ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Monthly Insight July 2023

04/07/2023

WCIA Monthly บทความการลงทุนประจำเดือนกรกฏาคม 2566 ผู้นำจีนหวังดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในจีน ด้าน GDP สหรัฐไตรมาส 1/66 ขยายตัวดีกว่าคาดและดัชนี PCE สหรัฐเดือน พ.ค. สอดคล้องกับที่คาดการณ์

Executive Summary

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกในเดือนที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาแข็งแกร่งเกินคาด เงินเฟ้อสหรัฐที่ชะลอตัวลง รวมถึงกระแส AI ที่ช่วยดันให้กลุ่มหุ้นเทคโนโลยีและกลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องปรับตัวเพิ่มขึ้นดันตลาดโดยรวม ขณะที่ตลาดหุ้นจีนทรงตัว เนื่องจากตลาดกังวลต่อเศรษฐกิจจีนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาอ่อนแอ และเรื่องความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน
  • Special Headlines: ผู้นำจีนหวังดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนจีน
    GDP สหรัฐไตรมาส 1/66 ขยายตัวดีกว่าคาด
    ดัชนี PCE สหรัฐเดือน พ.ค. สอดคล้องกับที่คาด
  • มุมมอง: เรามีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม Defensive สหรัฐในระยะกลาง ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากช่วงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังจากนี้ และเรามองว่าหุ้น Asia ex. Japan อย่าง ตลาดหุ้นจีน ไต้หวัน อาเซียนรวมถึงเวียดนามมี Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับ DM โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่ราคาสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว และคาดว่าทางการจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรฐกิจในประเทศเร่งด่วนในครึ่งปีหลังนี้

Monthly Total Asset Class Return

ที่มา: Koyfin.com data as of 2 July 2023, *Annualized returns

SPECIAL HEADLINE: สี จิ้นผิงให้คำมั่น หวังดึงความเชื่อมั่นของ
นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนจีน

  • นายสี จิ้นผิง ผู้นำจีนได้ให้คำมั่นว่า จะปกป้องผลประโยชน์นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในจีนและพยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในประเทศและมาตราการของทางการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัจจัยกดดันที่ชาติตะวันตกลดการพึ่งพาจีนในห่วงโซ่อุปทาน ในฐานะที่จีนเป็นฐานการผลิต หลังจากที่ตัวเลขเศรษกิจจีนใน 5 เดือนแรกของปีออกมาน่าผิดหวัง ซึ่งก่อนหน้านี้นักลงทุนคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้แข็งแกร่งหลังจากที่ทางการประกาศยกเลิกมาตรการ Zero Covid
  • โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานว่า บรรดานักธุรกิจชั้นนำของโลกได้ไปเยือนจีน ไม่ว่าจะเป็นนาย เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ เจ้าของเครือ LVMH นายเจมี่ ดิมอน ซีอีโอของ JPMorgan Chase & Co. นายอีลอน มัสก์ เจ้าของTesla โดยคาดว่าเป็นการหารือเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในจีน ทั้งนี้ผู้นำจีนได้เน้นย้ำว่า การพัฒนาเศรษฐกิจจีนยังเป็นเป้าหมายแรกของพรรคมิวนิสต์ที่ต้องดำเนินการ โดยทางการตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวที่ระดับ 5%

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-06-28/china-s-xi-reassures-foreign-investors-amid-worries-about-policy

