ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

WCIA Weekly Highlight 7 August 2023

08/08/2023

บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 Fitch ปรับลดความน่าเชื่อถือของสหรัฐลง อัปเดทตลาดจ้างงานสหรัฐเดือน ก.ค. และกนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.25% ตามที่ตลาดคาด

Executive Summary

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยถูกกดดันจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน และการที่ Fitch Rating ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐจากระดับ AAA เป็น AA+ โดยระบุว่าสถานะการคลังของสหรัฐมีแนวโน้มที่จะถดถอยลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า
  • Special Headlines:
    Fitch ปรับลดความน่าเชื่อถือของสหรัฐลง
    อัปเดทตลาดจ้างงานสหรัฐเดือน ก.ค.
    กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.25% ตามที่ตลาดคาด
  • มุมมอง: เรามีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่ม Defensive สหรัฐในระยะกลางซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากช่วงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังจากนี้และเรามองว่าตลาดหุ้น Asia incl. Japan ได้แก่ ตลาดหุ้นจีน และเวียดนามมี  Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับอดีตและเทียบกับตลาดหุ้นฝั่ง DM โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่ราคาสะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว และคาดว่าทางการจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะดียวกันตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับมามีความน่าสนใจจาก positive structural change และแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่ง

Weekly Total Asset Return

ที่มา: Koyfin.com data as of 6 Aug 2023, *Annualized returns

Special Headline: Fitch ปรับลดความน่าเชื่อถือของสหรัฐลง

  • เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Fitch Rating ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐจากระดับ AAA เป็น AA+สาเหตุจากหนี้ของรัฐบาลสหรัฐที่พอกขึ้นเรื่อยๆ และเกิดปัญหาหนี้ชนเพดานหลายครั้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อีกทั้ง Fitch คาดว่าสถานะการคลังของสหรัฐมีแนวโน้มจะถดถอยลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า
  • โดยการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐครั้งนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2011 S&P Global ก็ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงมาอยู่ที่ระดับ AA+ เช่นกัน โดยเหตุการณ์ครั้งนั้น สินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบด้านลบ ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐซึ่งปรับตัวลดลงราว 5% และราคาตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนที่ปรับตัวลง ขณะที่ยีลด์ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีกลับปรับตัวลดลง 24 bps. หลัง S&P Global ลดเครดิตเรทติ้งของสหรัฐลง ขณะเดียวกันสินทรัพย์ที่เป็นบวกต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ ตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้น รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-08-01/treasury-futures-gain-after-fitch-downgrades-us-credit-rating
https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-08-02/us-ratings-downgrade-casts-spotlight-on-the-last-ones-standing

อัปเดทตลาดจ้างงานสหรัฐเดือน ก.ค.

  • สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่ง ใกล้เคียงกับตัวเลขในเดือน มิ.ย. แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง ด้านอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงที่ระดับ 3.5% ต่ำว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ในระดับ 3.6% ส่วนค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยต่อชั่วโมงปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4%MoM และ 4.4%YoY ตามลำดับ ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยภาพรวมตลาดจ้างงานสหรัฐยังคงถือว่าแข็งแกร่ง จากตัวเลขจ้างงานของภาคบริการที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านบริการสุขภาพ รวมถึงการจ้างงานในฝั่งภาคการเงินการธนาคาร และก่อสร้างที่ฟื้นตัว
  • อย่างไรก็ดีตลาดเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของค่าจ้าง เนื่องจากภาวะอุปสงค์และอุปทานแรงงานในสหรัฐเข้าใกล้สู่จุดสมดุลมากขึ้น หลังจากที่สหรัฐได้เผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงาน หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ตัวเลขจ้างงานในวัยแรงงานช่วงอายุ 25-54 ปีปรับตัวลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จากการที่แรงงานผู้หญิงสมัครใจออกจากตลาดจ้างงานอย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา: https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-08-04/us-adds-187-000-jobs-unemployment-rate-drops-to-3-5

กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.25% ตามที่ตลาดคาด

  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 2.25% ตามที่ตลาดคาด พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวในระยะสั้นตามเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวได้ช้า แต่คาดว่าจะปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้าสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ทั้งจากภาคการส่งออก รวมถึงสถานการณ์การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากราคาพลังงาน มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า แต่ประเมินว่าจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปี เนื่องจากปัจจัยชั่วคราวที่ทยอยหมดลง ด้านภาวะการเงินจะตึงมากขึ้นแต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนมีแนวโน้มสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนที่ชะลอลงส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติหลังจากที่ได้ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงวิกฤต COVID-19

ที่มา: Bank of Thailand

Weekly Recap

US

  • สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เผยดัชนีภาคบริการสหรัฐในเดือน ก.ค. ออกมาต่ำกว่าคาด โดยดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 52.7 ในเดือน ก.ค. ต่ำกว่าตลาดที่ระดับ 53.0 จากระดับ 53.9 ในเดือน มิ.ย. โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของยอดคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว
  • สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 46.4 ในเดือน ก.ค. ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 46.8 และเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 โดยการจ้างงานในโรงงานลดลงสู่จุดต่ำสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่ามีการปลดพนักงานจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ดียอดคำสั่งซื้อใหม่ค่อยๆ ปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
  • สหรัฐเผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานเดือน มิ.ย. ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ประจำเดือน มิ.ย. พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงานลดลง 34,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.582 ล้านตำแหน่ง ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 9.610 ล้านตำแหน่ง
  • ADP เผยจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐเดือน ก.ค. สูงกว่าที่ตลาดคาด โดยตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 324,000 สูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 175,000 ตำแหน่ง จากที่เพิ่มขึ้น 455,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. โดยได้แรงหนุนจากการจ้างงานในภาคโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Europe

  • ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 5.25% ตามที่ตลาดคาด ในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 และส่งสัญญาณว่า BoE จะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อควบคุมให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของ BoE ที่ระดับ 2% หลังจากแตะระดับ 7.9% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในกลุ่มประเทศพัฒนา
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน ก.ค. จากการผลสำรวจของเอสแอนด์พี โกลบอล/ซีไอพีเอสลดลงสู่ระดับ 51.5 จากระดับ 53.7 ในเดือน มิ.ย. ด้านดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเดือน ก.ค. ลดลงสู่ระดับ 50.8 จากระดับ 52.8 ในเดือน มิ.ย. เป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 66
  • สำนักงานสถิติเยอรมนีรายงานว่า ยอดสั่งซื้อในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 7.0%MoM ในเดือน มิ.ย. ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะลดลง 2.0%MoM อย่างไรก็ดีหากไม่นับรวมคำสั่งซื้อขนาดใหญ่ ยอดคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมจะลดลงของเยอรมนีจะลดลง 2.6%MoM ในเดือน มิ.ย.
  • ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อยุโรป ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น มีรายงานจาก CNBC ว่า ภัยแล้งในยุโรปขณะนี้ไม่เพียงก่อให้เกิดไฟป่าและความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารเท่านั้น แต่ยังกระทบการขนส่งทางทางน้ำของยุโรป จากระดับน้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเรือสินค้าอย่างน้ำมัน เคมีภัณฑ์และธัญพืชบางลำสามารถบรรทุกของได้เพียง 1 ใน 4 จากการขนส่งผ่านแม่น้ำไรน์ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ

Asia

  • ไฉซินและเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยผลสำรวจว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน ก.ค.ของจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 54.1 จากระดับ 53.9 ในเดือน มิ.ย. ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 52.5 ภาคบริการของจีนยังได้รับปัจจัยบวกจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ปรับตัวลง ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคบริการของจีนยังมีการขยายตัว
  • หุ้นเทคโนโลยีจีนปรับตัวลงยกแผง กังวลจีนออกกฎคุมเด็กใช้มือถือ โดยหน่วยงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์ของจีนเตรียมออกกฎห้ามเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีใช้โทรศัพท์มือถือนานกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ด้านหุ้น Alibaba JD.com และ Baidu ต่างปรับตัวลงกว่า 4% อย่างไรก็ดีร่างกฎระเบียบดังกล่าวยังคงต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ก่อนที่จะมีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
  • หุ้นอสังหาฯ จีนปรับตัวขึ้นแรง หลัง PBOC จะออกมาตรการช่วยเหลือ โดยวันศุกร์ที่ผ่านมาดัชนีหุ้นกลุ่มบริษัทอสังหาฯ จีนในตลาดหุ้นฮ่องกงปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 4% หลังธนาคารกลางจีนโดยได้เชิญบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 8 แห่ง เพื่อหารือที่จะส่งเสริมการขยายตราสารเอกชนที่เป็นเครื่องมือสนับสนุนทางการเงินของบรรดาธุรกิจ
  • กระทรวงพาณิชย์ไทยรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. 66 เพิ่มขึ้น 0.38%MoM ต่ำกว่าตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นที่ 0.64-0.66%MoMซึ่งอัตราเงินเฟ้อไทยยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เนื่องจากการชะลอตัวของสินค้าในหมวดอาหาร เช่น เนื้อหมูและเครื่องประกอบอาหารที่มีราคาลดลง อีกทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือน ก.ค. ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.66) เพิ่มขึ้น 2.19%YoY

Commodities

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องปิดที่ 81.88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แตะระดับสูงสุดของปีนี้ และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน โดยขานรับผลการประชุม OPEC+ ที่คงนโยบายปรับลดกำลังการผลิตรวม 3.66 ล้านบาร์เรล/วันไปจนถึงสิ้นปี 67
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงที่ $1,942.97 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ โดยถูกกดดันจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีเหนือระดับ 4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน หลังจากตัวเลขการจ้างงานสหรัฐเดือน ก.ค. ออกมาแข็งแกร่งเกินคาด
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าจากสัปดาห์ก่อนหน้าปิดที่ 34.71 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกกดดันจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ถึงแม้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทจะมีการแข็งค่าขึ้นมาหลัง กนง. มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ 2.25% ในการประชุมเดือน ส.ค. รวมทั้งตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ เดือน ก.ค. ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่า

ความเคลื่อนไหวของหุ้นสหรัฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา: Tradingview.com as of 6 Aug 2023

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

หมายเหตุ: ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา: AspenRTD, data as of 6 August 2023

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนของแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified.co.th

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่
https://wealthcertified.co.th/wcia-weekly-highlight-24-july-2023/
https://wealthcertified.co.th/wealth-certified-2023-investment-outlook/

Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันของเอกสารฉบับนี้ รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

     ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการขาดทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะผลิตภัณฑ์ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น

      เอกสารการลงทุนฉบับนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการแนะนำการลงทุน และอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในบริษัท (internal use only) เท่านั้น ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ทั่วไป กรณีที่มีการนำเอกสารนี้ไปเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไป และไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้เอกสารฉบับนี้ บริษัทมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการทางด้านกฎหมายได้ทันที

You cannot copy content of this page