สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวจากความคาดหวังในการผ่อนคลายภาษีศุลกากรระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น Alphabet Microsoft และ Apple มีผลต่อทิศทางของตลาด ตลาดหุ้นสหรัฐ โดยดัชนี Nasdaq ปรับเพิ่มขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดที่ +6.7% และดัชนี S&P500 + 4.6% ขณะที่ทองคำแม้จะเผชิญแรงขายในระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี ที่+24.9%
Major Indices Return


Valuations
ค่า PE ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นจาก 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้กลับมามีค่าเหนือค่าเฉลี่ย 10 ปี อีกครั้งโดยตลาดหุ้นสหรัฐมีค่า Forward PE 20x ตลาดหุ้นยุโรป 13.90x ทำให้ Earning Yield Gap แคบลงกว่าสัปดาห์ก่อน แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแต่ละประเทศจะมีแนวโน้มลดลง
IMF-World Economic outlook 2025

• คาดว่า GDP โลกจะลดลงเหลือ 2.8% ในปี 2025 จาก 3.3% ในปี 2024 และฟื้นตัวเป็น 3.0% ในปี 2026 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงปี 2000–2019 ที่ 3.7%
• การเติบโตที่ลดลงสะท้อนผลจาก นโยบายกีดกันทางการค้า ของสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกยังไม่กลับสู่เป้าหมายคาดว่าอัตราเงินเฟ้อโลกจะอยู่ที่ 4.3% ในปี 2025 โดยประเทศพัฒนาแล้วจะกลับสู่ระดับเป้าหมายได้เร็วกว่า
• นโยบายภาษีของสหรัฐฯ เริ่มเรียกเก็บภาษีขั้นต่ำ 10% ต่อทุกประเทศ และอัตราสูงสุดถึง 145% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน
• ประเทศคู่ค้าหลายประเทศ เช่น แคนาดา จีน และสหภาพยุโรป ตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีเช่นกัน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการค้าอย่างรุนแรง
• ดัชนีความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าเพิ่มสูงสุดในรอบหลายปี สร้างแรงกดดันต่อการบริโภคและการลงทุนทั่วโลก
ผลกระทบต่อประเทศหลัก
• สหรัฐฯ: คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวเหลือ 1.8% ในปี 2025 (จาก 2.8% ในปี 2024)
• จีน: เติบโตลดลงเหลือ 4.0% เพราะภาษีนำเข้า ความไม่แน่นอน และภาคอสังหาริมทรัพย์อ่อนแอ ยูโรโซน: เติบโตเพียง 0.8% โดยเยอรมนีเติบโต 0.0% และฝรั่งเศส 0.6%
แนวโน้มเติบโตระยะกลาง:
IMF คาดว่าอัตราเติบโตโลกในอีก 5 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 3.2% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนโควิด
ความเสี่ยงหลัก:
• การตอบโต้ทางการค้าที่ยืดเยื้อ
• ความไม่แน่นอนทางนโยบายที่ฉุดความเชื่อมั่น
• ความผันผวนของตลาดการเงินและค่าเงิน
• ภัยธรรมชาติและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น
Source: World Economic Outlook, April 2025: A Critical Juncture amid Policy Shifts
update ความเคลื่อนไหวการเจรจาการค้า
ฝั่งสหรัฐฯ
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียมีความคืบหน้า โดยรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เจ.ดี. แวนซ์ ได้เดินทางเยือนอินเดียและพบปะกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี
ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงใน “กรอบข้อตกลง” สำหรับการเจรจา ซึ่งครอบคลุม 19 หมวดหมู่สำคัญ เช่น การเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตร อีคอมเมิร์ซ การจัดเก็บข้อมูล และแร่ธาตุสำคัญ . อินเดียแสดงความยินดีที่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ กว่า 55% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด เพื่อแลกกับการยกเลิกหรือชะลอการเก็บภาษี “reciprocal tariffs” ที่สหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน
รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สก็อตต์ เบสเซนท์ แสดงความมั่นใจว่าอินเดียจะเป็นประเทศแรกที่บรรลุข้อตกลงการค้าใหม่กับสหรัฐฯ ก่อนที่มาตรการภาษีใหม่จะมีผลในเดือนกรกฎาคม ข้อตกลงนี้ยังครอบคลุมความร่วมมือด้านพลังงาน การป้องกันประเทศ และเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการให้อินเดียเพิ่มการนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากสหรัฐฯ
ฝั่งจีน
พรรคการเมือง Politburo ของจีน นำโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศเตรียมแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือแรงกระแทกจากภายนอก โดยเน้นสนับสนุนเศรษฐกิจผ่านเครื่องมือการเงินใหม่และการส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยี การบริโภค และการค้า แม้เผชิญแรงกดดันจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ แต่จีนยังเลือกใช้แนวทาง “อดทน” รอดูสถานการณ์ แทนที่จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบทันที
รัฐบาลยืนยันเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนที่อนุมัติไว้เมื่อต้นเดือนมีนาคม พร้อมส่งสัญญาณว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยและอัตราส่วนกันสำรองของธนาคาร (RRR) ในจังหวะที่เหมาะสม เพื่อเสริมสภาพคล่อง
แม้การเติบโต GDP ไตรมาส 1/2568 ดีกว่าคาด แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงชะลอตัวจากผลกระทบของภาษีศุลกากรสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ยังไม่มีความคืบหน้า จีนยังคงยืนยันว่าไม่มีการเจรจาหรือการหารือใด ๆ ด้านภาษีเกิดขึ้น และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการภาษีฝ่ายเดียวทั้งหมด
Alphabet (GOOGL) รายงานงบดีกว่าคาด
Alphabet Inc. (GOOGL) รายงานกำไรต่อหุ้น (EPS) สำหรับไตรมาส 1/2025 ที่ 2.81 ดอลลาร์ สูงกว่าประมาณการเฉลี่ยของนักวิเคราะห์ที่ 2.02 ดอลลาร์ ขณะที่รายได้รวมแตะ 90.23 พันล้านดอลลาร์ เติบโต 12.04% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ซุนดาร์ พิชัย CEO ของ Alphabet กล่าวว่า บริษัทเห็นการเติบโตที่แข็งแกร่งจากทุกกลุ่มธุรกิจ โดยได้รับแรงหนุนจากกลยุทธ์เทคโนโลยี AI แบบครบวงจร การเปิดตัวโมเดล AI อัจฉริยะ Gemini 2.5 ถือเป็นก้าวกระโดดสำคัญ ขณะที่บริการ Search ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยฟีเจอร์ AI Overviews มีผู้ใช้งานกว่า 1.5 พันล้านคนต่อเดือน
ธุรกิจสมัครสมาชิกเติบโตแข็งแกร่งเช่นกัน นำโดย YouTube และ Google One ที่มีสมาชิกแบบชำระเงินรวมกันทะลุ 270 ล้านราย ขณะที่กลุ่มธุรกิจคลาวด์ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของโซลูชันด้าน AI และเทคโนโลยีดิจิทัล
Source: Earning Whispers, https://www.investing.com/earnings-calendar/
กองทุนออกใหม่ และการจัดอันดับกองทุนพักเงินประจำสัปดาห์

จัดอันดับกองทุนพักเงินประเภทกองทุนตลาดเงินและตราสารหนี้ระยะสั้น เรียงตามผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี


ติดตามบทความอื่นๆได้ที่ https://wealthcertified.co.th/market-update/
Disclaimer
ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันของเอกสารฉบับนี้ รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการขาดทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น
เอกสารฉบับนี้ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปและไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยปราศจากความเห็นชอบและอนุญาตจากบริษัทนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด