บทความการลงทุนประจำเดือนกรกฎาคม 2567
ดัชนี PCE สหรัฐเดือนพ.ค. ชะลอตัวตามคาด ตลาดหุ้นสหรัฐครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขึ้นต่อ นักเศรษฐศาสตร์มองเศรษฐกิจจีนดีขึ้น หนุนโดยภาคการส่งออก ตลาดทุนอินเดียยังเนื้อหอม ท่ามกลาง sentiment สดใสและอัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ
Executive Summary
- เรามองว่าตลาดหุ้นโลกมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อในเดือนก.ค. แต่ตลาดจะมีปัจจัยการเมืองของหลายประเทศกดดันและทำให้ตลาดหุ้นผันผวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายเดือนที่ผ่านมา และอาจทำให้ดอลลาร์แข็งค่ากดดัน sentiment การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น อย่างไรก็ตามในภาพระยะ 6- 12 เดือนข้างหน้า เรามองว่าตลาดหุ้นทั่วโลกยังเป็นขาขึ้น จากปัจจัยหนุนกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ดีขึ้น และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกในปีนี้ แต่หลังจากนี้ตลาดจะมีความผันผวนและปัจจัยระยะสั้นรบกวนตลาดมากขึ้น (low visibility and uncertainty) ทั้งนี้เราแนะนำในช่วงที่ตลาดหุ้นย่อตัวเป็นจังหวะเข้าลงทุน
- Special Headlines:
ดัชนี PCE สหรัฐเดือนพ.ค. ชะลอตัวตามคาด
ตลาดหุ้นสหรัฐครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขึ้นต่อ
นักเศรษฐศาสตร์มองเศรษฐกิจจีนดีขึ้น หนุนโดยภาคการส่งออก
ตลาดทุนอินเดียยังเนื้อหอม ท่ามกลาง sentiment สดใส - มุมมอง:เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางตลาดที่ยังคงผันผวน จากปัจจัยกดดันหลายส่วน โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม technology healthcare และ Industrial เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan และเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน
YTD Asset Total Return
ที่มา: Koyfin.com data as of 28 June 2024
ดัชนี PCE สหรัฐเดือนพ.ค. ชะลอตัวตามคาด
- ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล หรือ PCE สหรัฐเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 2.6%YoY ตามคาด และชะลอตัวจากระดับ 2.7%YoY ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือนไม่มีการเปลี่ยนแปลง ด้าน Core PCE ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 2.6%YoY และ 0.1%MoM ตามที่ตลาดคาดการณ์
- ขณะเดียวกันยอดการใช้จ่ายของครัวเรือนฟื้นตัวจากเดือนเม.ย. โดยเพิ่มขึ้น 0.3%MoM บ่งชี้ว่า การบริโภคในสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง แม้ตลาดจะมีความกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงจะกระทบต่อการใช้จ่ายของครัวเรือน
- โดยภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในทิศทางที่เป็นมิตรต่อตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ การใช้จ่ายเติบโตอย่างต่อเนื่อง เงินเฟ้อที่ชะลอตัว ตลาดแรงงานมีความสมดุลมากขึ้น และราคาสินค้าที่ทรงตัว หนุนแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวลดลงในเดือนมิ.ย.
ที่มา: Bloomberg
ตลาดหุ้นสหรัฐครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขึ้นต่อ
- จากสถิติข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 1972 เผยว่า ดัชนี S&P 500 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนหลังการเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐ ขณะเดียวกันหากปีไหนที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีโอกาสที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มอย่างโดดเด่นอยู่ที่เฉลี่ย 7.6% ยกเว้นในปี 2008 ที่เกิดวิกฤตซับไพร์ม
- ด้านข้อมูลจากกราฟทางขวาล่าง บ่งชี้ว่าบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P 500 มีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความสัมพันธ์สวนทางกับเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้งบการเงินรายไตรมาสในช่วงที่ผ่านมาของบริษัทจดทะเบียนออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และเรามองว่าบริษัทต่างๆ จะยังสามารถรักษาอัตรากำไรในระดับที่สูงนี้ได้ไปอีกสักระยะ จนกว่าจะเห็นสัญญาณผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงหรือปัจจัยสงครามการค้า เป็นต้น นอกจากนี้ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าดัชนี้ S&P 500 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังเฟดมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้
ที่มา: Standard Chartered และ Bloomberg
นักเศรษฐศาสตร์มองเศรษฐกิจจีนดีขึ้น หนุนโดยภาคการส่งออก
- บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ที่ระดับ 5% ตามเป้าของทางการจาก 4.8%-4.9% ในเดือนพ.ค. ซึ่งปัจจัยหนุนมาจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 4.3%YoY ในปีนี้ และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ซึ่งขับเคลื่อนจากการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์จากฝั่งบริการกลับมาฝั่งสินค้า และได้แรงสนับสนุนจากกลยุทธ์ของรัฐบาลเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวตามเป้าหมาย ชดเชยการบริโภคในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ด้านคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อจีน จากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% ในปีนี้ ในขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) คาดว่าจะลดลง 1%
- ทั้งนี้เศรษฐกิจจีนยังมีความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคทางการค้าโลกที่มากขึ้นจากสหรัฐและยุโรป ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ความกังวลเรื่องเงินฝืดที่ยังคงอยู่ อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง และมุมมองการปรับขึ้นเงินเดือนในอนาคตที่ไม่แน่นอน ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ฟื้น ทำให้ชะลอการใช้จ่ายและการลงทุน
ที่มา: Bloomberg
ตลาดทุนอินเดียยังเนื้อหอม ท่ามกลาง sentiment สดใส
- ข้อมูลจาก Bloomberg บ่งชี้ว่า จำนวนสัญญา future ดัชนีหุ้นอินเดียที่กองทุนทั่วโลกถือครองเพื่อเก็งกำไรขาขึ้น เมื่อเทียบกับสัญญาเก็งกำไรขาลงเพิ่มขึ้นเป็น 140,835 สัญญา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี สะท้อนถึงวัดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อตลาดหุ้นอินเดีย หลังจากนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดีได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ทำให้มีความต่อเนื่องในแง่ของนโยบายของรัฐบาลและจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ในเดือนมิ.ย. นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นอินเดียสุทธิราว 1.5 พันล้านดอลลาร์ หนุนให้ดัชนี Nifty 50 ปรับตัวขึ้น 6% ในเดือนมิ.ย.
- ขณะเดียวกันตลาดทุนอินเดียยังได้ sentiment บวกจาก JPMorgan Chase & Co เพิ่มพันธบัตรรัฐบาลอินเดียเข้าไปคำนวณในดัชนี JP Morgan Emerging Market Bond Index และธนาคารคาดการณ์ว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าอีก 20,000 – 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 10 เดือนข้างหน้า ส่งผลให้สัดส่วนการถือครองของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นจาก 2.5% เป็น 4.4%
ที่มา: Bloomberg
Monthly Recap
US
- ผลประชุมเฟดมีมติคงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25%-5.50% สอดคล้องกับที่ตลาดคาด โดยที่ Dot Plot มีการปรับค่า median การลดดอกเบี้ยในปี 2024 นี้ลงจาก 3 ครั้งเหลือเพียง 1 ครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย. ขณะปรับเพิ่มการลดดอกเบี้ยในปีหน้า 2025 จาก 3 ครั้งเป็น 4 ครั้ง
- ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 3.3%YoY ต่ำกว่าคาด ชะลอตัวจากระดับ 3.4%YoY ในเดือนเม.ย. โดยภาพรวมสะท้อนว่าเงินเฟ้ออยู่ในภาวะชะลอตัวแล้ว ต่างจากไตรมาส 1 ที่มีการเร่งตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งภาคบริการที่ไม่นับรวมค่าเช่าที่อาศัยทรงตัวจากเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปีที่ราคาหมวดดังกล่าวไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบรายเดือน
- ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค. สูงกว่าคาด โดยเพิ่มขึ้น 2.72 แสนตำแหน่ง ด้านตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นที่ 1.82 แสนตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.0% สูงสุดในรอบกว่า 2 ปี และสูงกว่าตลาดคาดที่ 3.9% อย่างไรก็ตามอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำในรอบกว่า 40 ปี
- ISMเผยดัชนีภาคบริการสหรัฐเดือนพ.ค. พุ่งสูงสุดในรอบ 9 เดือน โดยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.8 จาก 49.4 ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าตลาดคาดที่ระดับ 50.8 ขณะที่ ADP เผย การจ้างงานของเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 152,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. เพิ่มต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. และต่ำกว่าคาดที่ระดับ 175,000 ตำแหน่ง
Europe
- ธนาคารกลางยุโรป (ECB)ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินเดือนมิ.ย. ตามที่ตลาดคาดการณ์ และเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ระดับ 3.75% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับ 4.50% ส่วนอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อยู่ที่ระดับ 4.25% และเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนในปี 67 จะขยายตัว 0.9% จาก 0.6% ส่วนเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าอยู่ที่ระดับ 2.25% จาก 2.0% ซึ่งบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อจะใช้เวลาชะลอตัวสู่เป้าหมายนานขึ้น
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเผยตัวเลข GDPของยูโรโซนในไตรมาส 1/67 ขยายตัว 0.3%QoQ และ 0.4%YoYขณะเดียวกันสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเผยยอดส่งออกเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.6%MoMซึ่งเป็นการเติบโตเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันและสูงกว่าที่ตลาดคาด ได้ปัจจัยหลักมาจากยอดส่งออกไปยังจีนที่เพิ่มขึ้น 0.8%MoM และไปยังสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 15.4%MoM
- ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB)มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.25% ตามที่ตลาดคาด ด้านอัตราเงินเฟ้อของสวิตเซอร์แลนด์ทรงตัวที่ระดับ 1.4% และคาดว่าจะทรงตัวตลอดปี 2024
Asia
- ยอดส่งออกจีนเดือนพ.ค. ขยายตัว 7.6%YoYสูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.7% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.8%YoY ต่ำกว่าคาดและชะลอตัวจากที่เพิ่มขึ้น 8.4%YoY เดือนเม.ย. อย่างไรก็ตามนักลงทุนมีความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ต้องพึ่งพาอุปสงค์นอกประเทศเพื่อชดเชยการบริโภคในประเทศที่อ่อนแอ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้า
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.1% สอดคล้องกับตลาดคาด ขณะเดียวกัน BOJมีแผนปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น โดยจะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการลดการซื้อพันธบัตรในการประชุมเดือนก.ค. โดยปัจจุบัน BOJ มีการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นราว 6 ล้านล้านเยน (3.81 หมื่นล้านดอลลาร์) ต่อเดือน
- ยอดส่งออกไทยเดือนพ.ค.67 เพิ่มขึ้น 7.2% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และส่งผลให้เดือนพ.ค ไทยกลับมาเกินดุลครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงภาคการผลิตของโลกฟื้นตัวได้ดี
Commodities
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI)ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ระดับ 81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังซาอุฯ เผยว่า OPEC+ สามารถยกเลิกการเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน และความกังวลอุปทานน้ำมันจากผลกระทบของสงคราม รวมถึงอุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน
- ราคาทองคำปรับตัวลดลง 2,321 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ถูกกดดันจากเงินดอลลาร์แข็งค่า เนื่องจากตลาดค่อนข้างผิดหวังที่เฟดยังประวิงเวลาที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังข้อมูลการจ้างงานสหรัฐออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วต่างเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว
- ค่าเงินบาททรงตัวบริเวณ 36.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามทิศทางสกุลเงินในภูมิภาค และยังไม่มีปัจจัยใหม่ โดยช่วงนี้นักลงทุนให้ความสนใจกับตัวเลขของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก เพื่อประเมินทิศทางนโยบายของธนาคารกลางหลักของโลก อีกทั้งยังมีแรงขายในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ
ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วงเดือนที่ผ่านมา
ที่มา: Tradingview.com as of 28 June 2024
อัปเดทกองทุนพักเงิน
ที่มา: AspenRTD, data as of 28 June 2024
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
โดยรายละเอียดกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th
Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
อ่านบทความย้อนหลังได้ที่
https://wealthcertified.co.th/wcia-monthly-insight-june-2024/
https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-24-june-2024/