บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 11 – 15 มีนาคม 2567
การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเดือน ก.พ. สูงกว่าตลาดคาด ECB คงอัตราดอกเบี้ยเดือน มี.ค. ตามคาด เงินเฟ้อจีนปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
Executive Summary
- ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ขานรับการแถลงนโยบายการเงินต่อสภาคองเกรสของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ ด้านหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีถูกกดดัน หลังสหรัฐสั่งระงับบริษัท AMD ในการส่งออกชิปที่เกี่ยวข้องกับ AI ไปยังตลาดจีน และจากการขายทำกำไรหลังจากหุ้นกลุ่มดังกล่าวปรับตัวขึ้นมาสูงแล้ว ด้านตลาดหุ้นจีนได้ปัจจัยบวกหลังทางการจีนยังคงตั้งเป้าการเติบโต GDP ที่ระดับ 5% สำหรับปี 67
- Special Headlines:
การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเดือน ก.พ. สูงกว่าตลาดคาด
ECB คงอัตราดอกเบี้ยเดือน มี.ค. ตามคาด
เงินเฟ้อจีนปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน - มุมมอง: เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางตลาดที่ยังคงผันผวน จากปัจจัยกดดันหลายส่วน โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม health care technology และ Industrial เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan และเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน ด้านตลาดหุ้นไทยมองว่ามี downside risk ที่ค่อนข้างจำกัด นักลงทุนสามารถทยอยสะสมลงทุนได้ คาดว่าจะเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจะมีพัฒนาการเชิงบวกหลังจากนี้
Weekly Asset Total Return
ที่มา: Koyfin.com data as of 9 March 2024
การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเดือน ก.พ. สูงกว่าตลาดคาด
- ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 198,000 ตำแหน่ง ได้แรงหนุนจากการจ้างงานของภาครัฐ การศึกษา ภาคบริการและสุขภาพ ขณะที่ภาคการผลิตมีการจ้างงานลดลง
- ด้านอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.9% สูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 3.7% และทำระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี และตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 4.3%YoY โดยภาพรวมบ่งชี้ว่า การจ้างงานและค่าจ้างแรงงานสหรัฐมีการผ่อนคลายลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งช่วยให้ตลาดคลายความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าและเปิดช่องให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย.
ที่มา: Bloomberg
ECB คงอัตราดอกเบี้ยเดือน มี.ค. ตามคาด
- ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันที่ระดับ 4% ตามที่ตลาดคาดการณ์ และระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันเหมาะสมที่จะกดให้เงินเฟ้อในยูโรโซนปรับตัวเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% และยังต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าเพื่อความมั่นใจ โดยเฉพาะการเติบโตของค่าจ้างงานแรงงาน ซึ่งคาดว่า ECB จะให้ความสำคัญกับตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน มิ.ย. ในการนำมาพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยปีนี้ ด้านตลาดคาดว่าทั้งปีนี้ ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1%
- ECB ได้ลดคาดการณ์การเติบโต GDP ยูโรโซนในปีนี้ลงที่ระดับ 0.6% จากระดับ 0.8% ในเดือน ธ.ค. และลดคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ลงที่ระดับ 2.3% จากระดับ 2.7% ขณะที่บรรดานักการเมืองในประเทศสมาชิกยุโรปต้องการให้ ECB ผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค เนื่องจากเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีน
ที่มา: Bloomberg
เงินเฟ้อจีนปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
- ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จีนหรืออัตราเงินเฟ้อเเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้น 0.7%YoY หลังจากที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 15 ปีในเดือนที่ผ่านมา และปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าตลาดคาดที่ระดับ 0.3%YoY โดยได้แรงหนุนจากช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ประชาชนออกมาใช้จ่ายและเดินทางท่องเที่ยว ช่วยให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายและนักลงทุนคลายความกังวลเรื่องเงินฝืดได้บ้าง อย่างไรก็ดีดัชนี PPI เงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิตปรับตัวลง 2.7% บ่งชี้ว่า ภาคอุตสาหกรรมจีนยังไม่ฟื้นตัว
- ขณะที่ตลาดยังคงจับตาดูตัวเลขเงินเฟ้อจีนและมาตรการส่งเสริมการบริโภคในประเทศของรัฐบาล เพื่อแน่ใจว่าจีนได้พ้นจากภาวะเงินฝืดอย่างแน่ชัด ด้านรัฐบาลตั้งเป้าเงินเฟ้อปีนี้ที่ระดับ 3% และมีแผนออกพันธบัตรในวงเงิน 1 ล้านล้านหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งวงเงินดังกล่าวไม่ได้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
ที่มา: Bloomberg
Weekly Recap
US
- วุฒิสภาสหรัฐอนุมัติร่างงบประมาณรายจ่ายสำหรับหน่วยงานรัฐบาลต่าง ๆ ในวงเงิน 4.675 แสนล้านดอลลาร์ ด้วยคะแนนเสียง 75 ต่อ 22 เสียง ก่อนที่กฎหมายงบรายจ่ายในปัจจุบันหมดอายุลง ซึ่งทำให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการถูกชัตดาวน์ และร่างกฎหมายดังกล่าวได้ถูกส่งต่อให้กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
- ISM เผยดัชนีภาคบริการสหรัฐต่ำกว่าคาดในเดือน ก.พ. โดยปรับตัวลงสู่ระดับ 52.6 ในเดือน ก.พ. จากระดับ 53.4 ในเดือน ม.ค. ขณะที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 53.1 อย่างไรก็ดีดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว โดยได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานปรับตัวลง
- ISM เผยดัชนีภาคการผลิตสหรัฐในเดือน ก.พ. หดตัวเป็นเดือนที่ 16 โดยปรับตัวลงสู่ระดับ 47.8 จากระดับ 49.1 ในเดือน ม.ค. และต่ำกว่าตลาดคาดที่ระดับ 49.5 นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเดือน ก.พ. ปรับตัวลงสู่ระดับ 76.9 ต่ำกว่าตลาดคาดที่ระดับ 79.6
- ราคาหุ้น Apple ร่วงแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลัง EU สั่งปรับ 70,000 ล้านบาท เนื่องจากละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด โดยครอบงำตลาดแอปพลิเคชั่นสตรีมมิ่งเพลงใน App Store ซึ่ง Apple ได้ทำสัญญาห้ามผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นแจ้งต่อผู้ใช้งานทราบถึงทางเลือกอื่นในการใช้บริการสตรีมมิงเพลงที่มีราคาถูกกว่าที่อยู่นอก App Store
Europe
- เอสแอนด์พีโกลบอลเผยผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคบริการและการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.2 ในเดือน ก.พ. จาก 47.9 ในเดือน ม.ค. และสูงกว่าตลาดคาดที่ระดับ 48.9 ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการขั้นสุดท้ายปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.2 จาก 48.4 ในเดือน ม.ค.
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีในเดือน ม.ค. 67 ปรับตัวขึ้น 1.0%MoM สูงกว่าตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6%MoM เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน นำโดยภาคก่อสร้าง เคมีภัณฑ์และอาหาร ขณะที่ภาคการผลิตรถยนต์ปรับตัวลดลง
- ด้านธนาคารกลางเยอรมนีเตือนว่า เศรษฐกิจของประเทศอาจเข้าสู่ภาวะหดตัวในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังจากที่ GDP ลดลง 0.3% ในช่วงไตรมาส 4/66 ขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมนีได้หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือแค่โต 0.2% จากเดิม 1.3%
Asia
- นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีเผยว่า จีนจะตั้งเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจที่ประมาณ 5% ในปีนี้และควบคุมศักยภาพการเติบโตทางอุตสาหกรรมไม่ให้มากเกินไป ลดความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ และลดการใช้จ่ายที่ไม่เป็นประโยชน์ของรัฐบาลท้องถิ่น นอกจากนี้จีนตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 3% ของ GDP สำหรับปีนี้ ซึ่งลดลงจาก 3.8% ของปีที่ผ่านมา
- สำนักงานสถิติแห่งชาติญี่ปุ่นเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CoreCPI) ของกรุงโตเกียว ปรับตัวสูงขึ้น 2.5%YoY ในเดือน ก.พ. สอดคล้องกับที่คาด หลังจากอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 22 เดือนในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป และทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของเกาหลีใต้เผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับ 3.1%YoY จากที่เพิ่มขึ้น 2.8%YoY ในเดือน ม.ค. สาเหตุหลักมาจากราคาผลผลิตทางการเกษตรและราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น
- กระทรวงพาณิชย์ไทยเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI)หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.พ. 67 ลดลง 0.77%YoYจากที่ตลาดคาดจะลดลง 0.80%YoY โดยเงินเฟ้อยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สาเหตุสำคัญยังคงเป็นราคาอาหารสดและผักสดที่มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมทั้งราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้าที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 66 จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ
Commodities
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลงปิดระดับ 78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความกังวลแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในประเทศจีน หลังจากรัฐบาลจีนตั้งกรอบการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบระมัดระวังมากขึ้น
- ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดระดับ 2,179 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลง จากการคาดการณ์ว่า เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ หลังอัตราการว่างงานสหรัฐเพิ่มขึ้นในเดือน ก.พ.
- ค่าเงินบาทแข็งค่าปิดบริเวณ 35.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากการที่เงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังตลาดมีความมั่นใจมากขึ้นว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ด้านธนาคารกสิกรไทยเพิ่มคาดการณ์นักท่องเที่ยวเข้าไทยปีนี้ราว 36 ล้านคนเพิ่มขึ้นจาก 31 ล้านคน
ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มา: Tradingview.com as of 11 March 2024
อัปเดทกองทุนพักเงิน
ที่มา: AspenRTD, data as of 9 March 2024
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
โดยรายละเอียดกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th
Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
อ่านบทความย้อนหลังได้ที่:
https://wealthcertified.co.th/wcia-monthly-insight-march-2024/
https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-27-february-2023/