GDP สหรัฐไตรมาส 1/66 ขยายตัวดีกว่าคาด

  • รัฐบาลสหรัฐเผยตัวเลขประมาณการการขยายตัว GDP ไตรมาส 1/66 ครั้งที่ 3 ที่ระดับ 2%YoY สูงกว่าตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ 1.4% จากการปรับเพิ่มประมาณการยอดการส่งออก การบริโภคเอกชน รวมถึงการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นสูงขึ้น ด้านการใช้จ่ายครัวเรือนยังคงแข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งภาคการบริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.2%YoY เป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่มากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี โดยข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า ชาวอเมริกันใช้จ่ายในด้านบริการมากขึ้น รวมถึงบริการด้านการรักษาสุขภาพ อย่างไรก็ดีประชาชนมีการซื้อสินค้าลดลง
  • ด้านยอดส่งออกได้ปรับประมาณการการขยายตัวระดับ 7.8%YoY จากก่อนหน้านี้ที่ระดับ 5.2%YoY และการลงทุนเพื่อการอยู่อาศัยฟื้นตัวดีขึ้นที่ระดับ -4% จากระดับ -5.4% จากประมาณการก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดีตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาสวยเกินคาด จะยิ่งสร้างความมั่นใจต่อเฟดที่จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อกดเงินเฟ้อ จากที่ก่อนหน้านี้ได้ส่งสัญญาณว่ามีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยเฟด (Dot Plot) ที่บ่งชี้ว่าจะอยู่ที่
    ระดับ 5.6% ในสิ้นปีนี้

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-06-29/us-first-quarter-gdp-revised-up-to-2-on-exports-consumers

ดัชนี PCE สหรัฐเดือน พ.ค. สอดคล้องกับที่คาด

  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานดัชนี PCE หรือดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลเดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.8%YoY และ 0.1%MoM ขณะที่ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.6%YoY และ 0.3%MoM สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ ทั้งนี้เงินเฟ้อในภาพรวมชะลอตัวลง จากการใช้จ่ายพวกสินค้าอุปโภคปรับตัวลง โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ อย่างไรก็ดีฝั่งภาคบริการยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านตลาดหุ้นสหรัฐได้ตอบรับเชิงบวกต่อการผลรายงานดังกล่าวในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา
  • ด้านเฟดออกมาพอใจต่อตัวเลขดังกล่าว แต่ยังระบุว่า ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐในอนาคตจะตึงตัวและปรับตัวลงได้ยากกว่าในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ เนื่องจากตลาดจ้างงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งหนุนให้การใช้จ่ายของครัวเรือนจะยังขยายตัวได้ในระดับที่ดี ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวลงยาก ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อปัจจัยยังอยู่ห่างจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ระดับ 2% อยู่มาก ดังนั้นตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยอีก 1 ครั้งที่ 0.25% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5.0-5.25%

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-06-30/us-inflation-cools-spending-stagnates-as-economy-loses steam#:~:text=Excluding%20food%20and%20energy%2C%20the,better%20gauge%20of%20underlying%20inflation.

US Weekly Recap

  • สหรัฐเผย GDP ไตรมาส 1/66 ขยายตัว 2.0%YoY สูงกว่าคาดการณ์ โดยตลาดคาดว่าจะขยายตัว 1.4% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ระดับ 1.1% และ 1.3% ตามลำดับ ด้านผลการทดสอบ Stress Test ของภาคธนาคารสหรัฐระบุว่า ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐทั้ง 23 แห่งผ่านการทดสอบดังกล่าว โดยมีสถานะแข็งแกร่งพอจะรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง
  • สหรัฐเผยยอดสร้างบ้านใหม่ในเดือน พ.ค. สูงกว่าตลาดคาด โดยตัวเลขการสร้างบ้านเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.63 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน และสูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 1.39 ล้านยูนิต จากระดับ 1.24 ล้านยูนิตในเดือน เม.ย. ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.49 ล้านยูนิตในเดือน พ.ค. และสูงกว่ากว่าตลาดคาดที่ระดับ 1.42 ล้านยูนิต
  • สหรัฐเผยดัชนี PPI ทั่วไปเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 1.1%YoY ต่ำกว่าคาดการณ์ และทำระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 63 โดยดัชนี PPI ทั่วไปซึ่งนับรวมราคาหมวดอาหารและพลังงานมาคำนวณและใช้เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ด้านดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานเดือน พ.ค. ปรับตัวขึ้น 2.8%YoY และต่ำกว่าตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.9%YoY
  • ยอดค้าปลีกสหรัฐในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 0.3% สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าลดลง 0.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน เม.ย. โดยได้รับแรงหนุนจากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น
    ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 0.2หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน เม.ย.

