บทความการลงทุนประจำเดือนเมษายน 2567
รายงาน PCE สหรัฐเดือน ก.พ. สอดคล้องกับที่ตลาดคาด PMI ภาคการผลิตจีนเดือน มี.ค. พลิกกลับมาบวก สถิติชี้ตลาดหุ้นยุโรปให้ผลตอบแทนโดดเด่นในเดือน เม.ย. และอัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ
Executive Summary
- ตลาดหุ้นทั่วโลกในเดือน มี.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขานรับการประชุมเฟดซึ่งโดยภาพรวมออกมาในโทนบวก และทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐที่จะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อย นอกจากนี้ได้ปัจจัยบวกจากกระแส AI และอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัว ในเดือน เม.ย. นี้ยังคงแนะนำให้นักลงทุนติดตามตัวเลขเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และการคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียน และมองว่าหากตลาดหุ้นปรับตัวลดลง เป็นโอกาสในการเข้าลงทุนและสะสมหุ้นเพิ่ม
- Special Headlines:
รายงาน PCE สหรัฐเดือน ก.พ. สอดคล้องกับที่ตลาดคาด
PMI ภาคการผลิตจีนเดือน มี.ค. พลิกกลับมาบวก
สถิติชี้ตลาดหุ้นยุโรปให้ผลตอบแทนโดดเด่นในเดือน เม.ย. - มุมมอง: เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางตลาดที่ยังคงผันผวน จากปัจจัยกดดันหลายส่วน โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม health care technology และ Industrial เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan และเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน ด้านตลาดหุ้นไทยมองว่ามี downside risk ที่ค่อนข้างจำกัด นักลงทุนสามารถทยอยสะสมลงทุนได้ คาดว่าจะเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจะมีพัฒนาการเชิงบวกหลังจากนี้
รายงาน PCE สหรัฐเดือน ก.พ. สอดคล้องกับที่ตลาดคาด
- สหรัฐรายงานดัชนี PCE เดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 2.5%YoY จากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4%YoY ในเดือน ม.ค.
ด้านดัชนี Core PCE ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.8%YoY สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ นอกจากนี้เงินเฟ้อภาคบริการที่ไม่รวมค่าเช่าและราคาพลังงาน (Super Core Inflation) และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญปรับตัวขึ้น 0.2%MoM หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.7%MoM ในเดือนก่อนหน้า และค่าบริการด้านสุขภาพและการเงินเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา ถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาด ด้านอัตราการออมปรับตัวลงทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สิ้นปี 2022 บ่งชี้ว่า ครัวเรือนเริ่มนำเงินออมออกมาใช้จ่ายในเดือนที่ผ่านมา - โดยภาพรวมตลาดมองว่า ตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวสอดคล้องกับตัวเลขที่เฟดประเมินไว้ ขณะเดียวกันตลาดแรงงานสหรัฐเริ่มเห็นการผ่อนคลายลงตั้งแต่ต้นปี ซึ่งอาจส่งผลให้แนวโน้มการใช้จ่ายของครัวเรือนและเงินเฟ้อชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า ดังนั้นการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดยังคงมองว่าจะเกิดขึ้นในการประชุมเดือน มิ.ย. นี้
ที่มา: Bloomberg
PMI ภาคการผลิตจีนเดือน มี.ค. พลิกกลับมาบวก
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ PMI ภาคการผลิตจีนเดือน มี.ค. 67 จากสถาบัน Caixin ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.1 จากระดับ 50.9 ในเดือน ก.พ. และสูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 51 ด้าน PMI ภาคการผลิตของทางการจีนปรับตัวขึ้นระดับ 50.8 ขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีที่ผ่านมาและสูงกว่าที่ตลาดคาด บ่งชี้ว่า กิจกรรมฝั่งการผลิตของจีนฟื้นตัวและอยู่ในระยะกำลังสร้างเสถียรภาพ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการผลิตทั่วโลก ซึ่งลดความกังวลของผู้กำหนดนโยบายของจีนและนักลงทุนไปได้อีกหนึ่งจุด ขณะเดียวกันผลดังกล่าวก็ทำให้ทางการจีนชะลอการเร่งออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อรอดูผลของมาตรการที่ใช้ไปก่อนหน้านี้ว่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด
- ด้านตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงปรับตัวเพิ่มขึ้นขานรับประเด็นบวกดังกล่าว อย่างไรก็ดีนักลงทุนยังคงกังวลต่อสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ซึ่งยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัวในเร็วๆ นี้ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจีน หลังจากบริษัทชั้นนำของจีนในแต่ละภาคอุตสาหกรรมออกคาดการณ์กำไรในอนาคตเป็นที่น่าผิดหวังของนักลงทุน ทำให้ฉุดปัจจัยบวกอื่นๆ ให้มีแรงส่งต่อตลาดหุ้นจีนอย่างจำกัด
ที่มา: Bloomberg
สถิติชี้ตลาดหุ้นยุโรปให้ผลตอบแทนโดดเด่นในเดือน เม.ย.
