บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 27 ก.พ. – 23 มี.ค. 2567
รายงานประชุมเฟดเผยไม่รีบลดดอกเบี้ย งบ NVIDIA ไตรมาส 4 ยังคงเติบโตแบบก้าวกระโดด แบงก์ชาติจีนหั่นดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีครั้งแรกในรอบ 8 เดือนและอัปเดทข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ
Executive Summary
- ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนี Dow Jones และ S&P 500 ปิดระดับนิวไฮ ได้ปัจจัยหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นกลุ่มเติบโตสูงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกระแส Generative AI และ sentiment บวกจากบริษัท Nvidia เผยงบไตรมาส 4 ด้านตลาดหุ้นเอเชียได้ปัจจัยหนุนขานรับทางการจีนใช้มาตรการเพิ่มความเชื่อมั่นในตลาดและพยุงวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน และสัปดาห์นี้นักลงทุนรอดูรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะ GDP ไตรมาส 4/66 สหรัฐ ดัชนี PCE ซึ่งมีความสำคัญต่อทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน ก.พ. ของจีน
- Special Headlines:
รายงานประชุมเฟดเผยไม่รีบลดดอกเบี้ย
งบ NVIDIA ไตรมาส 4 ยังคงเติบโตแบบก้าวกระโดด
แบงก์ชาติจีนหั่นดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีครั้งแรกในรอบ 8 เดือน - มุมมอง:เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางตลาดที่ยังคงผันผวน จากปัจจัยกดดันหลายส่วน โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม health care technology และ Industrial เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan และเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน ด้านตลาดหุ้นไทยมองว่ามี downside risk ที่ค่อนข้างจำกัด นักลงทุนสามารถทยอยสะสมลงทุนได้ คาดว่าจะเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจะมีพัฒนาการเชิงบวกหลังจากนี้
Weekly Asset Total Return
ที่มา: Koyfin.com data as of 25 Feb 2024, *Annualized returns
รายงานประชุมเฟดเผยไม่รีบลดดอกเบี้ย
- รายงานการประชุมเฟดเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาเผยว่า คณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่ยังไม่ได้หารือถึงการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะปรับตัวลงใกล้เคียงกรอบเป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน รวมทั้งมองว่ามีความเสี่ยงหากปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป ดังนั้นจึงต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจในอนาคต และคาดว่าเฟดจะมีการหารือในประเด็นการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างจริงจังในรอบการประชุมเดือน มี.ค.
- นอกจากนี้รายงานยังเผยถึงการชะลอสัดส่วนในการลดขนาดงบดุลของเฟด หรือ QT เพื่อคงสภาพคล่องในระบบการเงินให้เพียงพอและไม่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายในการใช้นโยบายแบบวงกว้าง โดยเฟดได้มีการลดขนาดงบดุลลง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ตั้งแต่เริ่มทำ QT ในเดือน มิ.ย. 2022 สู่ระดับ 9 ล้านล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดีเฟดยังไม่ระบุถึงเป้าหมายที่แน่ชัดว่าจะลดขนาดงบดุลลงที่ระดับเท่าไหร่ เนื่องจากเฟดต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในประเด็นธนาคารภูมิภาคสหรัฐที่เป็นปัญหาในช่วงที่ผ่านมา
ที่มา: Bloomberg
งบ NVIDIA ไตรมาส 4 ยังคงเติบโตแบบก้าวกระโดด
- กำไรต่อหุ้น: 5.16 ดอลลาร์ vs 4.64 ดอลลาร์ และกำไรต่อหุ้นไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 769%YoY
- รายได้: 22.1 พันล้านดอลลาร์ vs 20.62 พันล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้น 265%YoY
- รายได้หลักมาจากการขายชิปที่ล้ำสมัยและโปรเซสเซอร์ด้านกราฟฟิคที่ได้ประโยชน์จากกระแสเทคโนโลยี Generative AI และการที่บรรดาบริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ ลงทุนในด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้คาดว่ายอดขายสินค้าของบริษัทยังคงมีแนวโน้มสดใสไปจนถึง 2026
- ด้านธุรกิจ Data Center มีรายได้เพิ่มขึ้น 409%YoY โดยลูกค้าครึ่งนึงของบริษัทคือบรรดาธุรกิจให้บริการ Cloud ยักษ์ใหญ่ อย่างไรก็ตามรายได้จากธุรกิจดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐระงับการส่งออกชิบระดับสูงไปยังจีน
- บริษัทยังคงพัฒนาการผลิตสินค้าให้เพียงพอต่ออุปสงค์ AI GPUs ในอนาคต และคาดว่าสินค้าจะยังคงขาดแคลนไปอีกพักสัก เนื่องจากการพัฒนาการผลิตต้องใช้ระยะเวลา
ที่มา: Bloomberg
แบงก์ชาติจีนหั่นดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีครั้งแรกในรอบ 8 เดือน
- ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะเวลา 5 ปีลง 0.25% สู่ระดับ 3.95% ซึ่งเป็นอัตราอ้างอิงเพื่อการจำนอง นับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2019 สร้างความหวังต่อนักลงทุนว่า ทางการจีนได้ยกระดับมาตรการเชิงรุกเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
- โดยเป้าหมายของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้คือช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น เนื่องจากปกติแล้วยอดขายบ้านในจีนจะพีคในช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย. ซึ่งทางการต้องการออกมาตรการมากระตุ้นอุปสงค์ให้ทันท่วงที ท่ามกลางราคาบ้านที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้ตลาดมองว่าจะช่วยได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้นักลงทุนรอดูการออกมาตรการเพิ่มเติมของทางการในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นต้นเดือน มี.ค. โดยรัฐบาลจะเปิดเผยเป้าหมายการเติบโตอย่างเป็นทางการสำหรับปี 2024 รวมถึงรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังสำหรับปี
ที่มา: Bloomberg
Weekly Recap
US
- นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวสุนทรพจน์ด้านนโยบายในมินนีแอโพลิสว่า ต้องการเห็นหลักฐานมากกว่านี้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐปรับตัวลงอย่างยั่งยืน จึงจะหนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง หลังเงินเฟ้อสหรัฐเดือน ม.ค. ออกมาสูงกว่าคาด
