ไทย ENG

CONTACT US
0-2026-6875

Wealth Certified Cover

WCIA Weekly Highlight 13 December

13/12/2022

WCIA Weekly Highlight บทความการลงทุนประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 13 – 16 ธันวาคม 2565 ติดตามแนวโน้มการคาดการณ์ดอกเบี้ยของ FED ก่อนการประชุมในสัปดาห์นี้

WCIA Key Takeaways

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง จากความกังวลเศรษฐกิจโลก รวมทั้งผู้บริหารธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐฯ ออกมาเตือนเกี่ยวกับวิกฤตเงินเฟ้อ พร้อมกล่าวว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ 5% อาจจะไม่เพียงพอที่สกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงปรับตัวเพิ่มขึ้น จากข่าวผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์โควิดและความหวังเปิดประเทศต้นปีหน้าหนุนตลาด
  • Special Headlines: ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ เดือน พ.ย. และตลาดคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยสูงนานขึ้น
  • Technical: ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ย่อตัวลงในสัปดาห์ก่อน คาดว่าสัปดาห์นี้จะมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวน จากอีเว้นท์สำคัญทั้งสัปดาห์
  • ดัชนี CSI300 และ VN 30 ทยอยสะสมได้ หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบ 1,600 – 1,650 จุด ตลาดอินโดนีเซียทยอยสะสมได้ ทองคำยัง          
  • มองแนวโน้มบวกทยอยสะสมได้ ราคาน้ำมันทยอยสะสมหรือเก็งกำไรได้ จุดคัทที่ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • กลยุทธ์การลงทุนสัปดาห์นี้: ติดตามตัวเลข CPI และผลการประชุมเฟด ในวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้ ก่อนที่การซื้อขายจะเบาบางเพื่อเตรียมหยุดสิ้นปี โดยให้จับตาดู Bond Yield ในสัปดาห์นี้น่าจะปรับตัวขึ้นอีกครั้งเพื่อตอบรับการประชุม จึงแนะนำรักษาระดับการลงทุนตามสัดส่วนที่แนะนำ
  • กลุ่มกองทุนที่มี Momentum ดีในการลงทุนสั้น: India EQ, Gold เฝ้าระวัง Europe EQ แรงซื้อเริ่มชะลอหลังปรับขึ้นมาก่อนใคร และ Energy Sector ตามทิศทางราคาน้ำมันปรับลดลงตามคาดสามารถหาจังหวะ Buy On Weakness ได้
  • กองทุนแนะนำให้ทยอยสะสมเพื่อการลงทุนยาว: Global EQ (tech), China EQ, Vietnam EQ

Performance ของแต่ละสินทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา

Source: Koyfin.com data as of 12 Dec 2022, *Annualized returns

Special Headlines

ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ เดือน พ.ย.

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผย ดัชนีราคาผู้ผลิตหรือ PPI ในเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 7.2% เน้นย้ำถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อซึ่งอาจจะสนับสนุนให้เฟดยังเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566

อย่างไรก็ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน โดยการเพิ่มขึ้นครั้งนี้ได้รับปัจจัยหนุนจากภาคบริการ โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องและยังไม่เห็นสัญญาณชะลอตัว เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงตึงตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากค่าจ้างแรงงานเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ในอนาคต ขณะที่หมวดที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นอีกตัวขับเคลื่อนหลักของ consumer inflation คาดว่าจะชะลอตัวได้ในเร็วๆ นี้

ด้านราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น 0.1%MoM จากต้นทุนอาหารที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าบริการทั่วไปในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.4%MoM สูงสุดในรอบ 3 เดือน ด้านตลาดหุ้น S&P 500 ตอบรับการรายงานดัชนี PPI ในเดือน พ.ย. ในเชิงลบ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น

Source: US Producer Prices Increased by More Than Forecast in November – Bloomberg

ตลาดคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยสูงนานขึ้น

ตลาดให้น้ำหนักว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะคงนโยบายการเงินเข้มงวดนานขึ้น หรืออาจจะทั้งปี 66 ซึ่งก่อนหน้านี้ตลาดคาดหวังว่าจะเห็นการลดดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งหลังปี 66 ด้านการประมาณการค่ามัธยฐานของ FOMC คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะแตะระดับสูงสุดที่ 4.9% ในปี 65 ซึ่งสะท้อนถึงช่วงเป้าหมายที่ 4.75%-5% เทียบกับ 4.6% ในเดือน ก.ย. และตลาดคาดว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 4% ภายในเดือน มิ.ย. 67 และ 3.5% ภายในสิ้นปี 67

ด้านเจอโรม พาวเวลล์ได้ออกมากล่าวว่าการคงอัตราดอกเบี้ยที่สูงนั้นจำเป็นสำหรับระยะยาว เพื่อกดดันเงินเฟ้อให้ลดลง แม้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและบั่นทอนความเชื่อมั่นในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเขาไม่ต้องการทำผิดพลาด ด้วยการผ่อนปรนก่อนเวลาอันควรในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980

ด้านผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ มองว่ามีโอกาส 81% ที่สหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยใน 24 เดือนข้างหน้า ขณะที่มีโอกาส 16% ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลดลงอย่างรุนแรงแต่ยังไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดด้านนโยบายการเงินสูง

Source : Fed’s Peak Rates for Longer Seen Dashing Hopes for 2023 Cuts – Bloomberg

WCIA Weekly Recap

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง กังวลเฟดคงนโยบายเข้มงวดนานขึ้น

  • เฟด สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว 3.4% ในไตรมาส 4 โดยสูงกว่าระดับ 2.8% ที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 9 ธ.ค.
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 4,000 ราย สู่ระดับ 230,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สอดคล้องกับที่ตลาดคาด ขณะที่จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานคงค้างเพิ่มขึ้น 62,000 ราย สู่ระดับ 1.67 ล้านราย
  • สหรัฐฯ เผยจำนวนผู้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลง แม้ดอกเบี้ยเงินกู้ปรับตัวลง โดยสมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองลดลง 1.9% ในสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง 3% ในสัปดาห์ที่แล้ว และปรับตัวลดลง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
  •  สหรัฐฯ เผยดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 7.4%YoY ในเดือนพ.ย. สูงกว่าคาดการณ์ โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิตในเดือน พ.ย. สูงกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 7.2% และเพิ่มขึ้น 0.3%MoM ด้านดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 6.2%YoY ในเดือน พ.ย. สูงกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5.9%

หวั่นเศรษฐกิจยูโรโซนหดตัวในไตรมาส 4/65

  • ตลาดคาด ECB ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในสัปดาห์นี้ หลังจากที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยรวม 2.00% ในปีนี้ โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 15 ธ.ค. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ และมีขึ้น 1 วัน หลังจากที่เฟดจัดการประชุมในวันที่ 13-14 ธ.ค. ทั้งนี้ ECB ออกมาระบุว่า เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มใกล้แตะจุดสูงสุดแล้ว
  • บอนด์ยีลด์ยูโรโซนร่วง หลังเจ้าหน้าที่ ECB ส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ย จากการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในยูโรโซนใกล้แตะจุดสูงสุดแล้ว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นอัตราอ้างอิงสำหรับพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซนปรับตัวลดลง 0.04% สู่ระดับ 1.839% ทั้งนี้ ECB จะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 15 ธ.ค. นี้
  • ปูตินขู่ลดกำลังการผลิตน้ำมัน ตอบโต้ EU ตั้งเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย โดยรัสเซียมีข้อตกลงกับ OPEC+ เกี่ยวกับเป้าหมายการผลิตน้ำมัน และอาจมีมาตรการตอบโต้เพิ่มเติม ซึ่งก่อนหน้า EU มีมติตั้งเพดานน้ำมันรัสเซียที่ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล เพื่อสกัดท่อน้ำเลี้ยงของรัสเซีย

การผ่อนคลายมาตรการโควิดในจีน หนุนตลาดเอเชีย

  • จีนเล็งผ่อนคลายมาตรการโควิดเพิ่มเติม หลังยอดติดเชื้อลดต่อเนื่อง โดยอนุญาตให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงต่ำสามารถกักตัวอยู่ที่บ้านได้ แทนการถูกส่งตัวไปยังสถานที่กักตัวที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้โดยบังคับใช้ทั่วประเทศ และยกเลิกการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี PCR ยกเว้นในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
  • สี จิ้นผิง ส่งสัญญาณเดินหน้าปราบทุจริต หลังกุมอำนาจจีนต่อเป็นสมัยที่ 3 โดยรัฐบาลจะดำเนินนโยบายปราบปรามการทุจริตที่เข้มงวดต่อไปในระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตขึ้นอีก ทั้งนี้ความพยายามดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนจากสาธารณชน ทั้งยังเป็นการขจัดคู่แข่งของ ปธน. สี จิ้นผิงและพันธมิตรไปในตัว
  • IIF เผยต่างชาติแห่ลงทุนตลาดเกิดใหม่ในเดือน พ.ย. สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) เปิดเผยว่า นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในตลาดเกิดใหม่เดือนพ.ย. สูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 64 โดยเงินลงทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น 3.74 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งไหลเข้าตลาดเอเชีย 2.56 หมื่นล้านดอลลาร์ ลาตินอเมริกา 8.2 พันล้านดอลลาร์และที่อื่นๆ

สินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลง จากความกังวลเศรษฐกิจโลก

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลงปิดตลาดที่ 71.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทำระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี ท่ามกลางความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน หลังจากดัชนี PMI ภาคบริการของจีนลดลงทำระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนและภาวะเศรษฐกิจในยุโรปชะลอตัวลง
  • อินเดียยังเดินหน้าซื้อน้ำมันรัสเซีย เมินมาตรการตั้งเพดานราคาของ EU โดยอินเดียให้ความสำคัญกับความต้องการด้านพลังงานของประเทศเป็นอันดับแรกและจะยังซื้อน้ำมันจากรัสเซียต่อไป โดยไม่ได้ตกลงที่จะจำกัดราคาน้ำมันรัสเซียที่ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • ราคาทองคำทรงตัวปิดที่ $1,794.43 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้ปัจจัยหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงและตลาดมองว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ทำให้เฟดอาจจะผ่อนการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่ากดดันราคาทองคำ
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าปิดตลาดที่ 34.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากภาคการบริการและท่องเที่ยว

ความเคลื่อนไหวหุ้นสหรัฐในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

Source: TradingView 12 Dec 2022

จัดอันดับกองทุนพักเงิน

Source : AspenRTD data as of 12 DEC 2022

กลยุทธ์การลงทุนในช่วงสัปดาห์นี้

ดัชนีมีการพักตัวในสัปดาห์ที่ผ่านมาตามที่คาดการณ์ สัปดาห์นี้เรามองว่าดัชนีจะมีการเคลื่อนไหวตามตัวเลข CPI และผลการประชุม FED ในวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้ ก่อนการซื้อขายจะเบาบางเพื่อเตรียมหยุดสิ้นปี โดยให้จับตาดู Bond Yield ในสัปดาห์นี้น่าจะปรับตัวขึ้นอีกครั้งเพื่อตอบรับการประชุม จึงแนะนำรักษาระดับการลงทุนตามสัดส่วนที่แนะนำ

กองทุนแนะนำให้ทยอยสะสมเพื่อการลงทุนยาว
Global EQ (tech), China EQ, Vietnam EQ, ทองคำ


กองทุนที่เคยแนะนำให้เฝ้าระวัง

กองทุนที่เกี่ยวกับพลังงาน เริ่มมีความน่าสนใจในการกลับเข้าลงทุนหลังจากปรับตัวลดลง 12.3% จากเดือนที่ผ่านมา ขณะ ราคาน้ำมันที่ $73 เรามองว่ามี downside ไม่มากจากมุมมองการเปิดประเทศของจีน 

Aggressive Portfolio

โดยรายละเอียดแผนการลงทุนและกองทุนที่แนะนำให้กับลูกค้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยง ผลตอบแทนคาดหวัง ข้อจำกัดในการลงทุนของแต่ละบุคคล และเรามีการคัดเลือกและวิเคราะห์กองทุนที่เหมาะกับการจัดพอร์ตการลงทุนในแต่ละบุคคล

โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

ติดต่อทีมงานฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-026-6875   หรือ อีเมลล์ investment@wealthcertified

Wealth Certified Investment Team

นาย พันเลิศ เจริญสวรรค์ : นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ผู้วางแผนการลงทุน

นาย กรวิชญ์ สำเภาสงฆ์ : ผู้วางแผนการลงทุน

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่

WCIA Weekly Highlight – Wealth Certified

WCIA Monthly Insight Dec 2022 – Wealth Certified

Disclaimer: ข้อมูลและเนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ ถูกรวบรวมขึ้นจากแหล่งที่มาที่พิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามทางบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด ไม่อาจรับประกันความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน ของเอกสารฉบับนี้รวมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้ข้อมูลและความคิดเห็นในเอกสารฉบับนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ผู้ลงทุนต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำเอามาใช้รับประกันผลตอบแทนในปัจจุบันและอนาคตได้ ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลขาดทุนจากการลงทุนได้ จึงต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และผลการดำเนินงานที่นำเสนอนั้น อาจไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิเช่น ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จะต้องมีการเรียกเก็บจากผู้ลงทุน เป็นต้น

เอกสารฉบับนี้ไม่ใช่เอกสารเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปและไม่สามารถนำไปแก้ไข ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนหรือทั้งหมดโดยปราศจากความเห็นชอบและอนุญาตจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน เวลธ์ เซอร์ติฟายด์ จำกัด

You cannot copy content of this page