ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

Wealth Certified Cover

Wealth Certified Weekly Highlight 26 Dec 2022

26/12/2022

Wealth Certified บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 26 – 30 ธันวาคม 2565 สัปดาห์สุดท้ายของปี update ตัวเลข PCE สหรัฐ และนโยบาย BOJ ล่าสุด

Key takeaways

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกยังถูกกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจถดถอย หลังเฟดยังไม่มีทีท่าที่จะส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเข้มงวด ขณะเดียวกันตลาดการเงินและราคาสินทรัพย์ทั่วโลกผันผวนช่วงกลางสัปดาห์หลังจากที่ BOJ ขยับตัวใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น
  • Special Headlines: ตัวเลข PCE สหรัฐฯ เดือน พ.ย. และ BOJ เซอร์ไพรส์ตลาด ขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี
  • Technical: ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่าสัปดาห์นี้จะทรงตัว เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนหยุดยาวช่วงปีใหม่แล้ว และตลาดไร้ความหวัง Santa Rally ด้านดัชนี CSI300 และ VN 30 ทยอยสะสมได้ หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบ 1,600 – 1,650 จุด
  • ตลาดอินโดนีเซียเข้าซื้อตอนตลาดย่อตัวได้ ทองคำยังมองแนวโน้มบวก ราคาน้ำมันทยอยสะสมหรือเก็งกำไรได้ จุดคัทที่ 73 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • กลยุทธ์การลงทุนสัปดาห์นี้: ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน ยังคงแนะนำคงสัดส่วนการลงทุนที่แนะนำและถือเงินสดรอลงทุนในปีหน้า
  • กองทุนแนะนำให้ทยอยสะสมเพื่อการลงทุนยาว: Global EQ (tech), China EQ, Vietnam EQ

Performance ของแต่ละสินทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา

Source: Koyfin.com data as of 25 Dec 2022, *Annualized returns

Special Headlines : ตัวเลข PCE สหรัฐฯ เดือน พ.ย.

ตัวเลขดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐฯ (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 5.5%YoY ในเดือน พ.ย. สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ และทำระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 64 แต่ยังคงสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ 2% ขณะที่ตลาดมองว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลง แต่ค่าจ้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงตึงตัวและหนุนให้เงินเฟ้ออาจจะยังไม่ปรับตัวลดลงอย่างยั่งยืน ซึ่งทำให้เฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายเหนือระดับ 5% ต่อไป

ด้านดัชนีการใช้จ่ายส่วนบุคคลซึ่งถูกปรับตามการเปลี่ยนแปลงของราคาปรับตัวลงในเดือน พ.ย. ทำระดับที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. จากผลกระทบของเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูง อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายด้านบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นในส่วนของร้านอาหารและที่พัก ซึ่งช่วยชดเชยการจับจ่ายใช้สอยในหมวดสินค้าที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ผู้บริโภคสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดการใช้จ่ายมากขึ้น จากการรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่าอัตราการออมของประชาชนปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4% ในเดือน พ.ย. ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ตั้งเดือน ก.ค. แต่ยังคงอยู่ระดับต่ำสุดจากสถิติ

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-12-23/us-inflation-continues-to-ease-but-wages-will-keep-fed-on-alert

BOJ เซอร์ไพรส์ตลาด ขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี

แบงก์ชาติญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงดอกเบี้ยที่ระดับ -0.1% และตรึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ 0% พร้อมขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ช่วง -0.5% ถึง +0.5% จาก -0.25% ถึง +0.25% ถือเป็นมาตรการที่สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด หลังจากประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วหนึ่งเดียวที่ใช้มาตรการคงดอกเบี้ยต่ำมาตลอด ได้ขยับตัวมาเปลี่ยนนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีได้ปรับตัวลดลงแรง หลังจากการประกาศดังกล่าว และค่าเงินเยนแข็งค่าราว 3% ด้านนักลงทุนได้ขายพันธบัตรรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ ทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลียและฝรั่งเศส ผลกระทบดังกล่าวได้ลามไปถึง Future ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียและราคาทองคำ

ทั้งนี้ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ และการประกาศของ BOJ ครั้งนี้ถือเป็นการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นกลายๆ ซึ่งอาจทำให้เงินทุนไหลกลับเข้าประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนราคาสินทรัพย์ทั่วโลกถูกกดดันจากการขยับตัวของ BOJ ครั้งนี้

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-12-20/yen-jumps-dollar-sinks-after-boj-surprises-with-policy-tweak
https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-12-20/kuroda-shocker-is-just-the-start-of-boj-s-risky-path-toward-exit

Weekly Recap

สหรัฐอเมริกา : ตลาดการจ้างงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง ยังช่วยพยุงการบริโภคเอกชน

  • กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 2,000 ราย สู่ระดับ 216,000 ราย ในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 222,000 ราย ทั้งนี้จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานคงค้างลดลง 6,000 ราย สู่ระดับ 1.672 ล้านราย
  • ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวลง 1.0% ในเดือน พ.ย. ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน และปรับตัวลงจากที่ลดลง 0.9% ในเดือน ต.ค. ส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย จากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงและการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลงในเดือน พ.ย. สู่ระดับ 1.427 ล้านยูนิต แต่สูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 1.4 ล้านยูนิต โดยได้รับผลกระทบจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่สูงขึ้น
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยว่า ยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 5.8% สู่ระดับ 640,000 ยูนิตในเดือน พ.ย. สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าลดลงสู่ระดับ 600,000 ยูนิต จากระดับ 605,000 ยูนิตในเดือน ต.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง
  • สหรัฐฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านร่วงลงเป็นเดือนที่ 12 โดยสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลงสู่ระดับ 31 ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางปี 55 สาเหตุจากต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นสูงและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่สูงขึ้น

ยุโรป : วิกฤตเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงยังบั่นทอน Sentiment การลงทุน

  • อังกฤษเผยเศรษฐกิจไตรมาส 3/65 หดตัวกว่าที่คาด โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเผย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอังกฤษหดตัวลง 0.3% ในเดือน ก.ค.-ก.ย. ซึ่งแย่กว่าการประมาณการครั้งแรกที่คาดว่าจะหดตัว 0.2% เนื่องจากการลงทุนภาคธุรกิจออกมาไม่ดี บ่งชี้ว่าอังกฤษมีแนวโน้มเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึงปี 67
  • สมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ (CBI) เปิดเผยดัชนียอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ +11 ในเดือน ธ.ค. สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ -23 จากระดับ -19 ในเดือน พ.ย. อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังมีแนวโน้มลดการใช้จ่ายในปีหน้า โดยถูกกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
  • สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี (Ifo) เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 88.6 ในเดือน ธ.ค. มากกว่าคาดที่ระดับ 87.4 และเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. ที่ 86.4  บ่งชี้ถึงแนวโน้มความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ดีขึ้น แม้ว่าจะยังคงเผชิญวิกฤตพลังงานและอัตราเงินเฟ้อสูงอยู่ก็ตาม

