ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Monthly Insight August

02/08/2023

WCIA Monthly บทความประจำเดือนสิงหาคม 2566 เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของ GDP โลก และ BOJ เซอร์ไพร์สตลาดปรับกรอบ YCC สูงขึ้น

Executive Summary

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกในเดือนที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาแข็งแกร่งเกินคาด เงินเฟ้อสหรัฐที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงานและธนาคารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดดเด่น จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและมุมมองเชิงบวกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถเลี่ยงภาวะถดถอยได้ในปีนี้ รวมถึงความคาดหวังที่รัฐบาลจีนจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาน่าผิดหวัง อีกทั้งสินทรัพย์เสี่ยงได้ปัจจัยบวกจากเงินดอลลาร์อ่อนค่า
  • Special Headlines:
    เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด
    IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของ GDP โลก
    BOJ เซอร์ไพร์สตลาดปรับกรอบ YCC สูงขึ้น
  • มุมมอง:เรามีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม Defensive สหรัฐในระยะกลาง ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากช่วงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังจากนี้ และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan อย่าง ตลาดหุ้นจีนและเวียดนามมี Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับอดีตและเทียบกับตลาดหุ้นฝั่ง DM โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่ราคาสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว และคาดว่าทางการจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรฐกิจในประเทศเร่งด่วนในครึ่งปีหลังนี้

Monthly Total Asset Class Return

ที่มา: Koyfin.com data as of 1 Aug 2023, *Annualized returns

SPECIAL HEADLINE: เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด

  • ในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ก.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% สู่ระดับ 5.25%-5.50% ทำระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี หลังจากที่เฟดได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิ.ย. และเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ผ่านมายังคงแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันเฟดได้ปฏิเสธการตอบว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อหรือไม่ เนื่องจากต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคต แต่ได้ส่งสัญญาณว่ามีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 2% ทั้งนี้การประชุมเฟดครั้งถัดไปมีกำหนดการในเดือน ก.ย. 
  • ด้านนักลงทุนให้น้ำหนัก 50% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งก่อนสิ้นปีนี้และอาจถือเป็นการสิ้นสุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนและเจ้าหน้าที่เฟดมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเลี่ยงการเกิดภาวะถดถอยได้ในปีนี้ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง และคาดว่า GDP สหรัฐปีนี้จะขยายตัวที่ 1.8% แต่จะเริ่มเห็นการชะลอตัวของตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงสิ้นปีนี้

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-07-26/fed-raises-rates-to-22-year-high-leaves-door-open-for-more

IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของ GDP โลก

  • กองทุนระหว่างประเทศ หรือ IMF ปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจโลก (GDP) ปีนี้ขึ้นเป็น 3% จาก 2.8% หลังจากสหรัฐเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้จากการปรับเพิ่มเพดาหนี้ได้ รวมถึงตลาดคลายความกังวลต่อภาวะตลาดสินเชื่อตึงตัวมากขึ้น โดยปีนี้มองว่าเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วจะชอลอตัวแต่เศรษฐกิจทางฝั่งประเทศกำลังพัฒนายังมีการขยายตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกันคาดการณ์การเติบโตปี 2567 ที่ระดับ 3% เช่นกัน และระบุว่ามีโอกาส 60% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ด้านเงินเฟ้อปีนี้ IMF คาดว่าจะอยู่ระดับ 6.8% จาก 7% ที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ ชะลอจากระดับ 8.7% ในปี 65
  • ด้านความเสี่ยงหลักในปีนี้ยังคงเป็นเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดว่าธนาคารกลางหลักๆ ของโลกจะยังคงใช้นโยบายเข้มงวดไปได้นานเท่าไหร่ เพราะเป็นภารกิจหลักของธนาคารกลางต่างๆ ที่จะควบคุมเงินเฟ้อสู่กรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่สูงได้บั่นทอนกิจกรรมเศรษฐกิจโลกและทำให้อุปสงค์โลกชะลอตัว

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-07-25/imf-lifts-world-growth-outlook-on-us-stability-but-risks-linger?srnd=economics-v2

BOJ เซอร์ไพร์สตลาดปรับกรอบ YCC สูงขึ้น

  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และตรึงเป้าหมายผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับราว 0% อย่างไรก็ดีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรดังกล่าวจะสามารถปรับตัวขึ้นหรือลงได้ราว 0.5% จากระดับเป้าหมายที่ 0% ซึ่งถือเป็นการกำหนดกรอบเพื่ออ้างอิงมากกว่าเป็นการกำหนดเพดานที่ตายตัว นอกจากนี้ BOJ จะเสนอซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีที่อัตราดอกเบี้ย 1% แทนการเสนอซื้อที่อัตราดอกเบี้ยเดิมที่ระดับ 0.5%
  • โดยระบุถึงสาเหตุของการปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ว่า เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มขยายตัวและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงต้องการที่จะพยุงค่าเงินเยนที่อ่อนค่าอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สินค้านำเข้ามีต้นทุนสูงขึ้นและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-07-28/what-the-bank-of-japan-s-yield-curve-control-change-means-for-global-markets

Monthly Recap

US

  • สหรัฐเผยดัชนี CPI ในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 3.0%YoY ต่ำสุดรอบกว่า 2 ปี ซึ่งดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ด้านตลาดคาดว่าดัชนี CPI ทั่วไปเดือน มิ.ย. จะเพิ่มขึ้น 3.1%YoY จากระดับ 4.0%YoY ในเดือน พ.ค. ด้านดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 4.8%YoY ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 5.0%YoY
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยยอดค้าปลีกในเดือน มิ.ย. ต่ำกว่าคาด โดยยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.2%MoM ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5%MoM จากเพิ่มขึ้น 0.5%MoM ในเดือน พ.ค. โดยได้รับผลกระทบจากยอดขายของสถานีบริการน้ำมันที่ปรับตัวลง 1.4%MoM ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้างและอาหารเพิ่มขึ้น 0.2%MoM ต่ำกว่าตลาดคาดเล็กน้อย
  • ตลาดคาดบริษัทสหรัฐรายงานกำไรจะลดลงในไตรมาส 2/66 โดยข้อมูลจาก FactSet ระบุว่า บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า บริษัทในดัชนี S&P 500 จะมีกำไรลดลง 7% ในไตรมาส 2/66 ซึ่งจะเป็นผลประกอบการที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2/63 ด้าน Refinitiv ระบุตลาดคาดการณ์ว่าบริษัทในดัชนี S&P 500 จะมีกำไรลดลง 6.4% ในไตรมาส 2 นี้
  • สหรัฐเผยจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มิ.ย. ต่ำกว่าคาด โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 209,000 ตำแหน่ง ขณะที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นที่ระดับ 225,000 ตำแหน่ง ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 306,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% จาก 3.7% สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์

Europe

  • อังกฤษเผยยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย. สูงเกินคาด โดยยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 0.7%MoM ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2%MoM จากยอดขายอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งได้อานิสงส์จากช่วงวันหยุดพิเศษของธนาคารและส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากสภาพอากาศที่ดี ด้านยอดขายในห้างสรรพสินค้าและร้านเฟอร์นิเจอร์ขยายตัวได้ดีในเดือน มิ.ย. เช่นกัน
  • ดัชนี PMI รวมภาคผลิต – บริการยูโรโซนเดือน มิ.ย. หดตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นสุดท้าย ซึ่งใช้เป็นมาตรวัดภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลงสู่ 49.9 ในเดือน มิ.ย. จาก 52.8 ในเดือน พ.ค. โดยดัชนีดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของทั้งอุตสาหกรรมบริการและการผลิตของโรงงาน
  • เงินเฟ้อทั่วไปยูโรโซนเดือน มิ.ย. สอดคล้องกับที่คาด แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง โดยสำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) เปิดเผยว่า เงินเฟ้อทั่วไปในยูโรโซนในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นที่ระดับ 5.5%YoY แต่เงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาพลังงานและอาหารยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูงและปรับขึ้นสู่ 5.4%YoY ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์
  • ยอดส่งออกเยอรมนีในเดือน พ.ค. ปรับตัวลงสวนทางกับที่คาด โดยยอดการส่งออกของเยอรมนีลดลง 0.1%MoM ขณะที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3%MoM โดยถูกกดดันจากยอดส่งออกไปยังสหรัฐที่ลดลง 3.6%MoM และส่งออกไปยังรัสเซียลดลง 7.4%MoM อย่างไรก็ดียอดการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.7%MoM ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นบ่งชี้ถึงแนวโน้มว่าอุปสงค์ในประเทศอาจเพิ่มขึ้น

