ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Weekly Highlight 18 March 2024

20/03/2024

บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 18 – 22 มีนาคม 2567
ดัชนี PPI สหรัฐในเดือน ก.พ. สูงกว่าคาด PBOC คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ตามคาด ส่องนโยบายหลักของไบเดนและทรัมป์ และอัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ     

Executive Summary

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลง โดยนักลงทุนขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและผู้ผลิตชิป
    และถูกกดดันจากบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นแตะ 4.3% ด้านดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐล่าสุดที่ออกมาสูงกว่าตลาดคาด อาจทำให้เฟดตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าเดิม ขณะที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากระดับ valuation ปัจจุบันค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับสถิติในอดีต จึงมีความน่าสนใจในการสร้างผลตอบแทน และได้ปัจจัยบวกจากเงินเฟ้อของจีนเดือน ก.พ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าที่คาด
  • Special Headlines:
    ดัชนี PPI สหรัฐในเดือน ก.พ. สูงกว่าคาด     
    PBOC คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ตามคาด     
    ส่องนโยบายหลักของไบเดนและทรัมป์
  • มุมมอง: เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางตลาดที่ยังคงผันผวน จากปัจจัยกดดันหลายส่วน โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม health care technology และ Industrial เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan และเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน ด้านตลาดหุ้นไทยมองว่ามี downside risk ที่ค่อนข้างจำกัด นักลงทุนสามารถทยอยสะสมลงทุนได้ คาดว่าจะเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจะมีพัฒนาการเชิงบวกหลังจากนี้

Weekly Asset Total Return

ที่มา: Koyfin.com data as of 17 March 2024, *Annualized returns

ดัชนี PPI สหรัฐในเดือน ก.พ. สูงกว่าคาด

  • ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สหรัฐในเดือน ก.พ. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6%MoM และ 1.6%YoY เป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 เดือน และสูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3%MoM เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกัน PPI ฝั่งสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2%YoY เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ด้าน Core PPI เพิ่มขึ้น 0.3%MoM สูงกว่าคาดเล็กน้อย ข้อมูลดังกล่าวทำให้ตลาดมองว่า เฟดอาจจะชะลอการตัดสินใจที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไป
  • ด้านยอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6%MoM น้อยกว่าที่ตลาดคาดระดับ 0.8%MoM ได้แรงหนุนจากยอดขายวัสดุก่อสร้างและรถยนต์ ขณะที่ยอดค้าปลีกของเฟอร์นิเจอร์ ร้านยาเวชภัณฑ์และเสื้อผ้าลดลง ซึ่งโดยภาพรวมบ่งชี้ว่าการใช้จ่ายของครัวเรือนอ่อนแรงลงในไตรมาส 1 นี้ เนื่องมาจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นและการเข้าถึงสินเชื่อที่จำกัดมากขึ้น

ที่มา: Bloomberg

PBOC คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ตามคาด

  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนไว้ที่ระดับ 2.50% และ PBOC ได้ถอนเงินสดออกจากระบบธนาคารในวงเงินสุทธิ 9.4 หมื่นล้านหยวนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 65 สะท้อนให้เห็นว่า PBOC ยังคงมีความระมัดระวังที่จะใช้นโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงมีความตั้งใจที่จะพยุงค่าเงินหยวน ด้านนักลงทุนค่อนข้างผิดหวังกับผลดังกล่าว โดยหวังว่า PBOC จะช่วยกู้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและหนุนให้รัฐบาลจีนสามารถบรรลุเป้าการเติบโตเศรษฐกิจของปีนี้ที่ 5%
  • ด้านตัวเลขภาคการผลิตของจีนใน 2 เดือนแรกของปีปรับตัวเพิ่มขึ้น 7%YoY การเติบโตของยอดการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.2%YoY ดีกว่าตลาดคาดการณ์ และยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 5.5%YoY สอดคล้องกับตามคาด บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลเริ่มเห็นผลแล้ว อย่างไรก็ดียอดการลงทุนของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ลดลง 9%YoY และราคาบ้านในจีนยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน

ที่มา: Bloomberg

ส่องนโยบายหลักของไบเดนและทรัมป์

  • การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีนี้เป็นการท้าชิงระหว่างนายโจ ไบเดนกับนายโดนัลด์ ทรัมป์อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.นี้ จะสร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นและประเด็นภูมิรัฐศาสตร์กลับมาเป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจอีกครั้ง ด้านนักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าหากนายทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง จะส่งผลบวกต่อหุ้นสหรัฐและค่าเงินดอลลาร์มากกว่าที่นายไบเดนชนะ ขณะเดียวกันทั่วโลกก็อาจจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงผ่านนโยบายที่แข็งกร้าวของทรัมป์ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนต่อการค้าและการลงทุนหลังจากนี้ ทั้งนี้จากสถิติบ่งชี้ว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐสามารถเลี่ยงภาวะถดถอยได้ในปีนี้ อาจหนุนให้นายไบเดนชนะการเลือกตั้งในรอบนี้อีกสมัย ด้านนโยบายสำคัญของทั้งผู้สมัครทั้ง 2 คนมีดังต่อไปนี้:
นโยบายของไบเดนนโยบายของทรัมป์
สานต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจของเดิม (Bidenomics) สนันสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเน้นชนชั้นกลางตั้งเป้าการเติบโตเศรษฐกิจที่ระดับ 4% จำกัดการใช้จ่ายของมลรัฐ ลดอัตราภาษีทั้งธุรกิจและบุคคล
สร้างและส่งเสริมนวัตกรรมทางการค้ากับประเทศคู่ค้าเพิ่มภาษีนำเข้าและแก้ไข เปลี่ยนแปลงกฎหมายในกรณีการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อประเทศ
ปกป้องความมั่นคงและรักษาผลประโยชน์ของประเทศ จากภัยคุกคามของคู่แข่ง โดยเฉพาะกับประเทศจีนปรับปรุงข้อตกลงและกฏหมายทางการค้า เพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีน
เสริมความปลอดภัยทางชายแดนภาคใต้ และพัฒนาระบบตรวจคนเข้าเมืองปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและเพิ่มบทลงโทษหากมีการรั่วไหลไปยังจีน และกีดกัดไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสหรัฐ
ให้ความอิสระกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และสนับสนุนการดำเนินนโยบายต่างๆ ของเฟดใช้อำนาจและกฏหมายอย่างเคร่งคัดในการตรวจคนเข้าเมืองตามชายแดน
ประสานความร่วมมือกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการรักษาเสถียรภาพทางราคา

ที่มา: Standard Chartered

Weekly Recap

US

  • บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับ 4.3% หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สูงกว่าตัวเลขที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งเพิ่มความน่าจะเป็นที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้เฟดจะมีประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 19-20 มี.ค. นี้ ซึ่งตลาดคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50%
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังของธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลงในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2%MoM หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3%MoM ในเดือน ธ.ค.
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐเผย ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 209,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 218,000 ราย ด้านจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานคงค้างเพิ่มขึ้น 17,000 ราย สู่ระดับ 1.81 ล้านราย แต่ต่ำกว่าตลาดคาดที่ระดับ 1.90 ล้านราย
  • ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 76.5 ในเดือน มี.ค. และต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 77.4 จากระดับ 76.9 ในเดือน ก.พ. ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.0% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ก.พ.

Europe

  • ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มรถยนต์และธนาคารยุโรปที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มิ.ย. ขณะเดียวกัน 1 ใน สมาชิกคณะมนตรีบริหารของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เผยว่า ECB ประสบความสำเร็จในการใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Destatis) เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อในเดือน ก.พ. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7%YoY จากที่เพิ่มขึ้น 3.1%YoY ในเดือน ม.ค. สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวขึ้น 0.2%MoM ในเดือน ม.ค. สอดคล้องกับที่คาด หลังเข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าพลังงานที่สูงเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูง

Asia

  • ตลาดหุ้นเอเชียปิดผสมผสาน โดยดัชนี Hang Seng ทพิ่มขึ้น จากนักลงทุนซื้อหุ้นซึ่งมองว่า valuation ระดับปัจจุบันของตลาดหุ้นฮ่องกงและจีนค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับสถิติในอดีต ขณะที่ดัชนี NIFTY 50 ปรับตัวลดลง หลังประธาน ก.ล.ต. ของอินเดียเผยว่า มีสัญญาณบ่งชี้ภาวะฟองสบู่ในหุ้นกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็ก ด้านนักลงทุนเฝ้าติดตามการประชุม BOJ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นออกมาเผยว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในภาวะเงินฝืดอีกต่อไปแล้วและทิศทางการปรับขึ้นค่าจ้างก็เริ่มมีความแข็งแกร่ง หลังบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ ต่างตกลงปรับขึ้นค่าจ้างพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษในการเจรจาค่าจ้างประจำปี
  • ธนาคารกลางไต้หวันส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.875% ในการประชุมสัปดาห์นี้ พร้อมกับแสดงความกังวลว่า การที่รัฐบาลเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้านั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อของไต้หวัน และปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับปี 2567 ขึ้นสู่ระดับ 1.89%
  • กระทรวงสถิติอินเดียเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวขึ้น 5.09%YoY ในเดือน ก.พ. ทรงตัวจากที่เพิ่มขึ้น 5.10%YoY ในเดือน ม.ค. และสูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.02%YoY

Commodities

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดระดับ 81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง รวมถึงสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะตึงตัวมากขึ้น จากการข่นส่งทางเรือในทะแดงที่ถูกชะงัก
  • ราคาทองคำย่อตัวลงราว 1% ปิดระดับ 2,156 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับเพิ่มขึ้นทะลุ 4.3% หลังสหรัฐเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สูงกว่าตลาดคาดการณ์ หนุนให้เฟดประวิงเวลาในการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยออกไป
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าปิดบริเวณ 35.90บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังดัชนีภาคการผลิตสหรัฐออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด และข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าตลาดจ้างงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันบรรดาธนาคารพาณิชย์ของไทยได้ปรับลดคาดการณ์ GDP เศรษฐกิจไทยปีนี้ลงในช่วงนี้ และตลาดคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งที่ระดับ 0.25% ในปีนี้

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview.com as of 17 March 2024

อัปเดทกองทุนพักเงิน

ที่มา: AspenRTD, data as of 15 March 2024

หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

โดยรายละเอียดกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-11-march-2024/

https://wealthcertified.co.th/wcia-monthly-insight-march-2024/

You cannot copy content of this page