ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Weekly Highlight 25 March 2024

26/03/2024

บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 25 – 29 มีนาคม 2567
เฟดคงอัตราดอกเบี้ย 5.25-5.50% ตามคาด BOJ ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี สินค้าโภคภัณฑ์แนวโน้มสดใสจากดอกเบี้ยขาลงและอัปเดทเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ

Executive Summary

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ขานรับการประชุมเฟดซึ่งโดยภาพรวมออกมาในโทนบวก และทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ อีกทั้งเฟดมองว่าเงินเฟ้อสหรัฐในระยะข้างหน้าจะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป  ด้านตลาดหุ้นฮ่องกงและจีนถูกกดดันจากข่าวผู้แทนสหรัฐฯ ยื่นร่างกฎหมายที่อาจทำให้กองทุนรวมสหรัฐฯ ไม่สามารถลงทุนในตลาดหุ้นจีนบางดัชนีได้ มุมมองสัปดาห์นี้แนะนำให้นักลงทุนติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งอาจกระทบต่อ sentiment การลงทุน อย่างไรก็ดีเรายังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นในปีนี้ หากตลาดมีการย่อตัว เป็นโอกาสในการเข้าลงทุนเพิ่ม
  • Special Headlines:
    เฟดคงอัตราดอกเบี้ย 5.25-5.50% ตามคาด
    BOJ ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี
    สินค้าโภคภัณฑ์แนวโน้มสดใสจากดอกเบี้ยขาลง  
  • มุมมอง:เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางตลาดที่ยังคงผันผวน จากปัจจัยกดดันหลายส่วน โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม health care technology และ Industrial เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan และเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน ด้านตลาดหุ้นไทยมองว่ามี downside risk ที่ค่อนข้างจำกัด นักลงทุนสามารถทยอยสะสมลงทุนได้ คาดว่าจะเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจะมีพัฒนาการเชิงบวกหลังจากนี้

Weekly Asset Total Return

ที่มา: Koyfin.com data as of 23 March 2024, *Annualized returns

เฟดคงอัตราดอกเบี้ย 5.25-5.50% ตามคาด

  • ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25 – 5.50% เป็นการคงดอกเบี้ยครั้งที่ 5 ซึ่งสอดคล้องกับที่ตลาดคาด และเป็นอัตราระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี โดยภาพรวมเฟดยังคงมองว่าเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ในแนวโน้มชะลอตัวลง แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อ 2 เดือนแรกของปีนี้จะตึงตัวกว่าที่ตลาดประเมินไว้ และส่งสัญญาณว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มีความสมเหตุสมผล ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นขานรับถ้อยแถลงดังกล่าว ขณะเดียวกันตลาดรอฟังเฟดกล่าวถึงการชะลอการลดขนาดงบดุล ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อตลาดไม่แพ้เรื่องการลดดอกเบี้ย แต่เฟดยังไม่ให้ละเอียดเรื่องดังกล่าวในการประชุมรอบนี้
  • ด้านการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในปีนี้จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง รวม 0.75% ไม่เปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ในเดือน ธ.ค. 2023 และในปี 2025 คาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์ในเดือน ธ.ค. ว่าจะลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง สะท้อนมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดว่า ดอกเบี้ยสหรัฐระดับที่เหมาะสมในระยะยาวนั้นสูงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 2.6% จากระดับ 2.5% นอกจากนี้เฟดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้สู่ระดับ 2.1% จากเดิมที่ 1.4%