ด้าน FedWatch Tool ล่าสุดบ่งชี้ว่า นักลงทุนส่วนใหญ่เลื่อนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดออกไปเป็นเดือน มิ.ย. จากเดือน พ.ค. - สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่าคาด โดยลดลง 12,000 ราย สู่ระดับ 201,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ทำระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ ขณะที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ระดับ 217,000 ราย บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานและเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง และอาจส่งผลให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงนานขึ้น
- สหรัฐเผยยอดขายบ้านใหม่เดือน ม.ค. เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด โดยเพิ่มขึ้น 1.5%MoM และ 1.8%YoY สู่ระดับ 661,000 ยูนิต ต่ำกว่าตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นระดับ 680,000 ยูนิต ด้านผู้ว่าการเฟดเผยว่า ต้องการรอดูความแน่ชัดว่าเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง จึงจะสนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
Europe
- ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น ปิดระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ได้กระแสความนิยมในชิปที่ใช้กับ AI ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่า เงินเฟ้อกำลังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะหารือเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
- สำนักงานสถิติเยอรมนีรายงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2023 หดตัว 0.3%QoQ และทั้งปี 66 GDP เยอรมนีลดลง 0.3%YoY ด้านดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในภาคภาคการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเดือน ม.ค. ลดลงสู่ระดับ -59 จุด ทำระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ บ่งชี้ว่า อุตสาหกรรมการสร้างบ้านในเยอรมนีกำลังอยู่ในระดับวิกฤต
- สถาบันวิจัยตลาด GfK เผยผลสำรวจ ระบุว่า ผู้บริโภคชาวอังกฤษในเดือนก.พ. มีความเชื่อมั่นลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากภาคครัวเรือนมีมุมมองต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจในเชิงลบมากขึ้น อย่างไรก็ตามภาวะการจ้างงานในอังกฤษยังคงแข็งแกร่งที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการบริโภคในประเทศขยายตัวต่อไปได้
- Ifo เผยความเชื่อมั่นทางธุรกิจเยอรมนีในเดือน ก.พ. ปรับตัวดีขึ้นตามที่ตลาดคาด ซึ่งปรับตัวขึ้นอยู่ที่ระดับ 85.5 จาก 83.5 ในเดือน ม.ค. อย่างไรก็ดีภาพรวมเศรษฐกิจเยอรมนีถือว่าทรงตัว และอ่อนแอกว่าประเทศพัฒนาแล้ว อื่นๆ
Asia
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงาน ราคาบ้านใหม่เดือนม.ค.ปรับตัวลง 0.3%MoM หลังจากที่ลดลง 0.4%MoM ในเดือนธ.ค. และลดลง 0.7%YoY เป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 แม้ว่ารัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกู้ความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหาด้านหนี้สินและอุปทานส่วนเกิน
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิกเกอิของญี่ปุ่นว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และกล่าวว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินก่อนเวลาอันควรนั้น จะทำให้เสถียรภาพด้านการเงินของไทยเผชิญกับความเสี่ยง หลังนายกรัฐมนตรีต้องการให้ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจของไทยซึ่งขณะนี้มีการขยายตัวต่ำกว่าระดับ 2% และช่วยลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ตามที่ตลาดคาด ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันครั้งที่ 9 ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงช้ากว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 3% และหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การใช้จ่ายผู้บริโภคยังคงอ่อนแอ
- ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repurchase rate) ระยะเวลา 7 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 6% พร้อมระบุว่า อัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันสอดคล้องกับการสร้างเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย และคาดว่าเงินเฟ้อจะยังเคลื่อนไหวภายในกรอบเป้าหมายธนาคารกลางอินโดนีเซีย
Commodities
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลงปิดระดับ 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความกังวลแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันที่ชะลอตัว และถูกกดันจากเงินเฟ้อสหรัฐที่สูงกว่าคาด ทำให้เฟดไม่เร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่า กดดันราคาน้ำมันตลาดโลก
- ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดระดับ 2,032 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ขานรับ PBOC ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 5 ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และในช่วงนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยหลักต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ด้านนักลงทุนรอดูถ้อยแถลงเฟดในต้นเดือน มี.ค.
- ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวบริเวณ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ม.ค. ขาดดุลการค้า 2.7 พันล้านดอลลาร์ และรับข่าวที่ธนาคารไทยต่างๆ ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ลง แม้ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมามีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและพันธบัตร ด้านตลาดยังคงจับตาดูท่าทีของแบงก์ชาติ หลังจากรัฐบาลเรียกร้องให้พิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบาย
ความเคลื่อนไหวหุ้นสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มา: Tradingview.com as of 26 February 2024
อัปเดทกองทุนพักเงิน
ที่มา: AspenRTD, data as of 25 February 2024
หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
โดยรายละเอียดกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875 หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th
Wealth Certified Investment Team
นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน