บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 – 21 มิถุนายน 2567
เฟดคงดอกเบี้ยตามคาด และเผย Dot Plot ลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปีนี้ ดัชนี CPI สหรัฐเดือนพ.ค. ต่ำกว่าคาด BOJ คงดอกเบี้ยตามคาด และส่งสัญญาณทำ QT และอัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ
Executive Summary
- เราคาดว่าสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวในกรอบ และนักลงทุนรอดูปัจจัยใหม่ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นอย่างกระจุกตัว และสัปดาห์ที่ผ่านมามีหุ้นในดัชนี S&P 500 ที่เทรดอยู่เหนือเส้นราคาเฉลี่ย 200 วันน้อยที่สุดของปีนี้อย่างไรก็ตามเราคาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกในเดือนมิ.ย. ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางบวกท่ามกลางความผันผวนและมีปัจจัยระยะสั้นรบกวนตลาดมากขึ้น (low visibility and uncertainty) หลังจากนี้ ทั้งนี้เราแนะนำในช่วงที่ตลาดหุ้นย่อตัวเป็นจังหวะในการเข้าลงทุนหรือสะสมเพิ่ม เพราะมองว่าตลาดหุ้นยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นในปีนี้ จากกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ฟื้นตัวและแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกในปีนี้
- Special Headlines:
เฟดคงดอกเบี้ยตามคาด และเผย Dot Plot ลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปีนี้
ดัชนี CPI สหรัฐเดือนพ.ค. ต่ำกว่าคาด
BOJ คงดอกเบี้ยตามคาด และส่งสัญญาณทำ QT - มุมมอง: เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางตลาดที่ยังคงผันผวน จากปัจจัยกดดันหลายส่วน โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม health care technology และ Industrial เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan และเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน
Weekly Asset Total Return
ที่มา: Koyfin.com data as of 15 June 2024
เฟดคงดอกเบี้ยตามคาด และเผย Dot Plot ลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปีนี้
- ผลประชุมเฟดมีมติคงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25%-5.50% สอดคล้อง โดยที่ Dot Plot มีการปรับค่า median การลดดอกเบี้ยในปี 2024 นี้ลงจาก 3 ครั้งเหลือเพียง 1 ครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย. ขณะปรับเพิ่มการลดดอกเบี้ยในปีหน้า 2025 จาก 3 ครั้งเป็น 4 ครั้ง และเจ้าหน้าที่เฟดปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ 2.8% จากเดิมที่ระดับ 2.6% และคาดการณ์เติบโต GDP สหรัฐปีนี้ที่ 2.1% แต่ได้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์ Core PCE ขึ้นจาก 2.6% เป็น 2.8% ในปีนี้และเพิ่มขึ้นจาก 2.2% เป็น 2.3% ในปีหน้า โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะถึงเป้าหมายที่ 2% ในปี 2026
- ทั้งนี้บรรดาเทรดเดอร์ส่วนใหญ่คาดว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ และมองว่า Dot Plot ครั้งล่าสุด เฟดยังไม่ได้พิจารณาข้อมูลเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ประกอบการคาดการณ์ ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของราคาสินค้าและบริการในหลายภาคส่วนอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา: Bloomberg
ดัชนี CPI สหรัฐเดือนพ.ค. ต่ำกว่าคาด
- สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ซึ่งเป็นตัวชี้เงินเฟ้อในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 3.3%YoY ต่ำกว่าคาด ชะลอตัวจากระดับ 3.4%YoY ในเดือนเม.ย. และทรงตัวเมื่อเทียบรายเดือน ส่วนดัชนี Core CPI ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 3.4%YoY ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 3.5%YoY จากระดับ 3.6%YoY ในเดือนเม.ย.
