ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Weekly Highlight 19 February 2024

20/02/2024

บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19 – 23 กุมภาพันธ์ 2567
ดัชนีเงินเฟ้อ CPI สหรัฐเดือน ม.ค. สูงกว่าคาด ยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน ม.ค. ต่ำกว่าคาด การบริโภคจีนในช่วงวันหยุดเทศกาลส่งสัญญาณฟื้นตัว ปราโบโวชนะการเลือกตั้งปธน.อินโดนีเซียและอื่นๆ   

Executive Summary

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวผสมผสานในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นสหรัฐถูกกดดัน หลังสหรัฐเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ออกมาสูงเกินคาด ลดความหวังที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้น จากข้อมูลการใช้จ่ายและเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนที่คึกคักในช่วงวันหยุดตรุษจีน
    ขณะเดียวกันตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้ปัจจัยบวกจากคาดการณ์รายได้ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ดีขึ้นและรายได้ของธุรกิจจากการขึ้นราคาสินค้าในอนาคต หลังเศรษฐกิจประเทศพ้นจากภาวะเงินฝืด และในสัปดาห์นี้นักลงทุนรอดูรายงานการประชุมเฟดเดือน ม.ค. และงบรายไตรมาสของ Nvidia ซึ่งส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐในสัปดาห์นี้
  • Special Headlines:
    ดัชนีเงินเฟ้อ CPI สหรัฐเดือน ม.ค. สูงกว่าคาด
    ยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน ม.ค. ต่ำกว่าคาด
    การบริโภคจีนในช่วงวันหยุดเทศกาลส่งสัญญาณฟื้นตัว

    ปราโบโวชนะการเลือกตั้งปธน.อินโดนีเซีย
  • มุมมอง: เราแนะนำกระจายการลงทุนท่ามกลางตลาดที่ยังคงผันผวน จากปัจจัยกดดันหลายส่วน โดยเน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สหรัฐในกลุ่ม value และ quality growth ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีรายได้สม่ำเสมอ อย่าง หุ้นกลุ่ม health care technology และ Industrial เป็นต้น และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia ex. Japan และเวียดนามในช่วงนี้เป็นโอกาสน่าลงทุนสำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว เนื่องจาก valuation ของตลาดอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตในระดับที่สูงตามปัจจัยพื้นฐาน ด้านตลาดหุ้นไทยมองว่ามี downside risk ที่ค่อนข้างจำกัด นักลงทุนสามารถทยอยสะสมลงทุนได้ คาดว่าจะเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจะมีพัฒนาการเชิงบวกหลังจากนี้

Weekly Asset Total Return

ที่มา: Koyfin.com data as of 18 Feb 2024, *Annualized returns

ดัชนีเงินเฟ้อ CPI สหรัฐเดือน ม.ค. สูงกว่าคาด

  • สหรัฐเผยดัชนี CPI เดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 3.1%YoY ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.9%YoY ด้านดัชนี Core CPI ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 3.9%YoY จากที่ตลาดคาด 3.9%YoY โดยทุกหมวดราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ ด้านค่าเช่าที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้น 0.6%MoM
  • ด้านดัชนี PPI เดือน ม.ค. สูงกว่าคาดการณ์ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.9%YoY ขณะที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6%YoY ด้าน Core PPI ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 2.0%YoY สูงกว่าคาดจะเพิ่มขึ้น 1.6%YoY
  • รายงานดังกล่าวได้ลดความคาดหวังของตลาดที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. ขณะที่น้ำหนักการคาดการณ์ว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยระหว่างเดือน พ.ค. และ มิ.ย. อยู่ที่ระดับ 50-50% อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ในเทรนด์ขาลง และยังคงต้องจับตาเงินเฟ้อในฝั่งภาคบริการที่ไม่นับรวมค่าเช่าอาศัยและราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้น 0.8%MoM สูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. และดัชนี PCE ซึ่งเฟดให้ความสำคัญมากว่า เพราะสะท้อนถึงเงินเฟ้อด้านการดำรงชีพของประชาชนได้ดีกว่าดัชนี CPI

ที่มา: Bloomberg

ยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน ม.ค. ต่ำกว่าคาด

  • สหรัฐเผยยอดค้าปลีกเดือน ม.ค. ลดลงมากกว่าตลาดคาด โดยปรับตัวลง 0.8%MoM ขณะที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 0.3%MoM หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4%MoM ในเดือน ธ.ค. โดยยอดค้าปลีก 9 ใน 13 หมวดสินค้าปรับตัวลดลง
    นำโดยยอดขายร้านวัสดุก่อสร้างและยอดขายของศูนย์รถยนต์ สะท้อนถึงการใช้จ่ายของประชาชนที่ชะลอตัว
    หลังจากผ่านช่วงเทศกาลช้อปปิ้งที่สร้างเซอร์ไพร์สกับตลาดในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ยอดขายในร้านอาหารและร้านของชำยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.7%MoM
  • ด้านยอดการผลิตของโรงงานในสหรัฐเดือน ม.ค. หดตัวลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน อย่างไรก็ดีรายงานทั้ง 2 ส่วนที่ชะลอตัวลง ตลาดมองว่ายังไม่ใช่สัญญาณที่น่ากังวลต่อเศรษฐกิจภาพรวมของสหรัฐ ขณะที่ตลาดจ้างงานยังคงแข็งแกร่งและเงินเฟ้อยังอยู่แนวโน้มปรับตัวลดลง ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนการบริโภคในประเทศได้ในระยะข้างหน้า
  • ด้านผลสำรวจภาคการผลิตระบุว่า ความเชื่อมั่นภาคการผลิตของสหรัฐได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว โดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน

ที่มา: Bloomberg

การบริโภคจีนในช่วงวันหยุดเทศกาล ส่งสัญญาณฟื้นตัว

  • ตัวเลขการเดินทางท่องเที่ยวกว่า 61 ล้านเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน ทำสถิติมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มขึ้น 61%YoY ด้านยอดการจองโรงแรมและที่พักผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพิ่มขึ้น 60%YoY ยอดการใช้จ่ายผ่านแอป Meituan เพิ่มขึ้น 36%YoY สร้างความหวังว่าการบริโภคของจีนจะฟื้นตัว ท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์และการจ้างงานในประเทศ
  • อย่างไรก็ดีมีข้อมูลบ่งชี้ว่า ยอดการใช้จ่ายต่อหัวกลับลดลง และประชาชนให้ความสำคัญในเรื่องราคาสินค้าและบริการมากขึ้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ และยังคงรอมาตรการหนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากรัฐบาล
  • ด้านตลาดหุ้นฮ่องกงปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 วันในสัปดาห์ที่ผ่านมา นำโดยหุ้นบริษัทแพลตฟอร์มออนไลน์และที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว

ที่มา: Bloomberg

ปราโบโวชนะการเลือกตั้งปธน.อินโดนีเซีย

  • นายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีกลาโหมของอินโดนีเซียประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ด้วยคะแนนสนับสนุนราว 60% ซึ่งทำให้เขาสามารถหลีกเลี่ยงการเลือกตั้งรอบสองได้ เนื่องจากกฎการเลือกตั้งของอินโดนีเซียกำหนดไว้ว่า ผู้สมัครต้องได้คะแนนมากกว่า 50% ของคะแนนเสียงทั้งหมด และต้องได้คะแนนอย่างน้อย 20% ในมณฑลต่างๆ มากกว่าครึ่งของจำนวนมณฑลทั้งประเทศ ด้านนโยบายหลักที่นายปราโบโวได้หาเสียงไว้ ได้แก่ การสร้างงาน 19 ล้านตำแหน่งในช่วง 5 ปีข้างหน้า โครงการจัดหาอาหารกลางวันและนมโรงเรียนฟรีให้กับเด็กทั่วประเทศ การส่งเสริมเกษตรกรในประเทศ เพิ่มผลิตภาพการเกษตร และลดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ ข้าว ธัญพีช น้ำตาลและเนื้อวัว รวมถึงส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจต่างๆ มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น

ที่มา: Bloomberg

Weekly Recap

US

  • กระทรวงการคลังสหรัฐว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐลดลงอย่างรวดเร็วในเดือน ม.ค. สู่ระดับ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากรายรับที่เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือน ม.ค. และส่วนหนึ่งมาจากการจ่ายคืนภาษีที่ลดลง หลังกรมสรรพากรสหรัฐ (IRS) จัดการกับรายการค้างชำระของการคืนภาษีที่ล่าช้าเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เสร็จสิ้นแล้ว
  • บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นแตะ 4.3% หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ม.ค. สูงกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ ด้านนักลงทุนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟด โดยให้น้ำหนัก 50/50 ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย.
  • มูลค่าตลาดของ Nvidia แซงหน้า Amazon ขานรับดีมานด์ชิป AI โดยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.78 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่าตลาดของบริษัท Amazon ซึ่งอยู่ที่ 1.75 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ Nvidia ขายชิป AI สำหรับการใช้งานเซิร์ฟเวอร์ให้แก่ Microsoft OpenAI และ Meta เพื่อนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ของบริษัทดังกล่าว
  • เฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกปรับตัวขึ้น 5.2 จุดในเดือน ก.พ. สู่ระดับ 15.8 จุด สูงกว่าตลาดคาดว่าจะปรับตัวลง 8.0 จุด และดัชนีปรับตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 66 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกเริ่มมีการขยายตัว โดยได้รับแรงหนุนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าการจ้างงานปรับตัวลง