- จากสถิติย้อนหลัง 30 ปีพบว่า ดัชนี Stoxx 600 ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนตลาดหุ้นยุโรป มีโอกาสถึง 70% ที่ผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงเดือน เม.ย. เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาและเป็นเดือนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากที่สุดเมื่อเทียบกับ 11 เดือน อย่างไรก็ดีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวลดลงก็ขึ้นอยู่กับว่าผลตอบแทนในช่วงไตรมาสก่อนหน้าว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเพียงใด และแนะนำให้นักลงทุนติดตามตัวเลขเงินเฟ้อ ซึ่งมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการใช้นโยบายการเงินของ ECB และส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้นยุโรป
- ด้านผลตอบแทนของดัชนี Stoxx Europe 600 ในไตรมาส 1/67 เพิ่มขึ้นราว 7% และเพิ่มขึ้นราว 4% ในช่วงเดือน มี.ค. 67 ได้ปัจจัยบวกจากการคาดการณ์แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะเดียวกันนักลงทุนสถาบันเริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นยุโรปมากขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา จาก valuation ที่น่าสนใจกว่าตลาดหุ้นสหรัฐ โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐที่ราคาสะท้อนกำไรในอนาคตไปมากแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเผชิญความเสี่ยงกับการแข่งขันที่ดุเดือดและกฏระเบียบของรัฐในการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ดีตลาดคาดการณ์กำไรของดัชนี S&P 500 ในปีนี้จะเติบโต 8.3% ซึ่งมากกว่าดัชนี Stoxx 600 ที่คาดว่าจะโตราว 4%
ที่มา: Bloomberg
Monthly Recap
US
- นายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาเผยว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพียงครั้งเดียวในปีนี้ เทียบกับเขาเคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสองครั้งในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงตึงตัวและเศรษฐกิจของสหรัฐล่าสุดที่แข็งแกร่งเกินคาด
- สหรัฐเผยตัวเลขเริ่มต้นสร้างบ้านในเดือน ก.พ. สูงกว่าคาด โดยเพิ่มขึ้น 10.7%MoM และเพิ่มขึ้น 5.9%YoY สู่ระดับ 1.52 ล้านยูนิต ขณะที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.43 ล้านยูนิต ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 1.9%MoM และ 2.4%YoY สูงกว่าที่ตลาดคาดเช่นเดียวกัน
- ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 198,000 ตำแหน่ง ได้แรงหนุนจากการจ้างงานของภาครัฐ การศึกษา ภาคบริการและสุขภาพ ขณะที่ภาคการผลิตมีการจ้างงานลดลง ด้านอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.9% สูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 3.7% และทำระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี และตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 4.3%YoY
- ด้านยอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6%MoM น้อยกว่าที่ตลาดคาดระดับ 0.8%MoM ได้แรงหนุนจากยอดขายวัสดุก่อสร้างและรถยนต์ ขณะที่ยอดค้าปลีกของเฟอร์นิเจอร์ ร้านยาเวชภัณฑ์และเสื้อผ้าลดลง ซึ่งโดยภาพรวมบ่งชี้ว่าการใช้จ่ายของครัวเรือนอ่อนแรงลงในไตรมาส 1 นี้
Europe
- ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มรถยนต์และธนาคารยุโรปที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มิ.ย. ขณะเดียวกัน 1 ใน สมาชิกคณะมนตรีบริหารของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เผยว่า ECB ประสบความสำเร็จในการใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ
- ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันที่ระดับ 4% ตามที่ตลาดคาดการณ์ และระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันเหมาะสมที่จะกดให้เงินเฟ้อในยูโรโซนปรับตัวเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% และยังต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
- อังกฤษเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังตัวเลข GDP ไตรมาส 3 และ 4 ปี 66 ขยายตัว -0.1%QoQ และ -0.3%QoQ ตามลำดับ โดยอังกฤษยังคงฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างยากลำบาก และตลาดมองว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลอังกฤษในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีในเดือน ม.ค. 67 ปรับตัวขึ้น 1.0%MoM สูงกว่าตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6%MoM เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน นำโดยภาคก่อสร้าง เคมีภัณฑ์และอาหาร ขณะที่ภาคการผลิตรถยนต์ปรับตัวลดลง
Asia
- ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ทั้งประเภท 1 ปีและ 5 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่ระดับ 3.45% และ 3.95% ตามลำดับ สอดคล้องกับที่ตลดคาดการณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ PBOC ได้คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนไว้ที่ระดับ 2.50%
- ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จีนหรืออัตราเงินเฟ้อเเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 0.7%YoY หลังจากที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 15 ปีในเดือนที่ผ่านมา และปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าตลาดคาดที่ระดับ 0.3%YoY โดยได้แรงหนุนจากช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ประชาชนออกมาใช้จ่ายและเดินทางท่องเที่ยว ช่วยให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายและนักลงทุนคลายความกังวลเรื่องเงินฝืดได้บ้าง อย่างไรก็ดีดัชนี PPI เงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิตปรับตัวลง 2.7% บ่งชี้ว่า ภาคอุตสาหกรรมจีนยังไม่ฟื้นตัว
- ญี่ปุ่นเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 2.8%YoY ในเดือน ก.พ. เป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 เดือน ยังสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและสินค้าทั่วไป รวมถึงราคาที่พักอาศัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งขึ้นในภาคการท่องเที่ยว
- กระทรวงการคลังเกาหลีใต้เผยว่า จะดำเนินมาตรการลดภาษีสำหรับบริษัทเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น และลดภาษีเงินปันผลสำหรับผู้ที่ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียน ภายใต้โครงการ Corporate Value-up Program ซึ่งตัวโครงการจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงต้นเดือน พ.ค.
Commodities
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับ 83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้ปัจจัยหนุนจากแนวโน้มอุปทานน้ำมันจะอยู่ในภาวะตึงตัว เนื่องจากกลุ่ม OPEC+ มีแนวโน้มที่จะยังคงดำเนินนโยบายลดกำลังการผลิตต่อไป อีกทั้งการกลับมาเปิดทำการของบรรดาโรงกลั่นน้ำมันของสหรัฐหลังจากปิดซ่อมแซมในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปี 2023 ทำให้อุปสงค์น้ำมันกลับมาเพิ่มขึ้น
- ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับ 2,230 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ในช่วงที่ผ่านมา และความต้องการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนของนักลงทุนและธนาครกลางทั่วโลกๆ ท่ามกลางสงครามในหลายภูมิภาค ซึ่งทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นแรงตั้งแต่ต้นปี 2024
- ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าบริเวณ 36.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามทิศทางค่าเงินหยวนและเงินเยน ขณะเดียวกันนักลงทุนมีความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ โดยเฉพาะฝั่งการบริโภคในประเทศที่มีความเปราะบาง รวมถึงปัจจัยทางการเมือง
ความเคลื่อนไหวหุ้นสหรัฐในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา
ที่มา: Tradingview.com as of 1 April 2024
จัดอันดับกองทุนพักเงิน
ที่มา: AspenRTD, data as of 29 March 2024
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
โดยรายละเอียดกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th
Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
อ่านบทความย้อนหลังได้ที่
https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-25-march-2024/
https://wealthcertified.co.th/wcia-monthly-insight-march-2024/