- โดยภาพรวมสะท้อนว่าเงินเฟ้ออยู่ในภาวะชะลอตัวแล้ว ต่างจากไตรมาส 1 ที่มีการเร่งตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งภาคบริการที่ไม่นับรวมค่าเช่าที่อาศัยทรงตัวจากเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปีที่ราคาหมวดดังกล่าวไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบรายเดือน รวมถึงค่าประกันรถยนต์ปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2021
- ทั้งนี้กรรมการเฟดยังคงรอดูข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการจ้างงานในสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง
ที่มา: Bloomberg
BOJ คงดอกเบี้ยตามคาด และส่งสัญญาณทำ QT
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.1% สอดคล้องกับตลาดคาด ขณะเดียวกัน BOJ ได้ตัดสินใจปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ คณะกรรมการ BOJ จะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการลดการซื้อพันธบัตรในการประชุมเดือนก.ค. โดยปัจจุบัน BOJ มีการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นราว 6 ล้านล้านเยน (3.81 หมื่นล้านดอลลาร์) ต่อเดือน
- นอกจากนี้ BOJ ยังกล่าวเปิดช่องต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อขยายตัวเกินกว่ากรอบที่ประเมินไว้
ที่มา: Bloomberg, WSJ, RYT9
Weekly Recap
US
- ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากเงินเฟ้อสหรัฐเดือนพ.ค. ชะลอตัวลงกว่าที่คาด ด้านดัชนี Nasdaq ยังคงปิดตลาดทำนิวไฮติดต่อกันเป็นวันที่ 5 หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและเซมิคอนดักเตอร์ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น จากกระแส AI
- เวิลด์แบงก์ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP โลกปีนี้ขยายตัว 2.6% จาก 2.4% โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกหลีกเลี่ยงการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นปีที่ 3 และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัว 2.5% จาก 1.6% ในปีนี้
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก เพิ่มขึ้น 13,000 ราย สู่ระดับ 242,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน และสูงกว่าตลาดคาดที่ระดับ 225,000 ราย ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 4,750 ราย สู่ระดับ 227,000 ราย สูงสุดใรอบเกือบ 1 ปี
- สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐเผย จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยพุ่งขึ้น 16% ในสัปดาห์ล่าสุด หลังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองปรับตัวลง ส่วนจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 29% ในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
- ม.มิชิแกนเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำกว่าคาดในเดือนมิ.ย. โดยดัชนีปรับตัวลงสู่ระดับ 65.6 จากระดับ 69.1 ในเดือนพ.ค. ขณะที่ตลาดคาดว่าจะปรับตัวขึ้นที่ระดับ 71.5 ขณะเดียวกันผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะเพิ่มขึ้น 3.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า
Europe
- ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลง จากปัจจัยทางการเมืองฝรั่งเศสส่งผล sentiment ลบต่อการลงทุนในภูมิภาค ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสประกาศยุบสภา พร้อมประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะมีขึ้น 2 รอบในวันที่ 30 มิ.ย. และ 7 ก.ค. นอกจากนี้ตลาดถูกกดดันจากหุ้นยานยนต์ยุโรป กังวลจีนจะตอบโต้มาตรการเก็บภาษีนำเข้าจาก EU
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเผย อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 2.8%YoY จากระดับ 2.4%YoY ในเดือนเม.ย. สอดคล้องกับการประมาณเบื้องต้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาภาคบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านราคาภาคบริการในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 3.9%YoY หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.4%YoY ในเดือนเม.ย. ขณะที่ราคาพลังงานและอาหารปรับตัวลง
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศสเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของฝรั่งเศสในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 2.6%YoY กว่าประมาณการเบื้องต้นที่ 2.7%YoY แต่สูงกว่าระดับ 2.4%YoY ในเดือนเม.ย. สาเหตุมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ตลอดจนราคาอาหารที่สูงขึ้นเล็กน้อย
Asia
- China House Prices เดือนพ.ค. หดตัวลง -3.9%YoY โดยปรับตัวลงมากกว่าเดือนก่อนที่ -3.1%YoY สะท้อนภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนยังไม่ฟื้นตัว
ด้าน Industrial Production เดือนพ.ค. ขยายตัว 5.6%YoY ต่ำกว่าคาดและเดือนก่อน (คาด 6.2%YoY, เดือนก่อน 6.7%YoY)
Retail Sales เดือนพ.ค. ขยายตัว 3.7% ดีกว่าคาดและเดือนก่อน (คาด 3.0%YoY, เดือนก่อน 2.3%YoY)
สวนทางกับ Fixed Asset Investment เดือนพ.ค. ที่ขยายตัว 4.0%YoY ต่ำคาดและเดือนก่อน (คาด 4.2%YoY, เดือนก่อน 4.2%YoY) - แบงก์ชาติจีนคงดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนไว้ที่ระดับ 2.50% ตามคาด สะท้อนถึงความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน โดยพิจารณาจากสภาพคล่องในระบบที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งการที่ธนาคารกลางเผชิญกับแรงกดดันในการปกป้องเงินหยวนไม่ให้อ่อนค่าลงอีก
- อินเดียเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวขึ้น 4.75%YoY ในเดือนพ.ค. ชะลอตัวจากระดับ 4.83%YoY ในเดือนเม.ย. ดัชนี CPI ดังกล่าวยังคงอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางอินเดียที่ระดับ 3-6%
- คณะกรรมการ กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี โดยเห็นว่า สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 2.6% และ 3.0% ในปี 2024 และ 2025 จากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกขยายตัวในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ 0.6% และ 1.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และ 0.9% ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ
Commodities
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 4% ปิดระดับ 78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดย EIA สหรัฐปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกในปีนี้ ขณะที่กลุ่ม OPEC ยังคงคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันที่แข็งแกร่งในปีนี้
- ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 1.5% ปิดระดับ 2,332 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และปรับตัวขึ้นรอบสัปดาห์ครั้งแรกในรอบ 1 เดือน จากเงินเฟ้อสหรัฐที่ชะลอตัวลง เพิ่มความหวังว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด และได้ปัจจัยหนุนจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของฝรั่งเศสและสภายุโรป
- ค่าเงินบาทอ่อนค่าบริเวณ 36.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ด้านการเมืองในประเทศ เรื่องการวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกฯ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องถึงนโยบายและมาตรการเศรษฐกิจ และข่าวที่รัฐบาลพยายามจะแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายยังคงทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความกังวล
ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มา: Tradingview.com as of 17 June 2024
อัปเดทกองทุนพักเงิน
ที่มา: AspenRTD, data as of 15 June 2024
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
โดยรายละเอียดกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th
Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
อ่านบทความย้อนหลังได้ที่
https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-10-june-2024/
https://wealthcertified.co.th/wcia-monthly-insight-june-2024/