Fed Rate Hike : ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% มาอยู่ที่ระดับ 3% – 3.25% ในการประชุมเดือน ก.ย. เมื่อวานนี้
โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% 3 ครั้งติดต่อกัน เพื่อที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 8.3% นอกจากนี้ Fed ยังส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีนี้ ( Terminal Rate ) จะอยู่ที่ระดับ 4.4% และอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566 จะอยู่ที่ระดับ 4.6%
ดังนั้นมีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยอีก 1.25% ในการประชุม 2 ครั้งที่เหลือในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม และมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในปีหน้า
ด้านถ้อยแถลงการณ์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากการประชุมแจ็คสัน โฮลก่อนหน้านี้ ซึ่ง Fed ยังคงพยายามที่จะใช้เครื่องมือต่างๆ ในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 5.4% ในปีนี้ และกลับมาอยู่ในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ระดับ 2% ในปี 2568 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ( ซึ่งไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร ) ในปีนี้อยู่ที่ระดับ 4.5% และระดับ 2.1% ในปี 2568
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เฟดได้ออกมาระบุว่าจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า และคาดการณ์ว่าการใช้นโยบายการเงินเชิงรุกตามแผนของเฟด จะส่งผลต่ออัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ระดับ 3.7% เพิ่มขึ้นเป็น 4.4% ในปีหน้า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย และประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 0.2% ในปีนี้
นอกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว เฟดยังได้ลดจำนวนการถือครองพันธบัตรที่สะสมมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยในเดือนกันยายนจะเป็นจุดเริ่มของมาตรการลดขนาดงบดุลอย่างจริงจัง ด้วยวงเงิน 95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน จากการที่เฟดปล่อยให้พันธบัตรที่ครบกำหนดอายุไถ่ถอนหมดไป เพื่อลดขนาดงบดุลที่ปัจจุบันมีมูลค่า 8.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Dot Plot ล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ
ด้าน dot plot เดือนกันยายนเผย อัตราดอกเบี้ยระหว่างกลางสิ้นปีนี้อยู่ที่ระดับ 4.4% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.4% ใน dot plot เดือนมิถุนายน อัตราดอกเบี้ยในปีหน้าอยู่ที่ 4.6% จาก 3.8% และอัตราดอกเบี้ยปี 2567 ที่ระดับ 3.9% จาก 3.4% ตามลำดับ
และจากการคาดการณ์เงินฟ้อของเฟด ในรายงานเดือนกันยายนมีการเปลี่ยนแปลงจากเดือนมิถุนายนดังนี้
- อัตราเงินเฟ้อ PCE ปี 2565 เพิ่มขึ้น 5.3%- 5.7% จาก 5.0% – 5.3%
- อัตราเงินเฟ้อ PCE ปี 2566 เพิ่มขึ้น 2.6%- 3.5% จาก 2.4% – 3.0%
- อัตราเงินเฟ้อ PCE ปี 2567 จะอยู่ที่ระดับ 2.1% – 2.6% จาก 2.0% – 2.5%
- อัตราเงินเฟ้อ PCE ปี 2568 จะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 2.0% – 2.2%
อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ กับประเทศอาเซียน
สกุลเงินเอเซียกลับมาถูกกดดันอีกครั้งหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% เมื่อคืนนี้ ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และประเทศในเอเซียถ่างมากขึ้น ขณะที่ดัชนีตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ในเอเซียปรับตัวลง 1.8% ในเดือนกันยายน
กราฟ: แสดงส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และประเทศในอาเซียน
ส่วนต่างของดอกเบี้ยนโยบายระหว่างสหรัฐฯ และประเทศในอาเซียนกว้างขึ้น โดยตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของมาเลเซียจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.75% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ถูกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4% – 4.4% ในสิ้นปีนี้ โดยส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่าง 2 ประเทศจะอยู่ที่ 1.25% -1.5% ซึ่งค่าดังกล่าวเป็นการต่ำมากกว่า 5 เท่า Standard Deviation ของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับสหรัฐฯ เฉลี่ย 5 ปี ขณะที่อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์มีค่ามากกว่า 4 เท่า Standard Deviation ของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับสหรัฐฯ เฉลี่ย 5 ปี ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องที่ 37.30 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันนี้
Target Rate Probabilities สำหรับการประชุมครั้งหน้า 2 พ.ย.นี้
ตลาดมองว่าโอกาสที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75bp ไปจนถึง 4% นั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ Bond Yield สหรัฐยังมีช่องว่างให้ขึ้นต่อและเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะดัชนีหุ้นสหรัฐต่อไปในช่วงนี้
กลยุทธ์การลงทุนที่มีต่อ Fed Rate Hike ในครั้งนี้
เรามีมุมมองว่า Fed ยังจริงจังกับการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และทำให้ดัชนีหุ้นทั่วโลกยังมี downside ซึ่งยังต้องรอคอยผลการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้ รวมถึงนักลงทุนยังคงมองว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นนานกว่าที่เคยคาดจนถึงปี 2567 ซึ่งควรจะจับตาตัวเลขเงินเฟ้อ CPI และ PCE หากปรับตัวลดลงเร็วกว่าคาด ก็น่าจะทำให้ตลาดมีการปรับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงและทำให้ตลาดสามารถ Rebound ขึ้นได้ โดยดู indicator อย่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 1 ปี, 2 ปี หากขึ้นมาระดับใกล้เคียงระดับ 4.4% ตามที่ตลาดคาดในตอนนี้ก็จะเป็นจุดสะสมหุ้นที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยเช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่ม Growth หรือกลุ่มตราสารหนี้ในประเทศและ ต่างประเทศ อายุมากกว่า 1 ปี ได้
ที่มา:
https://www.cnbc.com/2022/09/21/fed-rate-hike-september-2022-.html
อ่านบทความก่อนหน้าของทีมงาน Investment Wealth Certified
Market React to Inflation – Wealth Certified
ทีมงาน Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : ผู้จัดการกองทุน, นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์, ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน