บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 20 – 24 พฤษภาคม 2567
เงินเฟ้อสหรัฐเดือน เม.ย. ต่ำกว่าคาด ยอดค้าปลีกสหรัฐซบเซาในเดือนเม.ย. เศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวไม่สมดุลและอัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ
Executive Summary
- ตลาดหุ้นโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนี Dow Jones แตะระดับ 40,000 จุดเป็นครั้งแรก จากการคาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงในปีนี้ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐบ่งชี้ถึงการชะลอตัว ด้านตลาดหุ้นเอเชียเพิ่มขึ้นโดดเด่น นำโดยตลาดหุ้นจีน จากคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในจีนและฮ่องกงมีแนวโน้มดีขึ้น และคาดหวังว่ารัฐบาลจีนจะออกนโยบายเพิ่มเติมหนุนภาคอสังหาฯ ทั้งนี้เรายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นทั้งปี แนะนำเข้าลงทุนและสะสมเพิ่มได้ในช่วงที่ตลาดหุ้นย่อตัว จากกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ฟื้นตัวและแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกในปีนี้
- Special Headlines:
เงินเฟ้อสหรัฐเดือน เม.ย. ต่ำกว่าคาด
ยอดค้าปลีกสหรัฐซบเซาในเดือนเม.ย.
เศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวไม่สมดุล - มุมมอง: เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางตลาดที่ยังคงผันผวน จากปัจจัยกดดันหลายส่วน โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม health care technology และ Industrial เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan และเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน
เงินเฟ้อสหรัฐเดือน เม.ย. ต่ำกว่าคาด
- สหรัฐรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 0.3%MoM ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เล็กน้อย และเพิ่มขึ้น 3.6%YoY เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นต่ำสุดในรอบ 3 ปี ด้านดัชนี Core CPI ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.3%MoM สอดคล้องกับที่ตลาดคาด ด้านต้นทุนหวดบริการเพิ่มขึ้น 0.4%MoM ต่ำสุดในรอบปีนี้ และมีรายละเอียดดังนี้:
• การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนเม.ย. 70% มาจากค่าเช่าที่อยู่อาศัยและราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น
• ค่าประกันรถยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้นรายปีมากที่สุดในรอบ 50 ปีและค่ารักษาพยาบาลยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านราคาเสื้อผ้าปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 ปี
• ราคารถยนต์มือสอง ค่าตั๋วเครื่องบินและราคาเฟอร์นิเจอร์ปรับตัวลดลง
ที่มา: Bloomberg
ยอดค้าปลีกสหรัฐซบเซาในเดือนเม.ย.
- กระทรวงพาณิชย์เผย ยอดค้าปลีกสหรัฐในเดือน เม.ย. ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า และมีการปรับลดตัวเลขการเพิ่มขึ้นช่วง 2 เดือนก่อนหน้า โดยเดือนที่ผ่านมาการใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็น อย่าง อาหารและพลังงาน โดยการใช้จ่ายในร้านอาหารและบาร์เพิ่มขึ้น 0.2%MoM หลังจากปรับตัวลง 0.1%MoM ขณะที่รายงานเผยว่ายอดขายสินค้าในแต่ละหมวด มี 7 ใน 13 หมวดที่ยอดขายลดลงในเดือนเม.ย.
- ตัวเลขที่ชะลอตัวนี้เป็นผลมาจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่สูงและผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นและยืดหยุ่นลดลง ด้านหนี้ครัวเรือนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสแรก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จับตาดูอย่างใกล้ชิดลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม
ที่มา: Bloomberg
เศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวไม่สมดุล
- ข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนเม.ย. บ่งชี้ภาคการผลิตฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัว 6.7%MoM มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ด้านยอดการลงทุนสินทรัพย์คงที่โต 4.2%YoY ขยายตัวครั้งแรกในปีนี้ ขณะที่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ลดลง 9.8%YoY ด้านยอดค้าปลีกซึ่งสะท้อนถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง 2.3%MoM ในเดือนเม.ย. ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 65 รวมถึงยอดการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง บ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นการบริโภคเอกชนในประเทศที่อ่อนแอ และยังเป็นปัจจัยกดดันต่อเศรษฐิจโดยรวมและความกังวลภาวะเงินฝืด
- การฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนที่ไม่สมดุลนี้ ได้แรงหนุนมาจากการส่งออกและภาคการผลิต ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะขยายตัวอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความกังวลเรื่องการกีดกันทางค้าของสหรัฐและยุโรปที่ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเมื่อต้นเดือน พ.ค. สหรัฐมีการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนกว่า 2-3 เท่า โดยมุ่งเป้าหมายไปที่สินค้าในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้า EV
ที่มา: Bloomberg
Weekly Recap
US
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินเนอาโพลิส ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าเฟดจะมีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวไปสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% และคาดว่าการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในเดือนมิ.ย. นี้ เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ครั้งในปีนี้
- Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวลง 0.6% ในเดือนเม.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 0.3% ได้รับผลกระทบจากการลดลงของคำสั่งซื้อใหม่ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและตัวเลขการจ้างงานที่ชะลอตัวลง
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 5.7%MoM สู่ระดับ 1.36 ล้านยูนิตในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 1.42 ล้านยูนิต หากเทียบรายปีเพิ่มขึ้น 17.7% ด้านการอนุญาตก่อสร้างบ้านลดลง 3.0%MoM สู่ระดับ 1.44 ล้านยูนิตในเดือนเม.ย.
- กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงาน ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกล่าสุดลดลง 10,000 ราย สู่ระดับ 222,000 ราย สูงกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อยที่ระดับ 219,000 ราย
- Walmart เผยงบไตรมาส 1 ของปีงบการเงินบริษัท โดยมีกำไร 60 เซนต์/หุ้น สูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 52 เซนต์/หุ้น และมีรายได้ 1.651 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าตลาดคาดที่ 1.595 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนธุรกิจอีคอมเมิร์ซในสหรัฐมีการขยายตัว 22% ในไตรมาสดังกล่าว
Europe
- นางอิซาเบล ชนาเบล สมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ECB อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.นี้ หากตัวเลขค่าจ้างและเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ในปัจจุบัน พร้อมระบุว่า ให้ระมัดระวังเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคต
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.1 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 42.9 ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 46.4 โดยดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 10 ได้รับแรงหนุนจากมุมมองการบริโภคภายในประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเผย อัตราเงินเฟ้อของเยอรนีในเดือนเม.ย. ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 2.4%YoY สอดคล้องกับตัวเลขที่ตลาดคาดการณ์
- ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยหุ้นหลายตัวในกลุ่มรถยนต์และกลุ่มพลังงานร่วงลงจากการขึ้นเครื่องหมาย (XD) ด้านหุ้น Siemens ของเยอรมนีปรับตัวลงกดดันตลาด หลังเปิดเผยผลกำไรด้านอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 ของปีงบการเงินบริษัทต่ำกว่าคาด ขณะที่หุ้น Delivery Hero เพิ่มขึ้นแรง หลังบริษัท Uber เผยเข้าซื้อธุรกิจ foodpanda ในไต้หวันและซื้อหุ้นของบริษัท ด้านหุ้น Novo Nordisk ของเดนมาร์กปรับตัวขึ้น เนื่องจากความต้องการยาลดน้ำหนัก Wegovy ที่แข็งแกร่ง
Asia
- จีนประกาศคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีและ 5 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี ซึ่งเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นไว้ที่ระดับ 3.45% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปี ซึ่งใช้อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองไว้ที่ระดับ 3.95% สอดคล้องกับที่ตลาดคาด
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงาน ราคาบ้านใหม่เดือนเม.ย. ลดลง 0.6%MoM จากที่ลดลง 0.3%MoM ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรวดเร็วที่สุดในรอบกว่า 9 ปี ซึ่งตลาดมองว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจกดดันรัฐบาลจีนให้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อพยุงและฟื้นภาคอสังริมทรัพย์ในประเทศ
- รัฐบาลเวียดนามประกาศแต่งตั้งพลตำรวจเอกโต เลิม รัฐมนตรีกระทรวงตำรวจ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ พร้อมเสนอชื่อประธานรัฐสภาคนใหม่ ในการปรับเปลี่ยนผู้นำครั้งใหญ่ ท่ามกลางการรณรงค์ปราบปรามการคอร์รัปชันครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบราชการและสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนต่างชาติ
- ญี่ปุ่นเผย GDP ไตรมาส 1/67 หดตัวลง 2%YoY แย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว 1.5%YoY และหดตัว 0.5%QoQ จากการอุปโภคบริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจลดลง 0.7%YoY และปรับตัวลงติดต่อกัน 4 ไตรมาส
- สภาพัฒนาเผย GDP ไตรมาส 1/67 ของไทยขยายตัว 1.5%YoY จากตลาดคาดว่าจะเติบโตราว 0.7-0.8%YoY และขยายตัว 1.1%%QoQ มาจากแรงส่งของภาคของการบริโภคและการบริการเป็นหลัก โดยเฉพาะการบริโภคเอกชนที่ขยายตัวได้ 6.9%YoY ด้านภาคการส่งออกขยายตัวได้ 2.5%YoY ขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง 27.7%YoY ซึ่งมาจากการล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ
Commodities
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้แรงหนุนจากมุมมองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย.ปีนี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน รวมถึงอุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดของสหรัฐและภาคการผลิตของจีนที่ฟื้นตัว
- ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดระดับ 2,414 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากความคาดหวังว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐล่าสุดชะลอตัวลงตามที่เฟดประเมินไว้ รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน
- ค่าเงินบาทแข็งค่าปิดบริเวณ 36.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า หลังสหรัฐเผยเงินเฟ้อล่าสุดต่ำกว่าที่ตลาดคาดและตลาดการจ้างงานที่ชะลอตัว โดยดัชนี Dollar Index มีการปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 104 จาก 106 เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มา: Tradingview.com as of 20 May 2024
จัดอันดับกองทุนพักเงิน
ที่มา: AspenRTD, data as of 19 May 2024
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
โดยรายละเอียดกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th
Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
อ่านบทความย้อนหลังได้ที่
https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-13-may-2024/
https://wealthcertified.co.th/wcia-monthly-insight-may-2024/