Asia

  • จีนปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติและตั้งนาย พาน กงเซิ่งดำรงตำแหน่ง โดยนายพานเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ที่หนุนการใช้มาตรการแข็งกร้าวต่อนักเก็งกำไรในตลาดเงิน และมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปธนาคารของรัฐ การคุมเข้มในตลาดอสังหาฯ ทั้งนี้ผู้ว่าฯ คนใหม่มีภารกิจที่ต้องกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนและแก้ไขปัญหาหนี้จำนวนมากของรัฐบาลท้องถิ่นตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้
  • ฟันโฟลว์ไหลเข้าตลาดหุ้นไต้หวัน รับอานิสงส์หุ้นกลุ่ม AI และเซมิคอนดักเตอร์ มีรายงานว่า กระแสการลงทุนในหุ้นไต้หวันปีนี้หนุนให้ตลาดหุ้นไต้หวันปรับตัวเพิ่มขึ้น 20% และทำผลงานได้ดีที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชีย เนื่องจากตลาดหุ้นไต้หวันประกอบด้วยบริษัทชั้นนำที่ดำเนินงานครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานของฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ จากกระแส Generative AI อย่าง ChatGPT ในช่วงที่ผ่านมา
  • จีนประกาศมาตรการกระตุ้นยอดขายรถยนต์-อิเล็กทรอนิกส์ โดยทางการออกมาเผยว่า ภาคยานยนต์จะเป็นกลไกสำคัญที่พยุงการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยในเดือน มิ.ย. จีนได้ขยายนโยบายยกเว้นภาษีการซื้อยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ไปจนถึงสิ้นปี 2570 และภูมิภาคต่างๆ จะได้รับการเพิ่มโควตาสำหรับการซื้อรถยนต์ประจำปีและจะพยายามส่งเสริมการขายรถยนต์มือสอง
  • แบงก์ชาติชี้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเป็น NPL เพิ่ม เร่งออกทางแก้ที่ยั่งยืน โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ทั้งนี้ ธปท. กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบตลอดวงจรหนี้ ส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลงและให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ไม่นำไปสู่การก่อหนี้สินเกินตัว

Commodities

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดที่ 81.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปิดระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นว่าอุปสงค์น้ำมันจะฟื้นตัวในระยะถัดจากนี้ จากแรงหนุนที่คาดว่ารัฐบาลจีนจะกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งคาดว่าซาอุดีอาระเบียจะปรับลดการผลิตลงอีกในเดือน ก.ย.
  • ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ $1,952.74 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ หลังสัญญาณเงินเฟ้อที่ชะลอตัวต่อเนื่องเพิ่มความหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าปิดตลาดที่ 34.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคและเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน หลังตลาดคาดทิศทางการเมืองจะมีความชัดเจนมากขึ้นและแนวโน้มภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวในครึ่งปีหลัง ด้านตลาดคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.25% ในการประชุมวันที่ 2 ส.ค. นี้ สวนทางกับธนาคารกลางในเอเชียส่วนใหญ่ที่ส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น

ที่มา: Infoquest

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview, data as of 1 August 2023

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

ที่มา: AspenRTD, data as of 1 Aug 2023

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://wealthcertified.co.th/wcia-monthly-insight-july-2023/

https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/

Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันของเอกสารฉบับนี้ รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

     ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการขาดทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น

      เอกสารการลงทุนฉบับนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการแนะนำการลงทุน และอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในบริษัท (internal use only) เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ทั่วไป กรณีที่มีการนำเอกสารนี้ไปเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไป และไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้เอกสารฉบับนี้ บริษัทมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางด้านกฎหมายได้ทันที

You cannot copy content of this page