Europe Weekly Recap

  • ECB ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 3.5% ตามคาด นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเป็นครั้งที่ 8 ติดต่อกันและทำระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับ 4.25% ส่วนอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อยู่ที่ระดับ 4.00% นอกจากนี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
  • ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติ 7-2 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.00% สูงกว่าตลาดคาดว่าจะขึ้น 0.25% และแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 20 ปี เนื่องจากเงินเฟ้อในอังกฤษยังอยู่ระดับสูง จากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงอัตราค่าจ้างแรงงานที่ยังพุ่งสูงขึ้น ซึ่งหนุนเงินเฟ้อในประเทศให้ยังคงสูง
  • เงินเฟ้อทั่วไปยูโรโซนเดือน มิ.ย. สอดคล้องกับที่คาด แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง โดยสำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) เปิดเผยว่า เงินเฟ้อทั่วไปในยูโรโซนในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นที่ระดับ 5.5%YoY แต่เงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาพลังงานและอาหารยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูงและปรับขึ้นสู่ 5.4%YoY ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์
  • Ifo เผยความเชื่อมั่นทางธุรกิจเยอรมนีลดลงติดต่อกันเดือนที่ 2 ในเดือน มิ.ย. โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวลงมาสู่ระดับ 88.5 ในเดือน มิ.ย. จาก 91.5 ในเดือน พ.ค. และแย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยูที่ระดับ 90.7 ซึ่งนักลงทุนมีการคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจยังเป็นไปในเชิงลบและมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวออกจากภาวะถดถอย

Asia Weekly Recap

  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะ 1 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะกลางลง 0.1% สู่ระดับ 2.65% หลังจากที่ PBOC ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงเมื่ออาทิตย์ก่อนหน้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มสภาพคล่องต่อตลาดสินเชื่อ รวมถึงหนุนการบริโภคผ่านการสนับสนุนธุรกิจยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและธุรกิจด้านอาหาร
  • สี จิ้นผิง ให้คำมั่นปกป้องนักลงทุนต่างชาติ หวังดึงเงินหนุนเศรษฐกิจประเทศ โดยทางการจีนต้องการจะลดกระแสความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการกำหนดนโยบายที่ไม่อาจคาดเดาได้ ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนต้องการการลงทุนจากต่างชาติ เนื่องจากเงินทุนหมดไปกับการรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 มาเป็นเวลาหลายปี รวมทั้งการแก้ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุมวันนี้ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve control program) รวมทั้งคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ราวระดับ 0%
  • เวียดนามจ่อลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 8% หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐสภาเวียดนามได้ผ่านร่างกฎหมายเพื่อลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เป็น 8% ตั้งแต่เดือน ก.ค.- เดือน ธ.ค. เพื่อสนับสนุนการบริโภคและกิจกรรมทางธุรกิจ ในขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกกำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัว

Commodities Weekly Recap

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดที่ 70.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ฟื้นตัวในช่วงปลายเดือน มิ.ย. โดยได้แรงหนุนจากการปัจจัยกดดันด้านเงินเฟ้อในสหรัฐที่ผ่อนคลายลง และตัวเลขเศรษกิจสหรัฐที่ออกมาแข็งแกร่ง รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดในรัสเซียจากการก่อกบฎของกลุ่มทหารรับจ้าง อาจส่งผลต่อเสถียรภาพการเมืองในรัสเซียและส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันของรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงที่ $1,919.16 ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นปัจจัยกดดันตลาด จากการที่เฟดส่งสัญญาณว่ามีโอกาสจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูงราว 5% และยังห่างจากกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายเฟดที่ 2%
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องปิดตลาดที่ 35.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ  ทำระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากได้รับปัจจัยกดดันจากเงินทุนต่างประเทศไหลออกและสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้ตลาดกังวลและขาดความเชื่อมั่น อีกทั้งตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่า

ที่มา: Infoquest

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview, data as of 2 July 2023

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

ที่มา: AspenRTD, data as of 2 July 2023

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-26-june-2023/

https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/

Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันของเอกสารฉบับนี้ รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

     ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการขาดทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น

      เอกสารการลงทุนฉบับนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการแนะนำการลงทุน และอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในบริษัท (internal use only) เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ทั่วไป กรณีที่มีการนำเอกสารนี้ไปเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไป และไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้เอกสารฉบับนี้ บริษัทมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางด้านกฎหมายได้ทันที

You cannot copy content of this page