ที่มา: Bloomberg

BOJ ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี

  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสู่ระดับ 0% ถึง 0.1% จากระดับ -0.1% พร้อมประกาศยกเลิกนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) และจะยุติการซื้อกองทุน ETF และ J-REITS ซึ่งเป็นกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่นและจะลดการซื้อตราสารหนี้เอกชนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้มีการคาดการณ์ผลกระทบของการยุติอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบของ BOJ ในหลายด้าน ดังนี้:
  • ค่าเงินเยน: มองว่าการแข็งค่าของเงินเยนมีจำกัด อยู่ในกรอบ 120-140 เยน/ดอลลาร์ในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นที่ยังกว้าง นอกจาก BOJ จะออกนโยบายเข้มงวดเพิ่มเติมและมีปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินของเฟดหลังจากนี้ อย่างไรก็ดีเชื่อว่า BOJ จะใช้นโยบายเข้มงวดอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • เม็ดเงินลงทุนไหลกลับประเทศญี่ปุ่น: มองว่าที่ผ่านมา BOJ ได้ส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้แล้วว่าจะมีการยุตินโยบายผ่อนคลายทางการเงินแบบพิเศษที่ใช้มา 8 ปี ซึ่งทำให้นักลงทุนมีเวลาในการจัดการเงินลงทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ และคาดว่า BOJ จะใช้นโยบายเข้มงวดอย่างระมัดระวัง ซึ่งทำให้ความผันผวนในการโยกย้ายเงินลงทุนจะไม่มากนัก
  • ภาคธุรกิจญี่ปุ่น: เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น การขึ้นค่าจ้างและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ทำให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะปกติ และในช่วงที่ผ่านมาบรรดาบริษัทจดทะเบียนญี่ปุ่นมีความสามารถเพียงพอที่จะผลักภาระไปยังผู้บริโภค อย่างไรก็ตามมีการประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ย 0.1% จะเพิ่มบริษัทซอมบี้ในญี่ปุ่นสู่ 6.3 แสนบริษัท จาก 5.6 แสนบริษัท และเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมามีบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น 23%YoY ทั้งนี้ตลาดมีความกังวลต่อธุรกิจขนาดเล็ก-กลางญี่ปุ่นหลังจากนี้

ที่มา: Bloomberg

สินค้าโภคภัณฑ์แนวโน้มสดใสจากดอกเบี้ยขาลง

  • บรรดาโบรกเกอร์ต่างๆ มองว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์กำลังอยู่ในช่วงวัฏจักรขาขึ้น โดยได้ปัจจัยหนุนจาการที่ธนาคารกลางหลักๆ ของโลกส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมและอุปสงค์โลก รวมถึงภัยสงครามที่ส่งผลกระทบต่ออุปทานผลผลิต และการคาดว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้ในไตรมาส 1/2024 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และนักวิเคราะห์มองว่า หากสหรัฐมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง จะเป็นแรงส่งให้ราคาทองคำ ทองแดงและน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ด้าน Goldman Sachs ให้ราคาเป้าหมายทองคำ ณ สิ้นปีนี้ที่ระดับ 2,300 ดอลลาร์/ออนซ์

ที่มา: Bloomberg

Weekly Recap

US

  • นายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตากล่าวว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพียงครั้งเดียวในปีนี้ เทียบกับเขาเคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสองครั้งในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงตึงตัวและเศรษฐกิจของสหรัฐล่าสุดที่แข็งแกร่งเกินคาด
  • สหรัฐเผยตัวเลขเริ่มต้นสร้างบ้านในเดือน ก.พ. สูงกว่าคาด โดยเพิ่มขึ้น 10.7%MoM และเพิ่มขึ้น 5.9%YoY สู่ระดับ 1.52 ล้านยูนิต ขณะที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.43 ล้านยูนิต ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 1.9%MoM และ 2.4%YoY สูงกว่าที่ตลาดคาดเช่นเดียวกัน
  • ราคาหุ้น Apple ปรับตัวลดลงแรง หลังถูกฟ้องข้อหาผูกขาดตลาด โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐระบุว่า Apple ผูกขาดตลาดสมาร์ทโฟนจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นและคู่แข่ง รวมถึง Apple Watch ที่บริษัทออกแบบให้ทำงานร่วมกับ iPhone เท่านั้น ทั้งนี้ทาง Apple จะยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้คดีต่อไป
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกล่าสุดลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 210,000 ราย ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 212,000 ราย ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานคงค้างเพิ่มขึ้น 4,000 ราย สู่ระดับ 1.81 ล้านราย ต่ำกว่าที่คาด 1.82 ล้านราย

