้าอย่างน้อย 5%
    ด้านเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.6% และ 2.6% ในปีหน้า ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ BOT
    ที่ระดับ 1-3% ด้านค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่า 4% ในเดือน ก.ย. ขณะเดียวกันราคาพันธบัตรไทยปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลต่อการระดมทุนของรัฐบาลเพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-09-27/thailand-raises-key-interest-rate-to-10-year-high-of-2-50?srnd=premium-asia

Monthly Recap

US

  • คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ย ที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี เป็นไปตามที่ตลาดคาด และคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (dotplot) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง สู่ระดับ 5.6% ภายในสิ้นปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งสู่ระดับ 5.1% ในช่วงสิ้นปี 2567 และแตะ 3.9% ในช่วงสิ้นปี 2568 ขณะที่แตะ 2.9% ในช่วงสิ้นปี 2569 ขณะที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 2.5%
  • ยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.6%MoM มากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1%MoM ได้ปัจจัยหลักมาจากยอดขายน้ำมันค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้น และหากไม่นับรวมยอดการซื้อน้ำมัน ยอดค้าปลีกสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2%MoM และข้อมูลบ่งชี้ว่า ครัวเรือนสหรัฐมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น และตลาดยังจับตาดูปัจจัยเรื่องหนี้การศึกษาที่จะหมดเวลาผ่อนผันและกลับมาเป็นภาระของครัวเรือน ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคของสหรัฐในระยะถัดไป
  • ดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐ (Core CPI) เดือน ส.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงกว่าที่ตลาดคาดการณ์เล็กน้อย โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.3%YoY และ 0.3%MoM ดีกว่า ด้านเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.7%YoY และ 0.3%MoM ตามลำดับ ปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาค่าตั๋วเครื่องบินปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านค่าเช่าที่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2022 ถูกกดดันจากราคาที่พักโรงแรมชะลอตัว ซึ่งยืนยันว่าแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานยังชะลอตัวอยู่
  • ผลสำรวจชี้นักลงทุนเชื่อมั่นตลาดหุ้นสหรัฐต่ำสุดในรอบ 4 เดือน โดยนักลงทุนที่คาดว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นใน 6 เดือนข้างหน้าลดลง 3.1% สู่ 31.3% ซึ่งทำระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. และเป็นระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 37.5% เป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 6 สัปดาห์

EUROPE

  • PMI ยูโรโซนปรับเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่สดใส โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคบริการและการผลิตขั้นต้นเดือน ก.ย. จากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์และเอสแอนด์พี โกลบอลปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47.1 จากระดับต่ำสุดในรอบ 33 เดือนที่ระดับ 46.7 ในเดือน ส.ค. และดีกว่าที่คาด อย่างไรก็ตามผลสำรวจระบุว่า เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะหดตัวในไตรมาส 3
  • ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 10 ในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ก.ย. ที่อัตรา 0.25% สู่ระดับ 4.0% พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยอาจถึงจุดสูงสุดของวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้ จากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงเป็นที่น่าพอใจของ ECB อย่างไรก็ตามนางคริสตีน ลาการ์ดไม่ได้กล่าวถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด โดยการตัดสินใจครั้งนี้ทาง ECB ยังคงให้ความสำคัญการสร้างเสถียรภาพทางราคา (price stability) โดยควบคุมเงินเฟ้อให้ลงสู่กรอบเป้าหมาย ถึงแม้ว่าอาจซ้ำเติมเศรษฐกิจของยุโรโซนชะงักมากยิ่งขึ้น
  • ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติ 5-4 ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25% สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่า BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50% ถือเป็นการปิดฉากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ได้ดำเนินมาติดต่อกัน 14 ครั้ง หลังข้อมูลบ่งชี้การชะลอตัวของเงินเฟ้อ แต่ก็ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ที่ระดับสูงต่อไป
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เผยว่า ยอดค้าปลีกเดือน ส .ค. ปรับตัวขึ้น 0.4% ฟื้นตัวจากเดือน ก.ค. แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% โดยยอดค้าปลีกที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดส่งผลให้เงินปอนด์อ่อนค่าลง

ASIA

  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีที่ระดับ 3.45% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีไว้ที่ระดับ 4.20% ตามคาด โดยอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีของจีนเป็นดัชนีวัดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคเอกชน ส่วนอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีเป็นดัชนีวัดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของภาคครัวเรือน
  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดสัดส่วนการกันเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ โดยปรับลด RRR ในอัตรา 0.25% สู่ระดับ 7.4% เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารมีความสามารถในการปล่อยเงินกู้มากขึ้น และเสริมสภาพคล่องให้กับระบบธนาคาร ซึ่งจะช่วยหนุนเศรษฐกิจจีนให้กลับมาฟื้นตัว รวมถึงช่วยส่งเสริมการใช้นโยบายการคลังผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อลงทุนในโครงการต่างๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันสภาพคล่องในระบบไหลออกมากกว่า 69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และตลาดยังคาดว่า PBOC จะลด RRR อีก 0.25% และลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ เพิ่มเติมในไตรมาส 4 นี้
  • จีนเตรียมพิจารณาผ่อนคลายกฎระเบียบที่จำกัดการถือครองกรรมสิทธิ์ของต่างชาติในบริษัทมหาชนในประเทศ เพื่อดึงดูดเงินทุนกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นมูลค่า 9.4 ล้านล้านดอลลาร์ของประเทศ เพื่อสนับสนุนการถือหุ้นของต่างชาติในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้นและปักกิ่ง โดยปัจจุบันจีนจำกัดการถือครองกรรมสิทธิ์ของต่างชาติในบริษัทจดทะเบียนในประเทศที่ 30% และจำกัดการถือครองหุ้นของต่างชาติแต่ละรายไว้ที่ 10%
  • แบงก์ชาติญี่ปุ่นคงดอกเบี้ยที่ -0.1% ตามคาด และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีไว้ราว 0% ซึ่งสะท้อนว่า BOJ มีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยก่อนหน้านี้ BOJ ได้ปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นเวลานาน

COMMODITIES

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดที่ 90.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้ปัจจัยหนุนจากที่สหรัฐเผยสต็อกน้ำมันดิบลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว รวมถึงสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่า การที่รัสเซียและซาอุฯ ปรับลดอุปทานน้ำมัน ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันในไตรมาส 4 นี้
  • ราคาทองคำปิดที่ $1,849.23 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ต่ำสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และกดดันต่อราคาทองคำ ซึ่งทองคำถือเป็นสินทรัพย์ Inflation hedge
  • ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าปิดที่ 36.58 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 11 เดือน โดยตลาดยังกังวลว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่า รวมถึงตลาดมองว่าผลกระทบของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่จะทยอยออกมา จะส่งผลให้เงินเฟ้อไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview.com as of 2 October 2023

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

ที่มา: AspenRTD, data as of 30 September 2023

หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่
https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-25-september-2023/
https://wealthcertified.co.th/wcia-monthly-insight-september/

You cannot copy content of this page