เอเชีย : สถานการณ์โควิดจีนกลับมากดดันตลาดหุ้นเอเชีย

  • ปักกิ่งเตรียมเร่งนำเข้ายารักษาโควิดหลังยอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันจากภาวะขาดแคลนภายในประเทศและเร่งความเร็วในการตรวจยานำเข้าบริเวณด่านศุลกากร ทั้งนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจีนเพิ่มสูงขึ้นหลังจีนประกาศยกเลิกการบังคับใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบกะทันหันเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
  • ฮ่องกงเตรียมเปิดพรมแดนต้อนรับชาวจีนเต็มรูปแบบภายในกลางเดือนหน้า โดยผู้บริหารเกาะฮ่องกงเผยว่า จะเปิดพรมแดนที่ติดกับจีนแผ่นดินใหญ่ก่อนกลางเดือน ม.ค. 66 ถือเป็นการสิ้นสุดการปิดประเทศที่ดำเนินมานาน 3 ปี ขณะที่จีนเองก็เร่งผ่อนคลายกฎควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
  • ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เดือน ส.ค. ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ เพื่อสกัดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายในปีหน้า ทั้งนี้ BI มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repurchase rate) ระยะเวลา 7 วันในอัตรา 0.25% สู่ระดับ 5.50% เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งหมด 2% แล้วนับตั้งแต่เดือน ส.ค. ปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ 5.95% ในเดือน ก.ย.

สินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากคาดการณ์อุปทานยังตึงตัว

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดตลาดที่ 79.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังมีข่าวว่ารัสเซียลดการส่งออกน้ำมันดิบลง 20% ในเดือน ธ.ค. หลังจากสหภาพยุโรป (EU) และประเทศกลุ่ม G7 ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรและกำหนดเพดานน้ำมันรัสเซีย และได้ปัจจัยหนุนจากที่สหรัฐฯ วางแผนซื้อน้ำมันเพื่อนำเข้าสู่คลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ทำให้อุปสงค์น้ำมันเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเงินดอลลาร์วหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง
  • ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดที่ $1,798.38 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ อีกทั้งนักลงทุนเข้าซื้อทองคำเนื่องจากเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามที่ตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าปิดตลาดที่ 34.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่า จากแรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลัง BOJ ประกาศขยายกรอบการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์รัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวจากปัจจัยด้านการท่องเที่ยว

ความเคลื่อนไหวหุ้นสหรัฐในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

หุ้น TSLA ปรับตัวลดลงแรงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 หลังมีการรายงานการขายหุ้นซึ่งอีลอน มัสก์ ล่าสุดมีการแถลงการณ์ว่าจะไม่ขายหุ้นออกมาอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี และการลดราคารถยนต์ในรุ่น Model 3 และ Model Y $5,000-$7,500 ซึ่งนักลงทุนกังวลถึงความต้องการรถที่กำลังลดลง หลังจากมีการประกาศการส่งมอบและรายได้ที่ต่ำกว่าเป้าในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา

Source: TradingView 25 Dec 2022

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

อันดับ 1 ประจำสัปดาห์นี้ ได้แก่ KSFPLUS-A ของบลจ.กรุงศรีฯ สำหรับการพักเงินระยะสั้น ซึ่งเป็นกองทุนความเสี่ยง 4 ขณะที่กองทุนความเสี่ยง 1 (Money Market) ยังคงเป็น T-CASH เช่นเดิม

Source : AspenRTD data as of 25 DEC 2022
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

กลยุทธ์การลงทุนในช่วงสัปดาห์นี้

จากสัปดาห์ก่อนเราแนะนำไม่เพิ่มการลงทุนโดยเน้นการถือเงินสดไว้ลงทุนข้ามปี โดยมองว่าดัชนีมี Downside ก่อนที่การซื้อขายจะเบาบางลงเพื่อเตรียมหยุดสิ้นปี

กลยุทธ์สัปดาห์นี้ ยังคงมุมมองเดิมในการรักษาระดับการลงทุนตามสัดส่วนที่แนะนำ

กองทุนแนะนำให้ทยอยสะสมเพื่อการลงทุนยาว
Global EQ (tech), China EQ, Vietnam EQ, ทองคำ

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับการจัดพอร์ตการลงทุนในแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

WCIA Weekly Highlight 19 December – Wealth Certified

WCIA Monthly Insight Dec 2022 – Wealth Certified

Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน ของเอกสารฉบับนี้รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการลงทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น

เอกสารฉบับนี้ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปและไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมดโดยปราศจากความเห็นชอบและอนุญาตจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด

You cannot copy content of this page