Europe

  • ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มรถยนต์และธนาคารยุโรปที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มิ.ย. ขณะเดียวกัน 1 ใน สมาชิกคณะมนตรีบริหารของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เผยว่า ECB ประสบความสำเร็จในการใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ
  • Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนีเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน มี.ค. อยู่ที่ 87.8 ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 86.0 ซึ่งสร้างความหวังว่าเศรษฐกิจเยอรมนีอาจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) รายงานยอดค้าปลีกของอังกฤษคงที่ในเดือน ก.พ. ดีกว่าตลาดคาดว่าจะลดลง 0.3%MoM หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 3.6%MoM ในเดือน ม.ค. เนื่องจากยอดขายเสื้อผ้าฟื้นตัว รวมถึงยอดขายในห้างสรรพสินค้าก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
  • หุ้น Kering ปรับตัวลงแรง คาดยอดขายไตรมาส 1/67 ลดลง สาเหตุหลักมาจากยอดขายของแบรนด์ Gucci ซึ่งเป็นแบรนด์ใหญ่ในเครือบริษัทหดตัวลงอย่างมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยคาดว่ายอดขายไตรมาส 1/67 จะลดลงเกือบ 20%YoY ทั้งนี้บริษัทจะเผยงบไตรมาส 1/67 วันที่ 23 เม.ย.

Asia

  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ทั้งประเภท 1 ปีและ 5 ปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่ระดับ 3.45% และ 3.95% ตามลำดับ สอดคล้องกับที่ตลดคาดการณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ PBOC ได้คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนไว้ที่ระดับ 2.50%
  • ญี่ปุ่นเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาอาหารสดปรับตัวขึ้น 2.8%YoY ในเดือน ก.พ. เป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 เดือน ยังสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและสินค้าทั่วไป รวมถึงราคาที่พักอาศัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งขึ้นในภาคการท่องเที่ยว
  • ธนาคารกสิกรไทยเผยว่า มีโอกาสไม่ถึง 50% ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน เม.ย. นี้ เพราะถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังไม่ได้สูงกว่า และคาดว่า ธปท. อาจรอดู GDP ไตรมาส 1/67 ก่อนการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน
  • กระทรวงการคลังเกาหลีใต้เผยว่า จะดำเนินมาตรการลดภาษีสำหรับบริษัทเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น และลดภาษีเงินปันผลสำหรับผู้ที่ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียน ภายใต้โครงการ Corporate Value-up Program ซึ่งตัวโครงการจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงต้นเดือน พ.ค.

Commodities

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ทรงตัวปิดระดับ 81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนขายทำกำไรสัญญาน้ำมันดิบ หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันทั้งสัปดาห์มีทั้งปัจจัยหนุนและกดดันราคาน้ำมันตลาดโลก จากความตึงเครียดในสงครามยูเครน-รัสเซียที่เพิ่มขึ้น สร้างความกังวลต่ออุปทานน้ำมัน ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าและแนวโน้มการหยุดยิงในฉนวนกาซ่า กดดันราคาน้ำมัน
  • ราคาทองคำทรงตัวปิดระดับ 2,165 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการขายทำกำไรของนักเก็งกำไรระยะสั้นจากราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงในช่วงผ่านมา
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าปิดบริเวณ 36.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 เดือนเนื่องจากเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์จากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.50% สวนทางกับตลาดคาดการณ์ และเงินบาทอ่อนค่าตามทิศทางเงินหยวน

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview.com as of 25 March 2024

อัปเดทกองทุนพักเงิน

ที่มา: AspenRTD, data as of 24 March 2024

หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

โดยรายละเอียดกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน

You cannot copy content of this page