Europe

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ของอังกฤษรายงาน GDP ไตรมาส 4/66 หดตัวลง 0.3%QoQ และเป็นการหดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยภาคบริการหดตัวลง 0.2%QoQ ภาคการผลิตหดตัวลง 1%QoQ และภาคการก่อสร้างหดตัว 1.3%QoQ อย่างไรก็ดีตลาดแรงงานของอังกฤษยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งอาจหนุนให้เงินเฟ้อปรับตัวลงช้า ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีโอกาสไม่เร่งรีบที่จะลดอัตราดอกเบี้ย
  • ยอดค้าปลีกอังกฤษเพิ่มขึ้นดีกว่าตลาดคาดที่ 3.4%MoM ในเดือน ม.ค. และทำระดับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี และเพิ่มขึ้น 0.7%YoY จากยอดขายอาหารจากร้านขายของชำที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดขายเสื้อผ้าลดลง 1.4%MoM
  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 19.9 ในเดือน ก.พ. จากระดับ 15.2 ในเดือน ม.ค. ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 17.5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 7 ได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

Asia

  • หุ้นบริษัทจีน 66 แห่งถูกถอดออกจากดัชนี MSCI โลก ซึ่งเป็นการถอดออกจำนวนสูงสุดในรอบ 2 ปี โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อตลาดหุ้นจีนปิดทำการซื้อขายในวันที่ 29 ก.พ. ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับตลาดหุ้นจีน เนื่องจากกองทุนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของดัชนี MSCI จะถอดหุ้นของบริษัทเหล่านี้ออกจากพอร์ตลงทุน ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่ามีกองทุน ETF มูลค่าอย่างน้อย 5.9 พันล้านดอลลาร์
  • ญี่ปุ่นส่งสัญญาณแทรกแซงตลาด FX หากเงินเยนอ่อนค่าถึงจุดที่กระทบเศรษฐกิจ ซึ่งค่าเงินเยนอ่อนค่าอย่างรวดเร็วเกือบ 10 เยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ภายในระยะเวลา 1 เดือน และทางการญี่ปุ่นพร้อมที่แทรกแซงตลาด ด้วยการเทขายเงินดอลลาร์และเข้าซื้อเงินเยน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย หลัง GDP หดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งเพิ่มความไม่แน่นอนต่อ BOJ ในการยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ
  • เกาหลีใต้เผย ยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ ICT ในเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 25.1%YoY หลังจากเพิ่มขึ้น 8.1%YoY ในเดือน ธ.ค. และเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ด้านยอดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น 53.0%YoY ในเดือน ม.ค. ทั้งนี้อุปสงค์ของจอแสดงผลสำหรับใช้กับทีวีและแท็บเล็ตยังคงแข็งแกร่ง สวนทางกับยอดส่งออกโทรศัพท์มือถือที่ลดลงราว 20%YoY
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยผลสำรวจผู้ประกอบการค้าปลีกคาดว่า ยอดขายค้าปลีกไทยปี 67 เติบโตชะลอตัวลงจากปีก่อนในระดับ 3% ยังคงได้แรงหนุนมาจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ธุรกิจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงกับสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทย ขณะเดียวกันกว่า 60% ของธุรกิจที่สำรวจมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า

Commodities

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นปิดระดับ 79 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ยิงจรวดใส่เมืองทางเหนือของอิสราเอลเพื่อตอบโต้การสังหารพลเรือนในภาคใต้ของเลบานอน และจากปัจจัยหนุนที่สำนักงานพลังงานสากลคาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีนี้
  • ราคาทองคำปรับตัวลงเล็กน้อยปิดระดับ 2,013 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ หลังสหรัฐเปิดเผย CPI ล่าสุดสูงกว่าที่คาด และกังวลว่าเฟดอาจยืดเวลาที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยนานออกไป รวมถึงภาวะตลาดขณะนี้ นักลงทุนหันไปสนใจลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง หุ้น มากกว่าทองคำ
  • ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวบริเวณ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 3 เดือน เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่า เป็นผลมาจากตลาดกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะยังอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องยาวนาน และต่างชาติได้ขายพันธบัตรไทยออกมาต่อเนื่อง ขณะเดียวกันตลาดยังคงจับตาดูความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล

ความเคลื่อนไหวหุ้นสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview.com as of 16 Feb 2024

อัปเดทกองทุนพักเงิน

ที่มา: AspenRTD, data as of 18 February 2024

หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

โดยรายละเอียดกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน
นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-12-february-2024/

You cannot copy content of this page