บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 15 – 19 มกราคม 2567
อัปเดทเงินเฟ้อสหรัฐ อัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจจีน อัปเดทการเลือกตั้งไต้หวันและข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ
Executive Summary
- สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นโดดเด่น โดยได้ปัจจัยหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและเซมิคอนดักเตอร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความคาดหวังของกระแส AI รวมถึงการคาดว่าเฟดจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มี.ค. นี้ และตลาดลดการคาดการณ์ว่า BOJ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นบวกในปีนี้ลง หลังค่าจ้างที่แท้จริงญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่อง ด้านตลาดหุ้นจีนยังคงถูกปัจจัยกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจและภาวะเงินฝืด
- Special Headlines:
อัปเดทเงินเฟ้อสหรัฐ
อัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจจีน
อัปเดทการเลือกตั้งไต้หวัน - มุมมอง: เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางตลาดที่ยังคงผันผวน จากปัจจัยกดดันหลายส่วน โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม health care technology และ Industrial เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan และเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน ด้านตลาดหุ้นไทยมองว่ามี downside risk ที่ค่อนข้างจำกัด นักลงทุนสามารถทยอยสะสมลงทุนได้ คาดว่าจะเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจะมีพัฒนาการเชิงบวกหลังจากนี้
Weekly Total Asset Return
ที่มา: Koyfin.com data as of 14 Jan 2023, *Annualized returns
อัปเดทเงินเฟ้อสหรัฐ
- สหรัฐเผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นสูงกว่าตลาดคาด โดยดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 3.4%YoY จากระดับ 3.1%YoY ในเดือน พ.ย. ขณะที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.2%YoY ด้านดัชนี Core CPI ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 3.9%YoY สูงกว่าตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.8%YoY โดยราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยหนุนหลักให้เงินเฟ้อในฝั่งค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน ธ.ค. ด้านค่าประกันรถยนต์เพิ่มขึ้น 20%YoY รวมถึงราคาเครื่องนุ่งห่มและรถยนต์มือสองต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น
- ทั้งนี้รายงานเงินเฟ้อดังกล่าวไม่ได้เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดลดอัตราดอกเบี้ย สะท้อนจากตลาดหุ้นสหรัฐที่เคลื่อนไหวทรงตัวหลังการรายงาน และเฟดยังคงเดินหน้าทำภารกิจเพื่อคุมเงินเฟ้อลงมาสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ขณะเดียวกันภาวะเงินเฟ้อปัจจุบันก็ไม่ได้ช่วยให้คะแนนความนิยมของปธน.โจ ไบเดนเพิ่มสูงขึ้น โดยคะแนนความนิยมปัจจุบันอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อตอนเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ระดับ 9% ในปี 2022
ที่มา: Bloomberg
อัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจจีน
- ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน หรือตัวชี้วัดเงินเฟ้อหดตัวลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009 โดยปรับตัวลดลง 0.3%YoY ในเดือน ธ.ค. ตามที่ตลาดคาด ด้านราคาต้นทุนสินค้าหน้าโรงงานปรับตัวลง 2.7% YoY เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลงและอุปสงค์ทั้งในประเทศและโลกที่ซบเซา
- ด้านยอดการส่งออกทั้งปี 2023 ลดลง 4.6%YoY นับเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแตปี 2016 ขณะที่ยอดการส่งออกเฉพาะเดือน ธ.ค. ส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยเพิ่มขึ้น 2.3%YoY ด้านตลาดคาดหวังว่าทางการจีนจะเร่งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐิจเพื่อให้ประเทศพ้นจากภาวะเงินฝืด ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจและความเชื่อของผู้บริโภค รวมถึงคาดว่าธนาคารกลางจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศและฟื้นความเชื่อมั่น อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจจีนยังคงต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ที่จะเห็นพัฒนาการเชิงบวกอย่างชัดเจน
ที่มา: Bloomberg
อัปเดทการเลือกตั้งไต้หวัน
- นายวิลเลียม ไล ชิง-เต๋อ จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในปีนี้ และเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับคะแนนเสียงกว่า 5 ล้านเสียง ขณะที่นายโหว โหย่วอี๋ จากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ได้คะแนน 4.6 ล้านเสียง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองว่าอาจเป็นการเปลี่ยนทิศทางความสัมพันธ์ของไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ในอนาคต โดยมีชาวไต้หวันผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้นราว 19.5 ล้านคน ด้านนายไล ชิง-เต๋อ ได้กล่าวว่า มีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องไต้หวันจากภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องจากจีน
- ด้านจีนและนานาชาติได้ออกมาแสดงปฏิกิริยาจากผลการเลือกตั้งดังกล่าว โดยรัฐบาลจีนได้ระบุว่า จะไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบและความคิดรวมประเทศ ด้านประธานาธิบดี โจ ไบเดนของสหัรฐออกมายืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน ขณะเดียวกัน รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวแสดงความยินดีกับชัยชนะครั้งนี้ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของระบอบประชาธิปไตยและกระบวนการเลือกตั้งที่เข้มแข็ง
ที่มา: BBC และ Bloomberg
Weekly Recap
Us
- สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่าคาด โดยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 202,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 210,000 ราย บ่งชี้ว่าการจ้างงานสหรัฐยังไม่ส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างรุนแรง
- เฟดเผยแบบจำลองบ่งชี้ GDP สหรัฐขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 4/66 หลังจากขยายตัว 4.9% ในไตรมาส 3/66 ด้านจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองเพิ่มขึ้น 9.9% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
- เวิลด์แบงก์คาดเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.4% ในปีนี้ จากระดับ 2.6% ในปีที่ผ่านมา โดยชะลอตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ก่อนที่จะขยายตัว 2.7% ในปีหน้า ท่ามกลางความเสี่ยงที่จะการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ชะลอตัวในปีนี้
- ปธ.เฟดคลีฟแลนด์ชี้ยังเร็วเกินไปที่เฟดจะหั่นดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. หลังดัชนี CPI เดือน ธ.ค. สะท้อนให้เห็นว่าเฟดยังมีภารกิจที่จะต้องทำอีกมาก และเฟดจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังทั้งในด้านเงินเฟ้อและการจ้างงานในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
Europe
- เยอรมนีเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. ลดลงสวนทางตลาดคาดการณ์ โดยลดลง 0.7%MoM ขณะที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2%MoM ด้านส่วนตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมช่วง 3 เดือน (ก.ย.-พ.ย.) ปรับตัวลดลง 1.9% เทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้า
- สมาคมค้าปลีกอังกฤษเผยยอดค้าปลีกเดือน ธ.ค. 66 ที่ซบเซา แม้จะเป็นช่วงเทศกาลคริสต์มาส โดยเพิ่มขึ้น 1.7%YoY ชะลอตัวลงจากระดับ 2.7%YoY ในเดือน พ.ย. สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อ่อนแอ และความกังวลว่าเศรษฐกิจของอังกฤษอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว ด้านผลผลิตภาคอุตมของสหราชอาณาจักรขายตัว 0.3% MoM ในเดือน พ.ย. แต่ลดลง 0.1%YoY
- GDP สหราชอาณาจักรขยายตัว 0.3% ในเดือน พ.ย. หลังจากลดลง 0.3% ในเดือน ต.ค. และดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 0.2% นำโดยภาคบริการ ซึ่งบริษัทค้าปลีก บริษัทให้เช่ารถยนต์ และบริษัทเกมคอมพิวเตอร์กลับมาคึกคัก
- ธนาคารบาร์เคลย์สปลดพนักงาน 5,000 ตำแหน่งทั่วโลกในปี 66 ตามแผนลดต้นทุนที่เคยประกาศไว้เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไร ทั้งนี้ธนาคารธนาคารบาร์เคลย์เป็นธนาคารรายใหญ่ของอังกฤษ
Asia
- แบงก์ชาติจีนคงดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% สวนทางตลาดคาดว่าจะลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจลง 0.10% สู่ระดับ 2.40% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องจ่ายเมื่อมีการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางจีน โดยมีระยะเวลาการกู้ยืม 6 เดือนถึง 1 ปี นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดสภาพคล่องจำนวน 9.95 แสนล้านหยวน
- จีนเผยยอดส่งออกเดือน ธ.ค.สูงเกินคาด แต่ส่งออกทั้งปี 66 ลด 4.6%YoY โดยยอดส่งออกเพิ่มขึ้น 2.3%YoY ดีกว่าที่ตลาดคาดที่ 1.7%YoY ส่วนยอดการนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.2%YoY น้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3%YoY ท่ามกลางอุปสงค์สินค้าจีนในตลาดโลกชะลอตัวลง
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ และเป็นการคงดอกเบี้ยในการประชุม 8 ครั้งติดต่อกัน ในขณะที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเงินเฟ้อชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด นอกจากนี้ด้านยอดส่งออกของเกาหลีใต้เดือน ธ.ค. ขยายตัวขึ้น 5.1%YoY ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
- ญี่ปุ่นเผยยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน พ.ย. 66 เพิ่มขึ้น 8.7%YoYและเกินดุลเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน เนื่องจากการขาดดุลการค้าที่ลดลง จากการนำเข้าพลังงานที่ลดลง และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวขาเข้า ทั้งนี้ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดการค้าระหว่างประเทศที่กว้างที่สุด
Commodities
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลงที่ระดับ 73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากซาอุฯ ประกาศลดราคาน้ำมันให้แก่ลูกค้าเอเชีย และกลุ่ม OPEC เพิ่มการผลิตน้ำมัน 70,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 27.88 ล้านบาร์เรล/วันในเดือน ธ.ค. ท่ามกลางความตึงเครียดในทะเลแดง ซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับภาวะชะงักงันด้านอุปทานน้ำมัน หลังสหรัฐฯ และอังกฤษเข้าโจมตีทางอากาศใส่กลุ่มกบฎฮูตีในเยเมน
- ราคาทองคำทรงตัวปิดระดับ 2,049 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ หลังจากสหรัฐเผยเงินเฟ้อราคาผู้ผลิตเดือน ธ.ค. ออกมาต่ำกว่าคาด อาจหนุนให้เฟดลดอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาด ขณะที่ตลาดยังมองว่าการจ้างงานในสหรัฐที่แข็งแกร่งอาจหนุนเงินเฟ้อให้ปรับตัวลงยากในระยะข้างหน้า
- ค่าเงินบาทอ่อนค่าปิดบริเวณ 34.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยยังไร้ปัจจัยในประเทศหนุน ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐโดยภาพรวมยังคงแข็งแกร่ง หนุนค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า
ความเคลื่อนไหวหุ้นสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มา: Tradingview.com as of 14 January 2024
อัปเดทกองทุนพักเงิน
ที่มา: AspenRTD, data as of 14 January 2023
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
โดยรายละเอียดกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล
โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th
Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
อ่านบทความย้อนหลังได้ที่
https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-8-january-2024/